'ซัมซุง' เล็งตั้งโรงงานชิปในญี่ปุ่น เมินความต้องการในตลาดโลกหด

'ซัมซุง' เล็งตั้งโรงงานชิปในญี่ปุ่น เมินความต้องการในตลาดโลกหด

'ซัมซุง' เล็งตั้งโรงงานชิปในญี่ปุ่น เมินต้องการตลาดโลกหด ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานของซัมซุงโดยรวมดิ่งหนักสู่ระดับ 6.4 แสนล้านวอน เป็นครั้งแรกในช่วงสามเดือนแรกของปี 2566 ร่วงลงจากปีก่อน 95.5%

ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ เตรียมสร้างโรงงานแห่งใหม่ในเมืองโยโกฮามา จังหวัดคากานาวะ ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นความคิดริเริ่มเชิงสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ถึงการทำงานร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมชิปของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

โรงงานแห่งใหม่นี้ มีต้นทุนการก่อสร้างอยู่ที่ 30,000 ล้านเยน และจะสร้างในเมืองโยโกฮามา ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันวิจัยและพัฒนา(อาร์แอนด์ดี)ของซัมซุงในญี่ปุ่น

กระบวนการผลิตส่วนแรก เป็นการสร้างแผงวงจรไฟฟ้าบนแผ่นเวเฟอร์ แต่โรงงานของซัมซุงจะเน้นไปที่การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสุดท้าย โดยในการผลิตชิปขั้นสุดท้าย จะนำชิปที่ถูกตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ไปบรรจุในแผ่นลีดเฟรม ให้เป็นผลิตภัณฑ์พร้อมจำหน่าย

ตามปกติแล้ว การวิจัยและพัฒนาจะเน้นไปที่กระบวนการผลิตส่วนหน้า เพื่อย่อวงจรไฟฟ้าให้มีขนาดเล็กมาก ๆ แต่หลายคนเชื่อว่า การผลิตให้วงจรมีขนาดเล็กลงมีข้อจำกัด และการให้ความสำคัญกับการผลิตดังกล่าว จะเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนากระบวนการผลิตส่วนท้ายได้ เช่น การซ้อนแผ่นเวเฟอร์ให้มีหลายชั้นเพื่อทำเป็นชิปสามมิติ

ซัมซุงเชื่อว่า บริษัทจำเป็นต้องศึกษาวัสดุและอุปกรณ์การผลิตชิปในญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในกระบวนการผลิตชิป

นอกจากนี้ โรงงานยังมีการจ้างงานหลายร้อยตำแหน่ง และตั้งเป้าเปิดเดินสายการผลิตในปี 2568 และขณะนี้ซัมซุงกำลังใช้สิทธิประโยชน์จากเงินอุดหนุนเพื่อการลงทุนเซมิคอนดักเตอร์ของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่า จะได้รับเงินอุดหนุนมากกว่า 10,000 ล้านเยน

แผนการลงทุนดังกล่าว จะเป็นการใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ร่วมกัน โดยซัมซุงเป็นผู้ผลิตชิปหน่วยความจำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่ญี่ปุ่นคือผู้ผลิตวัสดุพื้นฐานสำหรับการผลิตชิปชั้นนำ เช่น แผ่นเวเฟอร์เพื่อผลิตชิป และอุปกรณ์สร้างชิป

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดอื่น ๆ นอกจากระบุว่า บริษัทจะสร้างไลน์ผลิตอุปกรณ์ชิปต้นแบบ

การลงทุนนี้มีขึ้นหลังจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่น หวนกลับมาสร้างสายสัมพันธ์ทวิภาคีร่วมกันอีกครั้ง ภายใต้การนำของประธานาธิบบดียุน ซอกยอล
 

ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ และ “ฟูมิโอะ คิชิดะ” นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น มีกำหนดหารือกันนอกรอบ หลังการประชมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G7 ในจังหวัดฮิโรชิมาสัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ตาม การลงทุนโครงการดังกล่าวยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะบริษัทกำลังเผชิญกับรายได้ที่ลดลง โดยเมื่อวันพฤหัสบดี(11 พ.ค.) ซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ ประกาศว่า ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์หลักของบริษัท ประสบปัญหาขาดทุน 4.6 ล้านล้านวอน ในไตรมาสแรก จากเดิมที่เคยมีกำไร 8.5 ล้านล้านวอนเมื่อปีก่อน

ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของเกาหลีใต้ ยืนยันว่า กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทโดยรวมลดลงสู่ระดับ 6.4 แสนล้านวอน เป็นครั้งแรกในช่วงสามเดือนแรกของปี 2566 ลดลง 95.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนรายได้บริษัทลดลง 18.1% สู่ระดับ 63.8 ล้านล้านวอน แต่ผลประกอบการดีกว่าคาดการณ์รายได้ที่ประกาศเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค.

