เปิดข้อกฎหมาย ‘กษัตริย์ชาลส์’ไม่ต้องปฏิบัติตาม

เปิดข้อกฎหมาย  ‘กษัตริย์ชาลส์’ไม่ต้องปฏิบัติตาม

นับตั้งแต่ พ.ศ.2510 มีการเขียนข้อยกเว้นในกฎหมายอังกฤษกว่า 160 ฉบับเพื่อให้การคุ้มครองแด่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในฐานะกษัตริย์ บัดนี้ข้อยกเว้นดังกล่าวได้ถ่ายโอนสู่สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ผู้ผ่านการราชาภิเษกเมื่อวันที่ 6 พ.ค.

ตามหลักกฎหมายว่าด้วย “ความคุ้มกันองค์อธิปัตย์” คิงชาลส์ได้รับยกเว้นจากการดำเนินคดีอาญาและแพ่งในฐานะประมุขแห่งรัฐ รวมไปถึงสินทรัพย์ส่วนพระองค์ อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจ ที่นอกเหนือจากพระราชกรณียกิจ

ปัจจุบันมีกฎหมายกว่า 30 ฉบับห้ามตำรวจเข้าไปในตำหนักหลวงส่วนพระองค์โดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อสอบสวนเหตุอาชญากรรม ทั้งยังได้รับยกเว้นโทษจากความผิดเกี่ยวกับสัตว์ป่า มลพิษสิ่งแวดล้อม และความผิดอาญาด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่ไม่ยกเว้นให้เจ้าของที่ดินเอกชนอื่นๆ ในสหราชอาณาจักร

ก่อนหน้านี้เว็บไซต์ Royal Family ซึ่งเป็นเว็บไซต์ทางการราชวงศ์อังกฤษระบุ “แม้องค์อธิปัตย์ไม่สามารถถูกดำเนินคดีแพ่งและอาญาในฐานะบุคคลภายใต้กฎหมายสหราชอาณาจักร สมเด็จพระราชินีนาถทรงระมัดระวังเพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกกิจกรรมที่กระทำโดยพระองค์ เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด”

เว็บไซต์ไทม์รวบรวมกฎหมายเข้มงวดที่สุดบางข้อที่กษัตริย์ชาลส์และราชวงศ์อังกฤษได้รับการยกเว้นไว้ดังนี้ 

เดินทางไม่ต้องใช้พาสปอร์ต

ในฐานะกษัตริย์อังกฤษ คิงชาลส์ไม่จำเป็นต้องถือหนังสือเดินทางอังกฤษเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ เหตุผลที่ระบุในเว็บไซต์ Royal Family ที่ยังไม่ได้ปรับปรุงนับตั้งแต่ควีนเอลิซาเบธสวรรคต ระบุ “หนังสือเดินทางอังกฤษออกในนามสมเด็จพระราชินีนาถพระองค์จึงไม่จำเป็นต้องมี”

ตามกฎหมายสหราชอาณาจักร พลเมืองอังกฤษเดินทางไปต่างประเทศไม่ได้ถ้าไม่มีหนังสือเดินทาง พาสปอร์ตทุกเล่มที่ออกโดยทางการสหราชอาณาจักรภายใต้กษัตริย์ชาลส์จะมีคำปรารภว่า

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกษัตริย์อังกฤษร้องขอและต้องการในพระปรมาภิไธยของพระองค์ ให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องอนุญาตให้ผู้ถือหนังสือเดินทางนี้ผ่านได้โดยอิสระปราศจากอุปสรรคขัดขวาง และอำนวยความสะดวก เช่น ให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองในกรณีที่จำเป็น”

ข้อความแบบเดียวกันนี้ถูกตีพิมพ์ในหนังสือเดินทางประเทศที่กษัตริย์ชาลส์เป็นประมุข เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา และนิวซีแลนด์ แต่อาจเปลี่ยนแปลงถ้อยคำเล็กน้อย เช่น หนังสือเดินทางที่ออกในนิวซีแลนด์มีข้อความ “ผู้สำเร็จราชการในนิวซีแลนด์ร้องขอในพระปรมาภิไธยแห่งกษัตริย์ถึงทุกคนที่อาจเกี่ยวข้อง อนุญาตให้ผู้ถือหนังสือเดินทางนี้ผ่านได้โดยปราศจากการหน่วงเหนี่ยวขัดขวาง และให้ความช่วยเหลือคุ้มครองตามกฎหมายในกรณีที่จำเป็น”

ขับรถไม่ต้องมีใบขับขี่

ตามกฎหมายการจราจรทางบก กษัตริย์และสมาชิกราชวงศ์สามารถขับรถได้ช้าหรือเร็วตามใจปรารถนา ถ้ามีตำรวจนำขบวนขณะปฏิบัติกรณียกิจ (นายกรัฐมนตรีก็ได้สิทธิแบบเดียวกัน)

มีรายงานว่าควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงไม่เคยทดสอบการขับรถเลยและทรงรถได้โดยไม่มีใบขับขี่ เนื่องจากใบขับขี่ทุกใบในสหราชอาณาจักรออกโดยปรมาภิไธยของพระองค์

