‘อำนาจ ส.ว.’ กรณีศึกษา ‘อังกฤษ-สหรัฐ’ | กันต์ เอี่ยมอินทรา

‘อำนาจ ส.ว.’ กรณีศึกษา ‘อังกฤษ-สหรัฐ’ | กันต์ เอี่ยมอินทรา

เชื่อว่าคนไทยหลายคนอาจสงสัยและค่อนไปทางแปลกใจว่า เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว เหตุผลใดจึงจำเป็นต้องรวบรวมเสียง ส.ว.ให้ได้อีกจำนวนหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐบาลที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

เช่นเดียวกับนานาประเทศที่ก็ต่างมีคำถามในทำนองเดียวกันว่า เมื่อการเลือกตั้งได้สิ้นสุดลงแล้ว ประชาชนได้เลือกผู้แทนแล้ว เหตุใดจึงยังมีกลไกที่อาจจะขัดขวางประชามติอีก

กรุงโรมไม่สามารถสร้างในวันเดียวฉันใด ระบอบประชาธิปไตยของไทยก็เช่นกัน ข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศเรานั้นยังมีกลไกที่เชื่อมโยงจากอำนาจของเผด็จการอันมาจากการยึดอำนาจเมื่อ 9 ปีก่อน ยังคงฝังรากและอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง อย่าง กกต., ป.ป.ช. และ ส.ว. คือหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด

ไม่มีประเทศประชาธิปไตยเต็มใบในโลกที่ให้อำนาจ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งสูงเท่าประเทศไทย ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งนี้ทำได้สูงสุดเพียงทัดทาน ถ่วงเวลากฎหมายนั้น ๆ เพื่อโดยนัยให้สังคมเกิดการถกเถียงถึงที่มา ประโยชน์และผลกระทบของกฎหมายนั้น ๆ อีกครั้ง

กรณีของอังกฤษที่ก็มี ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งนั้นเป็นกรณีศึกษาที่ดี และกรณีศึกษาที่ชัดเจนที่สุดก็คือ การออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือที่เรียกว่า “Brexit” ที่ประชาชนให้ฉันทามติว่าต้องการให้สหราชอาณาจักรออกจากอียู คะแนนเลือกตั้งทำให้พรรคอนุรักษนิยมที่นำโดยบอริส จอห์นสัน ณ ตอนนั้นชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย

ทั้งที่มีกระแสคัดค้านอย่างรุนแรง ถึงผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ และอาจนำมาซึ่งปฏิกิริยาลูกโซ่ทางการเมือง และสังคมมากมายหากอังกฤษ เกิดออกจากอียูจริง ๆ ทั้งเรื่องของข้าวยากหมากแพง การแยกประเทศ การย้ายถิ่นฐานของแรงงานและการลงทุน โดยรวมสรุปแล้วคือ Brexit อาจส่งผลเสียมากกว่าดี

แต่เหตุผลอันมากมายเหล่านี้ก็ไม่สามารถเอาชนะกับเสียงตัดสินของประชาชนผ่านการเลือกตั้งได้

กฎหมายที่ผ่านสภาล่างของอังกฤษทุกฉบับจำต้องให้ สภาขุนนาง หรือ ส.ว. พิจารณาทัดทานและเห็นชอบ และโดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว ส.ว.ก็จะผ่านกฎหมายให้ทุกครั้ง จนกระทั่งเกิดกรณี Brexit ที่มีเสียงเรียกร้องอย่างอื้ออึงส่งสัญญาณให้กับ ส.ว.ที่จำต้องคัดค้านเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ

ในเชิงหลักการแล้ว ส.ว.ทำได้มากที่สุดก็คือการเตะถ่วง ทำให้กฎหมายนั้น ๆ มีความล่าช้าลง แต่ไม่สามารถล้มกฎหมายนั้น ๆ ได้ หากสภาล่างยืนยันที่จะเดินกฎหมายนั้น ๆ ต่อ การเตะถ่วงดึงเวลาก็แค่เพื่อหวังให้กระแสสังคมหันมาสนใจ และคิดไตร่ตรองให้ดีอีกครั้ง รวมไปจนถึงการส่งแรงกดดันไปยังสภาล่างให้ทบทวนกฎหมายเหล่านั้น

แต่ในที่สุด สหราชอาณาจักรโดยความเห็นชอบของสองสภา ก็ได้อนุมัติกฎหมายที่นำประเทศออกจากอียูอย่างสมบูรณ์ เรียกได้ว่า จำต้องทำตามมติของประชาชน ถึงแม้รู้ทั้งรู้ว่า มติเหล่านั้นอาจจะนำมาซึ่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศ แต่นั่นคือสิ่งที่ประชาชนเลือก ส.ส.และส.ว.จึงต้องน้อมรับและทำตาม

อีกหนึ่งกรณีศึกษาถึง อำนาจ ส.ว. คือ ในสหรัฐที่ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ดังนั้นจึงมีอำนาจมาก และทำหน้าที่ทัดทานอำนาจของฝ่ายบริหารที่นำโดยประธานาธิบดี เพื่อเป็นการคานอำนาจ ป้องกันการรวบอำนาจที่เบ็ดเสร็จของฝ่ายบริหาร ส.ว.มีอำนาจในการคว่ำกฎหมาย มีอำนาจในการไม่รับรองข้าราชการระดับสูง หรือแม้กระทั่งฝ่ายตุลาการที่ถูกเสนอชื่อโดยประธานาธิบดีได้

อำนาจที่มากล้นของ ส.ว.สหรัฐ นั้นยึดโยงโดยตรงกับประชาชน เพราะมาจากการเลือกตั้ง ต่างจากอังกฤษที่อำนาจน้อยเพราะมาจากการแต่งตั้ง

ดังนั้น การใช้อำนาจที่มากล้นที่ไม่มีหลักการอธิบาย และไม่ได้ยึดโยงอำนาจอันมากจากประชาชน จึงมีความลำบากในการอธิบายต่อประชาชนว่า ทำไมอำนาจของคนเพียงหยิบมือจึงมากล้นกว่าเสียงของประชาชน และกลายเป็นมากำหนดชีวิตของประชาชนได้