ราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 หมุดหมายสัมพันธ์ไทยสู่ศตวรรษที่ 5

ราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3  หมุดหมายสัมพันธ์ไทยสู่ศตวรรษที่ 5

เนื่องในวาระพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร มาร์ค กูดดิ้ง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย นำเสนอบทความพิเศษว่าด้วยความสำคัญของพระราชพิธีและความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลาถือเป็นช่วงเวลาสำคัญยิ่งของสหราชอาณาจักรและประเทศในเครือจักรภพทั้งหมด บรรดาพระประมุข ประมุข และผู้นำจากทั่วโลกจะเดินทางมาเข้าร่วมพระราชพิธีครั้งประวัติศาสตร์นี้ อันเป็นพระราชพิธีครั้งแรกนับตั้งแต่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงบรมราชาภิเษกเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2496

สหราชอาณาจักรรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินเข้าร่วมพิธี ณ กรุงลอนดอนในช่วงสุดสัปดาห์นี้ นับเป็นหมุดหมายใหม่ของสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร ซึ่งดำเนินมาเป็นระยะเวลากว่าสี่ร้อยปี

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 นั้นจะเป็นทั้งช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองและช่วงเวลาให้พวกเราได้คิดไต่ตรองถึงประเด็นสำคัญอื่น ๆ โดยสมเด็จพระเจ้าชาลส์จะทรงใช้โอกาสดังกล่าวผลักดันประเด็นซึ่งพระองค์สนพระราชหฤทัย อันได้แก่ เยาวชน ความเป็นชุมชน ความแตกต่างหลากหลาย และความยั่งยืน

ตลอดพระชนม์ชีพ สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและส่งเสริมงานด้านความยั่งยืน รวมทั้งทรงให้การสนับสนุนงานด้านการบริการชุมชน ในฐานะเจ้าชายแห่งเวลส์ หรือองค์รัชทายาท พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างด้านสิ่งแวดล้อมและงานด้านอาสาสมัครมากว่า 50 ปี ทรงผลักดันการก่อตั้งองค์กรการกุศลมากกว่า 20 องค์กร และในทางสาธารณะพระองค์ทรงงานอย่างใกล้ชิดกับอีกหลายองค์กร เพื่อสนับสนุนงานด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนศิลปะ สาธารณสุข และการศึกษา

ด้วยเหตุนี้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่สหราชอาณาจักรจะได้เน้นย้ำถึงพันธกิจในการปกป้องโลกของเราเพื่อส่งต่อกับชนรุ่นหลังต่อไป รวมทั้งให้ความสำคัญกับจิตสำนึกของความเป็นชุมชนในการสร้างอนาคตที่มีความยั่งยืน ทั้งนี้ ในสหราชอาณาจักรได้ประกาศวันหยุดพิเศษเพื่อให้ผู้คนได้มาทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน และในขณะเดียวกันสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของสหราชอาณาจักรทั้ง 280 แห่งทั่วโลกต่างร่วมจัดงานเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสพิเศษนี้

ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างสหราชอาณาจักรและไทยก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 5 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และมีความแน่นแฟ้นยิ่งกว่าที่เคย ด้วยความสัมพันธ์ทางการค้าที่เฟื่องฟู การแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง และพันธกิจต่อคุณค่าและระเบียบระหว่างประเทศที่มีร่วมกัน ภายใต้บทใหม่ในหน้าประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร ผมตั้งตารอที่จะทำงานร่วมกับคนไทยเพื่อพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และมาร่วมสร้างอนาคตที่มีความยั่งยืน มั่งคั่ง และเอื้อต่อการมีส่วนร่วมของคนทุกฝ่ายไปด้วยกัน