เปิดแผนสันติภาพยูเครน เมื่อ 'สี จิ้นผิง' อยากเป็นผู้นำโลก

เปิดแผนสันติภาพยูเครน เมื่อ 'สี จิ้นผิง' อยากเป็นผู้นำโลก

ระยะหลังรัฐบาลปักกิ่งกำหนดสถานะตนเองเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อแก้ไขวิกฤติโลกไล่ตั้งแต่ตะวันออกกลางไปจนถึงยูเครน ซึ่งกรณีหลังยังเกิดคำถามว่าจีนจะทำได้จริงหรือไม่

สืบเนื่องจากเมื่อวันพุธ (26 เม.ย.) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง คุยโทรศัพท์กับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี เป็นการติดต่อกันครั้งแรกนับตั้งแต่รัสเซีย พันธมิตรทางยุทธศาสตร์ของจีนรุกรานยูเครนในปี 2565

สำนักข่าวเอเอฟพีรวบรวมคำตอบต่อคำถามสำคัญเกี่ยวกับแผนการใหญ่ของจีนว่าด้วยยูเครน

จีนเสนออะไร

สีบอกเซเลนสกีว่า จุดยืนสำคัญของจีนคือ“ส่งเสริมการเจรจาสันติภาพ” และให้คำมั่นว่าจะส่งตัวแทนพิเศษไปยังยูเครนเพื่อช่วยหา “ข้อตกลงทางการเมือง

ตัวแทนคณะนี้นำโดยหลี่ ฮุ่ย ทูตจีนประจำรัสเซียระหว่างปี 2552-2562 ซึ่งการที่จีนเลือกหลี่ทำให้เกิดคำถาม เนื่องจากก่อนพ้นตำแหน่งในกรุงมอสโกไม่นาน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน มอบเหรียญเกียรติยศแห่งมิตรภาพให้กับเขา

สื่อทางการจีนรายงานในตอนนั้นว่า เหรียญนี้ “ไม่ใช่เป็นเกียรติแค่ตัวเขา แต่ยังเป็นตัวแทนมิตรภาพระหว่างประชาชนรัสเซียกับจีนด้วย”

ก่อนที่สีกับเซเลนสกีคุยโทรศัพท์กัน เมื่อเดือน ก.พ.รัฐบาลปักกิ่งเคยเผยแพร่รายงานจุดยืน 12 ข้อของจีนต่อยูเครน เรียกร้องให้มีการสนทนาและเคารพอธิปไตยเหนือดินแดนของทุกประเทศ

ชาติตะวันตกวิจารณ์ว่า ถ้อยคำกำกวม กระนั้นแผนการของจีนก็กระตุ้นให้เซเลนสกีเอ่ยปากว่า เขาจะเปิดการเจรจากับสี

จา หลั่นจง รองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (เอ็นยูเอส) กล่าวว่า การโทรศัพท์คุยกันเมื่อวันพุธเป็น “เป็นความคืบหน้าในทางบวกที่ผู้นำระดับสูงสุดกลับมาติดต่อกันใหม่ แต่ยังเป็นเพียงก้าวแรก ถ้าจะให้คืบหน้ามากกว่านี้จำต้องอาศัยความสามารถบางประการทำให้รัสเซียยับยั้งชั่งใจได้”

ทำไมต้องเป็นตอนนี้

การโทรศัพท์เมื่อวันพุธ เกิดขึ้นหลังจากจีนใช้เสน่ห์ทางการทูตหวังปรับความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับยุโรปและไม่ได้ไปมาหาสู่กันเลยสามปีช่วงโควิด

หลายวันก่อนประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง และเออร์ซูลา วอน เดอร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเพิ่งไปเยือนจีน ตอนใกล้จบทริปมาครงจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ด้วยการบอกกับผู้สื่อข่าวว่า ยุโรปไม่ควรถูกลากเข้าไปในการต่อสู้ระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตันในเรื่องไต้หวันที่ตะวันตกหนุนหลัง

นักวิเคราะห์นาม บิล บิช็อป เขียนไว้ในจดหมายข่าว Sinocism ว่า ปักกิ่งอาจส่งสัญญาณ “ยินดีข้องเกี่ยวกับยูเครน เพื่อลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จีนในอียู” ทั้งยังพยายาม “ขยายเป้าหมายกระตุ้นให้ยุโรปเป็นอิสระทางยุทธศาสตร์ แยกอียูให้ออกห่างจากสหรัฐบ้าง”

