วิกฤติเพดานหนี้สหรัฐ ส่อหายนะระดับ ‘The mother of all crises’ สะเทือนโลก!

วิกฤติเพดานหนี้สหรัฐ ส่อหายนะระดับ ‘The mother of all crises’ สะเทือนโลก!

จับตาความคืบหน้า “นัดชำระหนี้สหรัฐ” หลัง โจ ไบเดน และ เควิน แมคคาร์ธี บรรลุการเจรจาขยายวงเงินเพดานหนี้ ป้องกันการผิดนัดชำระอีก 5 วันก่อนถึงเส้นตาย สื่อนอก ชี้ หากสภาคองเกรสไม่เห็นชอบ-เพดานหนี้จำกัด แรงสั่นสะเทือนจะกระเพื่อมทั่วโลก หายนะจะมาถึงในไม่ช้า

Key Points:

  • กรณี “สหรัฐผิดนัดชำระหนี้” ยังเป็นประเด็นที่ทั่วโลกจับตามอง เพราะเศรษฐกิจสหรัฐมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก จากการผูกค่าเงินไว้กับสกุลเงินดอลลาร์ และการถือครองพันธบัตรสหรัฐของหลายประเทศ เรียกได้ว่า สินทรัพย์สหรัฐเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของระบบการเงินโลกก็ว่าได้
  • การเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง และทุกครั้งรัฐบาลสหรัฐจะใช้วิธีเพิ่มเพดานสกัดการผิดนัดชำระหนี้ แต่ครั้งนี้ สหรัฐมีหนี้สะสมในปริมาณมากถึง 1 พันล้านล้านบาท จากการใช้งบมหาศาลไปกับการทำสงคราม ปฏิรูประบบสาธารณสุข และการอัดฉีดเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ
  • ไทยจะได้รับผลกระทบจากตลาดที่ผันผวน จากความไม่แน่นอนที่ยังต้องจับตาดูกันวันต่อวัน ส่วนอนาคตของระบบการเงินโลกจะหันไปอ้างอิงสินทรัพย์อื่นๆ ที่ไม่ใช่สกุลเงินสหรัฐได้หรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญมองว่า มีความเป็นไปได้ยาก 

 

กระแสข่าวการผิดนัดชำระหนี้สหรัฐถูกจับตามองจากทั่วโลก เพราะหากเกิดขึ้นจริง ไม่เพียงแต่สหรัฐเท่านั้นที่จะได้รับแรงกระแทกจากวิกฤติอย่างหนัก แต่หลายประเทศทั่วโลกที่ผูกค่าเงินกับสกุลเงินดอลลาร์ไว้ รวมถึงประเทศที่ถือพันธบัตรสหรัฐล้วนได้รับผลกระทบเช่นกัน

ที่ผ่านมา โจ ไบเดน (Joe Biden) ไม่สามารถโน้มน้าวให้สภาคองเกรสเห็นชอบการปรับเพิ่มขยายเพดานหนี้ได้ ทว่า เมื่อใกล้เข้าเส้นตายการชำระหนี้ แรงกดดันจากทุกทิศทางกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนท้ายที่สุด เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา เควิน แมคคาร์ธี (Kevin McCarthy) ประธานรัฐสภายอมถอยคนละก้าว บรรลุข้อตกลงขยายเพดานหนี้แล้ว ซึ่งหลังจากนี้จะมีการร่างกฎหมายเพื่อให้สภาคองเกรสเห็นชอบตามข้อตกลงดังกล่าว

แต่ก่อนที่จะถึงวันลงมติในสภาคองเกรส และกำหนดเส้นตายชำระหนี้วันที่ 5 มิถุนายน “กรุงเทพธุรกิจ” ขอพาย้อนรอยดูที่มาที่ไปของหนี้สาธารณะก้อนโตที่มีมูลค่ามากกว่า GDP ประเทศ สหรัฐก่อหนี้จำนวนมหาศาลขนาดนี้ได้อย่างไร หากสภาคองเกรสไม่เห็นชอบและเพิ่มเพดานหนี้ไม่สำเร็จ ผลสะเทือนที่จะเกิดขึ้นกับทั่วโลกและประเทศไทยจะมีอะไรบ้าง

วิกฤติเพดานหนี้สหรัฐ ส่อหายนะระดับ ‘The mother of all crises’ สะเทือนโลก! -โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 47-

 