ซัมซุง ระบุว่า ต้องลดการผลิตชิปไว้ในระดับปลอดภัย เนื่องจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกลดลง ผลพวงจากเศรษฐกิจโลกซบเซา และการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง

การปรับลดการผลิตของซัมซุงคล้ายกับบริษัทคู่แข่งอย่างเอสเค ไฮนิกส์ ของเกาหลีใต้ และบริษัทไมครอนจากสหรัฐ ที่ปรับลดกำลังการผลิตเช่นกัน

ซัมซุง อ้างว่า ธุรกิจชิปหน่วยความจำมีออร์เดอร์ลดลง ธุรกิจโรงหล่อมีอัตราการใช้ชิปน้อยลง และการปรับปรุงสินค้าคงคลังกับการแก้ไขปัญหาความต้องการสินค้ามีประสิทธิภาพลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ รายได้ของบรรดาธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ก็ลดลงสู่ระดับ 13.7 ล้านล้านวอน ปรับตัวร่วงลง 49% จากปีก่อน

แม้ชิปหน่วยความจำทั้งแบบ DRAM และ NAND flash ของซัมซุง นำไปใช้ในผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ที่หลากหลายมากขึ้น ตั้งแต่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและสมาร์ตโฟน ไปจนถึงเซิร์ฟเวอร์ฐานข้อมูล แต่การพึ่งพาสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างหนักของอุตหสาหกรรมนี้ ก็ช่วยให้ธุรกิจทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดได้ ก่อนจะทรุดตัวลง เมื่อผู้บริโภคลดการใช้จ่าย และอุปทานส่วนเกินทำให้ผู้ผลิตต้องลดการผลิตและลดราคาสินค้า

ขณะที่ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ตกที่นั่งลำบาก แต่ผลประกอบการที่ย่ำแย่โดยรวม ก็ยังได้รับอานิสงค์จากยอดขายสมาร์ตโฟน หน้าจอคอมพิวเตอร์ และของใช้ภายในบ้าน โดยหน่วยงานธุรกิจของซัมซุงที่รวมธุรกิจสมาร์ตโฟน สามารถทำกำไรจากการดำเนินงานได้ 3.9 ล้านล้านวอนในไตรมาสล่าสุด ขณะที่ผลกำไรสุทธิโดยรวมลดลง 86.1% สู่ระดับ 1.6 ล้านล้านวอน

ซัมซุง ระบุด้วยว่า บริษัทเตรียมหารือกับรัฐบาลสหรัฐ เกี่ยวกับข้อกำหนดในการรับเงินอุดหนุน สำหรับการลงทุนในประเทศที่สอดคล้องกับร่างกฎหมายชิปและวิทยาศาสตร์ ซึ่งร่างดังกล่าว ได้รับการรับรองเป็นกฎหมายในเดือน ส.ค. เมื่อปีที่แล้ว ภายใต้ข้อกำหนดที่ว่า บริษัทที่เข้ามาลงทุนในสหรัฐ ห้ามรับทุนจากการขยายการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในจีน และประเทศอื่น ๆ ที่ระบุในกฎหมายว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ

“ซู บยองฮุน” หัวหน้าฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ของซัมซุง แถลงในที่ประชุมรายงานผลประกอบการว่า“รัฐบาลสหรัฐจะรับฟังความคิดเห็นจากบริษัทต่าง ๆ เกี่ยวกับข้อกำหนดของเงินอุดหนุนตามกฎหมายชิปสหรัฐ และจะกำหนดรายละเอียดแผนผ่านการเจรจาของแต่ละบริษัท ซึ่งซัมซุงจะเข้าร่วมกระบวนการดังกล่าว และพยายามลดความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ให้ได้”