ไม่ใช่แค่วิกฤติยูเครน รัฐบาลจีนยังพยายามวางสถานะตนเองเป็นผู้ไกล่เกลี่ยในวิกฤติระหว่างประเทศอื่นๆ ด้วย เช่น เดือนก่อนเป็นตัวกลางให้คู่อริในตะวันออกกลางอย่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านกลับมาดีกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ

อีกหนึ่งความทะเยอทะยานคือปักกิ่งส่งสัญญาณว่ายินดีช่วยอำนวยความสะดวกให้มีการเจรจาระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

จีน-รัสเซีย สัมพันธ์กันแบบไหน

จีนวางตัวเป็นกลางในสงครามยูเครน แต่ไม่กี่ปีมานี้จีนกับรัสเซียเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการติดต่อทางการทูต ความเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นนับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครนที่ปักกิ่งไม่เคยประณามมอสโก แถมยังเรียกความขัดแย้งนี้ว่า “วิกฤตการณ์” ระหว่างเยือนมอสโกในเดือน มี.ค. สีและปูตินประกาศว่า ความสัมพันธ์ทวิภาคีได้เข้าสู่ “ยุคใหม่”

นักวิเคราะห์กล่าวว่า จีนถือไพ่เหนือกว่าในความสัมพันธ์กับรัสเซีย และยิ่งจะเหนือกว่าเรื่อยๆ เมื่อมอสโกถูกประชาคมโลกโดดเดี่ยวมากขึ้นทุกที

โลกมีปฏิกิริยาอย่างไร

เซเลนสกีกล่าวว่า การโทรศัพท์ และการแต่งตั้งทูตยูเครนประจำจีน ให้แรงกระตุ้นอันทรงพลังต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติ

มหาอำนาจตะวันตกมองการสนทนาในทางบวกอย่างระมัดระวัง อียูกล่าวว่า “เป็นก้าวย่างแรกที่สำคัญและควรมีมานานแล้ว” อียูเคยขอให้จีนใช้อิทธิพลที่มีต่อรัสเซีย

เจ้าหน้าที่สำนักประธานาธิบดีฝั่งเศสกล่าวว่า รัฐบาลปารีส “เร่งเร้าให้มีการเจรจาทุกอย่าง” ที่สามารถ “หาทางออกให้กับความขัดแย้ง” เป็นไปตาม “ผลประโยชน์พื้นฐานของเคียฟ” และกฎหมายระหว่างประเทศ

สหรัฐก็ยินดีกับการคุยโทรศัพท์ระหว่างสีกับเซเลนสกี จอห์น เคอร์บี โฆษกความมั่นคงแห่งชาติทำเนียบขาว เรียกว่า “เป็นสิ่งดี”

ด้านมอสโกกล่าวหาว่าเซเลนสกีบ่อนทำลายความพยายามสร้างสันติภาพ รัสเซียพร้อมกับการที่จีนพยายามสร้างกระบวนการเจรจา

จีนจะเป็นตัวกลางเจรจาสันติภาพได้หรือไม่

“สันติภาพไม่มีขีดจำกัด” ที่สีมีกับปูตินทำให้เกิดคำถามถึงความยุติธรรมของผู้นำจีน

ทำเนียบขาวชี้ ยังไม่แน่ชัดว่าความเกี่ยวข้องของจีนจะนำไปสู่ “ความเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพหรือแผนการหรือข้อเสนอที่มีความหมาย” หรือไม่

ฮัน ยาง นักวิเคราะห์ในซิดนีย์ อดีตนักการทูตจีน ทวีตถึงความเห็นของสีเมื่อวันพุธที่ว่า “ไม่มีใครชนะในสงครามนิวเคลียร์” แท้จริงแล้วสีกำลังกดดันเซเลนสกีให้ยอมตามข้อเรียกร้องดินแดนของปูติน “ถ้าคุณไม่เริ่มเจรจา เป็นไปได้ว่ารัสเซียจะทิ้งระเบิด และจะทิ้งใส่คุณ”

ถ้าความพยายามของจีนช่วยให้เกิดการตกลงกันได้ จงจากเอ็นยูเอส ระบุ

“จะเป็นการแสดงถึงความสามารถของปักกิ่งในการแสดงบทบาทสร้างสรรค์ระดับโลก และเผลอๆ อาจเป็นการเน้นย้ำบทบาทของสีในฐานะผู้นำโลกก็ได้”