  • ก่อสงคราม ปฏิรูปสาธารณสุข วิกฤติโควิด-19: ต้นเหตุแห่งหนี้สาธารณะ

ก่อนหน้านี้ รัฐบาล โจ ไบเดน ถูกตั้งข้อสังเกตถึงการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินที่เกินตัว โดยนโยบายหลักของไบเดนเน้นการสร้างรัฐสวัสดิการแก่ประชาชน มีแนวคิดแบบ “Trickle-up Economics” หรือแนวคิดทางเศรษฐกิจที่มีความเชื่อว่า รัฐบาลต้องดูแลโครงสร้างพื้นฐานครอบคลุมคนทุกกลุ่ม เมื่อประชาชนกินดี อยู่ดี เศรษฐกิจในภาพใหญ่ก็จะดีขึ้นตามไปด้วย

ที่ผ่านมา ไบเดนถูกตั้งคำถามจากสภาผู้แทนราษฎรถึงการใช้จ่ายเงินสดจนหมดคลัง ไบเดนเสนอให้เก็บภาษีจากคนรวยเพิ่มขึ้น ส่วนฝั่งรีพับลิกันเองก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว และมองว่า รัฐบาลควรปรับลดการใช้จ่าย ลดการก่อหนี้ให้น้อยลง เพราะปัจจุบัน สหรัฐมีหนี้สาธารณะสะสมเกินกว่า GDP ประเทศถึง 120 เปอร์เซ็นต์

แต่รู้หรือไม่ว่า หนี้สหรัฐที่หมักหมมพอกพูนมากขนาดนี้ เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐบาลก่อนๆ หลายส่วนด้วยกัน ทั้งการใช้เงินไปกับการทำสงครามอิรักและสงครามในอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่มีมูลค่ามหาศาล โดยมีการประเมินตัวเลขจากมหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University) ว่า สหรัฐใช้เงินกับการทำสงครามในอัฟกานิสถานราว 2.26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ส่วนที่สอง คือ นโยบาย “โอบามาแคร์” โครงการประกันสุขภาพที่เป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปีของสหรัฐ โอบามาแคร์ไม่ใช่โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่รัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนแก่ประชาชนในการซื้อประกันสุขภาพ และปรับเงินผู้ที่ไม่ยอมซื้อประกัน รวมถึงออกกฎข้อบังคับในระดับองค์กรให้นายจ้างที่มีพนักงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ซื้อประกันสุขภาพให้แก่พนักงานด้วย แม้ด้านหนึ่งจะเป็นการยกระดับสาธารณสุขประเทศ แต่โอบามาแคร์ก็มีการใช้จ่ายงบประมาณไปราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 

และส่วนสุดท้าย คือ การออกพันธบัตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อดึงเงินมาใช้จ่ายในระบบ ที่ผ่านมา พันธบัตรสหรัฐได้รับการยอมรับและถูกมองว่า เป็นพันธบัตรที่มีความน่าเชื่อถือ-ปลอดภัยมากที่สุด เพราะสหรัฐเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด ได้รับความไว้วางใจมากที่สุด เป็นประเทศที่ยังสามารถดึงดูดนักลงทุนได้ และที่สำคัญมากกว่านั้น คือ สหรัฐไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ จึงการันตีให้กับนักลงทุนได้ว่า จะได้ผลตอบแทนจากการถือพันธบัตรเต็มเม็ดเต็มหน่วยแน่นอน

วิกฤติเพดานหนี้สหรัฐ ส่อหายนะระดับ ‘The mother of all crises’ สะเทือนโลก! -บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 44-

 

  • แม้ไม่ผิดนัด สหรัฐก็ไม่ชนะอยู่ดี

ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ วิทยาลัยดาร์ตมัธ (Dartmouth University) และอดีตผู้บริหารธนาคารแห่งอังกฤษให้ความเห็นกับกรณีที่เป็น “Worst Case Scenario” หากสหรัฐผิดนัดชำระหนี้ไว้ว่า ผลที่ตามมาจะเลวร้ายมากกว่า “ล้านเท่า” จะเกิดอะไรขึ้นหากยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจไม่สามารถชำระค่าใช้จ่ายตามกำหนดได้

เพราะที่ผ่านมา โลกมีความเชื่อว่า รัฐบาลสหรัฐมีความสามารถจ่ายเงินให้เจ้าหนี้ตรงเวลา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบการเงินโลกดำเนินไปอย่างราบรื่น ความเชื่อมั่นนี้ทำให้สกุลเงินดอลลาร์กลายเป็นสกุลเงินสำรองหลัก และหลักทรัพย์ของกระทรวงการคลังสหรัฐก็เป็นรากฐานของตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกด้วย