ปี 2562 มีรายงานว่า ควีนตัดสินพระทัยไม่ทรงรถบนถนนสาธารณะอีกต่อไป “ตามคำแนะนำของทีมรักษาความปลอดภัย” หลังดยุกแห่งเอดินบะระ พระสวามี ทรงเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุรถยนต์ที่แซนดริงแฮมก่อนหน้านั้น

ส่วนคิงชาลส์ในฐานะกษัตริย์ไม่จำเป็นต้องมีใบขับขี่ขณะทรงรถเช่นกัน

การเสียภาษี

ตามพระราชบัญญัติเงินปีส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ.25544 กษัตริย์ “ไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ ภาษีส่วนต่างกำไร หรือภาษีมรดก เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่บังคับใช้กับพระองค์” ดยุคแห่งคอร์นวอลล์หรือเจ้าชายวิลเลียมก็ใช้กฎแบบเดียวกันนี้

แม้ว่าตามกฎหมายกษัตริย์ไม่จำเป็นต้องเสียภาษี นับตั้งแต่ พ.ศ.2537  ควีนเอลิซาเบธและโอรสองค์โตทรงสมัครใจเสียภาษีเงินได้ ภาษีอสังหาริมทรัพย์ และภาษีจากผลกำไรที่ีไม่ได้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการ

ดยุกแห่งเอดินบะระเองก็ทรงเสียภาษีจากส่วนของเงินปีที่ยังไม่ได้ใช้สำหรับการปฏิบัติกรณียกิจของพระองค์ เช่นเดียวกับเจ้าชายวิลเลียมที่ทรงสมัครใจเสียภาษีเงินได้จากรายได้ทั้งหมดที่ได้จากอสังหาริมทรัพย์

สมาชิกราชวงศ์คนอื่นรับผิดชอบเสียภาษีเต็มเหมือนกับพลเมืองอังกฤษคนอื่นๆ โดยค่าใช้จ่ายการปฏิบัติกรณียกิจได้รับอนุญาตไม่ต้องเสียภาษี

การทำหน้าที่ลูกขุน

ขณะที่พลเมืองอังกฤษอาจถูกปรับถึง 1,000 ปอนด์หากหลบเลี่ยงหน้าที่ลูกขุน กษัตริย์และสมาชิกในครอบครัวได้รับการยกเว้นจากการทำหน้าที่นี้ภายใต้กฎหมายยุติธรรมทางอาญา

ในสหราชอาณาจักร 60% ของคนที่ถูกเรียกตัวมาทำหน้าที่ลูกขุนไม่ได้มา โดยแพทย์ สัตวแพทย์ สมาชิกรัรฐสภา และผู้พิพากษาได้รับการยกเว้น ใน พ.ศ.2546 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโต้แย้งข้อยกเว้นนี้ได้สำเร็จ จากเดิมยกเว้นให้สมาชิกราชวงศ์ทุกคนเหลือแค่ยกเว้นเฉพาะกษัตริย์กับสมาชิกในครอบครัวเท่านั้น

เดอะการ์เดี้ยนรายงานคำพูดของเดสมอนด์ เทอร์เนอร์ ส.ส.ไบรท์ตัน “เลิกคิดได้แล้วว่า มีคนยิ่งใหญ่เกินไป ฉลาดเกินไป หรือสำคัญเกินกว่าจะมาทำหน้าที่ลูกขุนได้”

กฎหมายความเสมอภาคทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และเพศ

ในทศวรรษ 70 รัฐบาลอังกฤษออกกฎหมายหลายฉบับห้ามการเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติและเพศในที่ทำงาน ที่ต่อมารวมกันเข้าเป็นกฎหมายความเสมอภาคปี 2010 แต่เดอะการ์เดี้ยนเผยเอกสารที่รายงานว่าควีนได้รับการยกเว้นจากกฎหมายเหล่านี้ เท่ากับว่าใครก็ตามที่ทำงานให้กับราชวงศ์ไม่สามารถฟ้องศาลได้หากพวกเขาถูกเลือกปฏิบัติเพราะเชื้อชาติ เพศ หรือได้รับค่าจ้างไม่เท่าเทียม

ก่อนหน้านี้โฆษกพระราชวังบักกิงแฮมกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า สำนักพระราชวังและควีนปฏิบัติตามบทบัญญัติในกฎหมายความเสมอภาค“ทัั้งในหลักการและการปฏิบัติจริง”

พ.ศ.2511 หัวหน้าผู้จัดการการเงินของควีนแจ้งข้าราชการ ระบุ “ในความเป็นจริงไม่มีการแต่งตั้งผู้อพยพผิวสีหรือชาวต่างชาติมาทำหน้าที่เสมียนในสำนักพระราชวัง” แต่ใน พ.ศ.2540 วังเผยกับดิอินดิเพนเดนท์ว่า ไม่เคยตรวจจำนวนเจ้าหน้าที่อย่างเป็นทางการเพื่อสร้างหลักประกันถึงโอกาสอันเสมอภาค เดือนมี.ค.2564  มีรายงานว่าสำนักพระราชวังบักกิงแฮมกำลังพิจารณาเลขาธิการให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น