อินเดียหวังสร้างโรงพยาบาลเพิ่ม รับมือประชากรล้น แต่ขาดแคลนหมอขั้นวิกฤติ

อินเดียหวังสร้างโรงพยาบาลเพิ่ม รับมือประชากรล้น แต่ขาดแคลนหมอขั้นวิกฤติ

รัฐบาลอินเดียเล็งสร้างโรงพยาบาลเพิ่ม รับมือกับประชากรที่พุ่งสูงขึ้น จนกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก แต่ยังคงน่าเป็นห่วง เพราะอินเดียยังขาดแคลนแพทย์ขั้นวิกฤติ !

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า รัฐบาลของ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้สร้างสถาบันการแพทย์เพื่อการรักษาเฉพาะทางหลายสิบแห่ง ตั้งแต่โมดีเข้ารับตำแหน่งในปี 2557

รัฐบาลอินเดียยังวางแผนสร้างโรงพยาบาลหลักอย่างน้อยอีก 1 แห่ง ในแต่ละ 761 อำเภอในอินเดีย แต่ปัญหาอยู่ที่อินเดียยังขาดแคลนแพทย์ในระดับวิกฤติ เนื่องจากอินเดียกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ระบุว่า อัตราส่วนแพทย์ต่อผู้ป่วยของอินเดียทำลายสถิติสูงถึง 1.2 คนต่อผู้ป่วย 1,000 คน ในปี 2534 แต่เมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้น อัตราแพทย์ต่อผู้ป่วยจึงลดลงเหลือ 0.7 ในปี 2563

ดับเบิลยูเอชโอ แนะนำว่า ระดับอัตราส่วนดังกล่าว ควรอยู่ที่ 1 และจีน ประเทศที่มีประชากรเทียบเท่ากับอินเดียมีอัตราส่วนแพทย์ต่อผู้ป่วยอยู่ที่ 2.4

“มันสุข มันดาวิยะ” รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข แถลงในรัฐสภาเมื่อเดือนมี.ค. ว่า อินเดียมีอัตราส่วนแพทย์ 1 คนต่อผู้ป่วย 834 คน มากกว่าระดับที่ดับเบิลยูเอชโอระบุ แต่ตัวเลขที่มันดาวิยะ เผย คำนวณแพทย์ที่ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนโบราณ เช่น อายุรเวท, โฮมีโอพาธีย์ หรือศาสตร์การแพทย์แนวธรรมชาติ และธรรมชาติบำบัด

 

 

 

อย่างไรก็ตาม การคำนวณของดับเบิลยูเอชโอ และกลุ่มแพทย์ต่างๆ เช่น สมาคมแพทย์อินเดีย ไม่ได้คำนวณการแพทย์แผนโบราณร่วมด้วย

 

เพิ่มโควตานักศึกษาแพทย์

รัฐบาลโมดีจึงพยายามหาทางเพิ่มจำนวนแพทย์ โดยการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแพทย์มากขึ้น 

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า รัฐบาลอินเดีย เปิดรับนักศึกษาแพทย์ปริญญาตรีเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จำนวน 101,043 ที่ ทั้งในมหาวิทยาลัยเอกชน และรัฐบาล จากเดิมเปิดรับเพียง 51,348 ที่ ในช่วงก่อนปี 2557 และมีนักเรียนมากกว่า 1.76 ล้านคน เข้าร่วมสอบแพทย์ในปี 2565

อย่างไรก็ตาม อินเดียยังมีตำแหน่งแพทย์ที่ว่างอยู่มากกว่า 3,000 ตำแหน่ง ในโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ 31 แห่ง รวมทั้งสถาบันการแพทย์เฉพาะอีกหลายสิบแห่งยังขาดแคลนแพทย์เช่นกัน ขณะที่ตำแหน่งพยาบาล และเจ้าหน้าที่แผนกอื่นยังว่างมากกว่า 21,000 ตำแหน่ง

ส่วนข้อมูลจากรัฐบาล เผยว่า จำนวนโรงพยาบาลรัฐ ยกเว้น สถาบันรักษาโรคเฉพาะทาง เพิ่มขึ้น 9% ในช่วงที่โมดีดำรงตำแหน่ง 

อินเดียหวังสร้างโรงพยาบาลเพิ่ม รับมือประชากรล้น แต่ขาดแคลนหมอขั้นวิกฤติ

ชนบทขาดแคลนแพทย์วิกฤติ

นอกเมืองใหญ่ในอินเดียยังขาดแคลนการรักษาเฉพาะทางอย่างรุนแรง รัฐบาลบอกว่า อินเดียยังขาดแคลนแพทย์ผ่าตัด กายภาพ นรีเวชศาสตร์ และกุมารแพทย์ตามโรงพยาบาลชุมชน ในชนบทของอินเดีย เมื่อเดือน มี.ค.2565 ซึ่งโรงพยาบาลขนาดเล็ก มีแพทย์เฉพาะทางเพียง 4,485 ตำแหน่ง ต่อความต้องการแพทย์ 21,920 ตำแหน่ง

“ดร.เค ศรีนาถ เรดดี” จากมูลนิธิสาธารณสุข องค์กรไม่แสวงหากำไรของอินเดีย บอกว่า แพทย์เฉพาะทางมักไปทำงานต่างประเทศ หรือเข้าทำงานในโรงพยาบาลภาคเอกชนในมหานคร หรือเมืองใหญ่เมืองอื่นๆ

“ดร.วันทนา ประสาด” ที่ปรึกษาทางเทคนิค จากเครือข่ายทรัพยากรสาธารณสุข องค์กรไม่แสวงหากำไร เผยว่า ประชากรในพื้นที่ชนบทมักต้องเข้าเมืองเพื่อรักษาอาการป่วย

“นั่นจึงเป็นสาเหตุหลักที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก รอด้านนอกโรงพยาบาลอย่างแออัด” ดร.ไซ อาเหม็ด จากกลุ่มสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์อินเดีย กล่าวย้ำ

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์