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) ให้นิยามสถานการณ์นี้ว่า “The mother of crises” เพราะหลายประเทศถือครองพันธบัตรสหรัฐมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ หากประเทศแม่ไม่มีความสามารถชำระหนี้ ผลสะเทือนที่จะเกิดขึ้น คือ ความเชื่อมั่นต่อกระทรวงการคลังสหรัฐลดลง สหรัฐไม่สามารถหาเงินมาเติมคลังต่อไปได้ แม้จะเป็นอัตราการลดลงเพียงเล็กน้อย แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ทุกการเปลี่ยนแปลงมีราคาที่ต้องจ่าย ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกระทบกับราคาหนี้ของสหรัฐ และต้นทุนการกู้ยืมในอนาคตจะสูงขึ้น 

พูดง่ายๆ คือ วิกฤติครั้งนี้ส่งแรงสะท้อนเป็นงูกินหาง เมื่อความสามารถทางเศรษฐกิจแของสหรัฐลดลง ประเทศที่ลงทุน ผูกสกุลเงิน ถือครองพันธบัตร และมีความยึดโยงกับเศรษฐกิจสหรัฐ ก็พลอยได้รับความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นไปด้วย

กรณีนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ของสหรัฐ วิธีรับมือกับการผิดนัดชำระหนี้ไม่มีพิมพ์เขียว ไม่มีกรณีศึกษาในอดีต ทำให้สถาบันการเงินหลายแห่งไม่สามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม เจพีมอร์แกน (JPMorgan) ได้ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ว่า ที่สำนักงานมีการจัดประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการผิดนัดชำระหนี้สหรัฐทุกสัปดาห์ โดยหลังจากวันที่ 21 พฤษภาคม ซึ่งใกล้วันชี้ชะตาชำระหนี้ เจพีมอร์แกนจะมีการประชุมทุกวันด้วยความถี่ที่มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าท้ายที่สุดแล้ว สภาคองเกรสจะเห็นชอบกับการเพิ่มเพดานหนี้ได้สำเร็จ แต่หากอุณหภูมิทางเศรษฐกิจยังร้อนแรงลากยาวไปนานกว่านี้ ก็อาจทำให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจกับสหรัฐขึ้นได้ ตัวเลข GDP จะลดลง การจ้างงานจะหายไปหลายล้านตำแหน่ง ราคาหุ้นร่วง ความมั่งคั่งของครัวเรือนจะหายไป และต้นทุนการกู้ยืมจะพุ่งสูงขึ้น

 

  • ผลสะเทือนถึงไทยและอนาคตของสหรัฐ

ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่า หากสหรัฐผิดนัดชำระหนี้จริง ผลกระทบที่เกิดกับไทยอาจมีไม่มากนัก โดยประเมินว่า สถานการณ์จะไม่ลุกลาม ยังไม่ทำให้เศรษฐกิจหดตัวรุนแรง แต่ด้วยสถานการณ์ไม่แน่นอนจึงทำให้ตลาดมีความผันผวนสูง เพิ่มความเสี่ยงเรื่องอัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรสหรัฐในระยะสั้นได้

โดยก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์หลายสำนักรวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ “IMF” เคยออกมาเตือนว่า ปี พ.ศ.2566 จะเป็นปีที่ยากลำบาก เพราะชาติมหาอำนาจอย่างยุโรป จีน และสหรัฐอ่อนแอลงจากการต่อสู้กับวิกฤติโควิด-19 มายาวนาน โดยสหรัฐเป็นประเทศที่มีการคาดการณ์ว่า จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องประกอบกับภาวะการเงินที่ตึงตัว จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ “Fed” เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

โดยภาพรวมแล้ว ผลกระทบที่ไทยได้รับอาจมีไม่มากนัก แต่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป ส่วนสหรัฐเอง ความผิดพลาดครั้งนี้มีผลทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง โดยเฉพาะการพึ่งพาพันธบัตรสหรัฐและการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์เป็นหลัก

หากในอนาคต นักลงทุนเทขายพันธบัตรและมองหาสินทรัพย์ที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่านี้ ชาติมหาอำนาจอาจต้องเตรียมใจในการเผชิญหน้ากับโจทย์หินที่สร้างได้ยาก คือ การฟื้นความเชื่อมั่นจากนักลงทุน เพราะก่อนหน้านี้ สหรัฐต้องเผชิญกับวิกฤติความเชื่อมั่นจากกรณี “แบงก์ล้ม” ต่อเนื่องกัน 3 แห่งภายในสัปดาห์เดียวมาแล้ว

 

อ้างอิง: Al JazeeraBBC Thai 1BBC Thai 2BloombergCNNMatichonPPTV 1PPTV 2PrachachatPrachataiVoice TV