พระราชพิธีขึ้นครองราชย์ ค่าใช้จ่าย หรือ การลงทุน?

พระราชพิธีขึ้นครองราชย์ ค่าใช้จ่าย หรือ การลงทุน?

มีการประมาณการว่า เม็ดเงินที่จะกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของอังกฤษในช่วง งานพระราชพิธีขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรที่จะมีขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์นี้ อาจจะสูงถึง 1,000 ล้านปอนด์

แน่นอนว่าระบอบกษัตริย์ของอังกฤษนั้น ถูกทดสอบด้วยกาลเวลาและยังคงอยู่ยืนยงมานานกว่า 1,000 ปี ซึ่งนักวิเคราะห์ก็อรรถาธิบายถึงเหตุผลหลักในการอยู่รอดของราชวงศ์ก็คือ การมีกรอบหน้าที่ของกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ชัดเจน การปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย และที่สำคัญที่สุดคือ ความนิยมต่อสถาบันของประชาชน

พระราชพิธีขึ้นครองราชย์ที่จะจัดขึ้นที่กรุงลอนดอนในวันเสาร์นี้ (6 พ.ค.) จะเป็นพระราชพิธีที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมาในรอบเกือบ 70 ปี ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะจัดการค่าใช้จ่ายในงานนี้เพราะถือเป็นรัฐพิธี และถึงแม้รัฐบาลจะไม่ได้ออกมาประกาศถึงค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ แต่สื่ออังกฤษประมาณการคร่าว ๆ ว่าน่าจะสูงถึง 100 ล้านปอนด์

ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เรียกได้ว่าอยู่ในยุคฝืดเคืองทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจหลังโควิด-19 การตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรป ตลอดจนปัญหาการสู้รบในยูเครน จนทำให้ค่าใช้จ่ายครัวเรือนพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การทำมาหากินก็ยากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่มีกระแสต่อต้านการใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนมาเพื่อการจัดงานเฉลิมฉลองอันยิ่งใหญ่นี้

สิ่งที่น่าสนใจของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของอังกฤษคือ การวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผลข้อเท็จจริงนั้นสามารถทำได้ภายในขอบเขตที่กฎหมายมีให้ และเมื่อมีการวิจารณ์ถึงค่าใช้จ่ายที่สูงถึง 100 ล้านปอนด์ในการจัดงานนี้แล้ว ก็มีการตอบโต้จากสำนักพระราชวัง

ประมาณการตัวเลขเม็ดเงินส่วนเพิ่มเติมที่จะเข้าไปหมุนในระบบเศรษฐกิจของอังกฤษในช่วงพระราชพิธีขึ้นครองราชย์ที่อาจจะสูงถึง 1,000 ล้านปอนด์ ขณะที่สื่อบางสำนักคาดการณ์ตัวเลขขึ้นไปสูงถึง 3,220 ล้านปอนด์ โดยสำนักพระราชวังอังกฤษชี้ว่า พระราชพิธีนี้นั้นถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากับระบอบเศรษฐกิจ

ผู้อ่านคนไทยหลายคนคงสงสัยว่า จริงหรือ ที่เม็ดเงินจะเข้ามาหมุนในระบบเศรษฐกิจอังกฤษสูงถึง 1,000-3,220 ล้านปอนด์ในช่วงสั้น ๆ แค่ประมาณ 1 สัปดาห์ การจะทำความเข้าใจตัวเลขนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ และตัวเลขทางเศรษฐกิจของอังกฤษเสียก่อน

คนอังกฤษนั้น ชอบการเฉลิมฉลองและยิ่งมีโอกาสสำคัญ อาทิ งานฉลองพัชราภิเษก (Diamond Jubilee) หรือแม้กระทั่งงานฉลองพิธีสมรสหลวง (Royal Wedding) คนก็จะออกมาจับจ่ายใช้สอย ทั้งนอกและในบ้าน เฉลิมฉลองตามผับ ตั้งโต๊ะปาร์ตี้ฉลองตามท้องถนน การถือโอกาสพบปะเพื่อนฝูงหรือรวมญาติ เพราะการเฉลิมฉลองนั้น ๆ มักจะตรงกับวันหยุดยาว ไม่นับรวมจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ประมาณการตัวเลขคร่าว ๆ ว่า กลุ่มโรงแรมร้านอาหารจะได้รับอานิสงส์โดยตรงจากงานนี้ถึง 1,000 ล้านปอนด์ ผับขนาดย่อยจะมีเม็ดเงินหมุนเพิ่มถึง 120 ล้านปอนด์ ละเอียดไปจนถึงการประมาณการว่า ยอดขายเบียร์เฉพาะกาลนี้น่าจะสูงขึ้นถึง 35.5 ล้านแก้ว เช่นเดียวกับไวน์ที่ 5.3 ล้านขวด

เช่นเดียวกับการจับจ่ายซื้อของที่ระลึก อาทิ แก้วน้ำ ชุดชา ต่าง ๆ นานา ซึ่งดูผิวเผินแทบไม่มีมูลค่ามากมายนัก แต่กลับสร้างรายได้มหาศาลแก่ระบบเศรษฐกิจอังกฤษ พูดได้ว่า เมื่อมีงานสำคัญ ก็จะมีเงินหมุนเข้ามาในระบบอย่างมาก มากกว่าค่าใช้จ่ายที่รัฐเสียไปด้วยซ้ำ และงานพระราชพิธีที่ผ่าน ๆ มา ก็เป็นหลักฐานพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าคือ การลงทุนที่คุ้มค่า

อังกฤษจึงเป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า เอกลักษณ์ที่สำคัญของชาตินั้น สามารถปรับตัวและสร้างผลประโยชน์โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล หากมีความโปร่งใส่ตรวจสอบได้