‘เซเลบ-นักข่าว’เมียนมา เหยื่อปฏิบัติการปิดปากผู้เห็นต่าง

‘เซเลบ-นักข่าว’เมียนมา เหยื่อปฏิบัติการปิดปากผู้เห็นต่าง

ตอนนี้สถานการณ์การเมืองในเมียนมากำลังร้อนระอุ เมื่อรัฐบาลทหารเมียนมาสั่งจับผู้สื่อข่าว, บุคคลที่มีชื่อเสียง ที่วิพากษ์วิจารณ์การใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของกองทัพ

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ทางการเมียนมาได้จับกุมผู้สื่อข่าวและบุคคลที่มีชื่อเสียงอีก 3 คน ที่วิพากษ์วิจารณ์การทิ้งระเบิดถล่มหมู่บ้านในภูมิภาคซะไกง์ ที่คร่าชีวิตประชาชนไป 200 คนรวมทั้งเด็ก

แหล่งขาวในแวดวงยุติธรรมในนครย่างกุ้ง เปิดเผยว่า “จ่อ มิน ซเว” ผู้สื่อข่าวในย่างกุ้ง, นักแสดงหญิง “เมย์ ปา จิ” กับนักร้อง 2 คน คือ “ชเว ยี เส่ง ตุน” และ “เมย์ ลา ทัน ซิน” ถูกตั้งข้อตั้งแต่เมื่อวันพฤหัสบดี (20 เม.ย.) ในข้อหาละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 505 ฐานยุยงให้เกิดความไม่สงบในที่สาธารณะ ซึ่งปกติรัฐบาลทหารจะใช้มาตรา 505 ดำเนินคดีคนที่ต่อต้านระบอบการปกครองในช่วง 26 เดือน นับตั้งแต่เข้ายึดอำนาจโดยการรัฐประหาร

“จ่อ มิน ซเว” ซึ่งเป็นบรรณาธิการบริหารของนิตยสาร The Voice Weekly และยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาข่าวสารและสื่อแห่งเมียนมา ถูกส่งตัวไปยังสถานีตำรวจในเมืองซานชวง ซึ่งแหล่งข่าวในแวดวงกฎหมายระบุว่า มีการแจ้งความนักแสดงหญิง “เมย์ ปา จิ” กับนักร้องสาว “ชเว ยี เส่ง ตุน” ตามมาตรการ 505 ที่สถานีตำรวจในตะกองเหนือ ส่วนนักร้องอีกคนคือ “เมย์ลา ทัน ซิน” ถูกแจ้งข้อหาเดียวกันที่ตะกองตะวันออก
 

ทั้ง 4 คน ถูกกองกำลังรักษาความมั่นคงจับกุมระหว่างวันที่ 11-12 เม.ย.และถูกนำตัวไปที่ศูนย์สอบสวนในย่างกุ้ง หลังจากโพสต์ในบัญชีเฟซบุ๊กต่อต้านการใช้ฏิบัติการโจมตีทางอากาศ กลางพิธีเปิดสำนักงานของกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ที่หมู่บ้านปะสิจี เขตซะไกง์ เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่เชื่อว่าเป็นการโจมตีพลเรือนที่นองเลือดที่สุดในเมียนมา นับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารเมื่อปี 2564 เรียกเสียงประณามจากทั่วโลก

องค์กรสื่อไร้พรมแดน ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ประณามการจับกุมผู้สื่อข่าวและเรียกร้องให้ปล่อยตัวในทันทีและไม่มีเงื่อนไข ซึ่งการจับกุมจ่อ มิน ซเว เป็นอีกหนึ่งการยืนยันถึงความเลวร้ายที่ผู้สื่อข่าวเผชิญในเมียนมา และเป็นรูปแบบทั่วไปของอาชญากรรมสงคราม ที่พยายามลบล้างความคิดเห็นใด ๆ เกี่ยวกับอาชญากรรมที่พวกเขาก่อ และรัฐบาลทหารก็พยายามปิดปากจ่อ มิน ซเว

การไล่จับกุมเหล่าเซเลบของกองทัพเมียนมา เกิดขึ้นหลังจาก"ดอน ปรมัตถ์วินัย" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าพบพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ที่กรุงเนปิดอว์ เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือสามฝ่าย ระหว่างไทย ลาว และเมียนมา เพื่อลดผลกระทบจากปัญหามลพิษข้ามพรมแดน
 

ทั้งสองฝ่ายยังหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่ชายแดนของสองประเทศ การแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ ลักลอบขนยาเสพติดและการค้าอาวุธ ความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน รวมถึงการต่อสู้กับการค้าการลงทุนที่ผิดกฎหมาย

แต่ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างไทยกับเมียนมา ก็ทำให้ผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มสิทธิมนุษยชน แสดงความเป็นห่วงว่า กลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในไทย อาจถูกทางการไทยจับกุมแล้วส่งตัวกลับเมียนมา

เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ทางการไทยเพิ่งจับกุมสมาชิกกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา จำนวน 3 คน บริเวณอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โทษฐานเข้าประเทศผิดกฎหมาย หลังจาก 3 คนนี้ ลอบหนีเข้ามาทางฝั่งไทยเพื่อมารักษาตัว จากการถูกกองกำลังพิทักษ์พรมแดนของเมียนมายิงจนได้รับบาดเจ็บ

ผู้เชี่ยวชาญจากฝั่งไทย ให้ความเห็นว่า การที่ไทยจับสมาชิกกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาส่งกลับประเทศ เหมือนเป็นการส่งสัญญาณให้เมียนมารู้ว่า ถึงแม้ไทยจะช่วยเหลือเมียนมาไม่ได้มาก ในเวทีประชาคมโลก และไทยก็ไม่ต้องการแสดงให้ชาวโลกเห็นว่า เป็นเพื่อนกับเมียนมา แต่กับสถานการณ์ตามแนวพรมแดนแล้ว ไทยพร้อมสนับสนุนกองทัพเมียนมา ให้อาหาร หรือพยายามจับกุมกลุ่มต่อต้านส่งกลับไปให้เมียนมา

ทั้งนี้ ไทยและเมียนมามีพรมแดนเชื่อมต่อกันยาว 2,414 กิโลเมตร ทำให้ไทยกลายเป็นจุดหมายที่คนเมียนมามักหลบหนีเข้ามา

สหประชาชาติ ระบุว่า มีผู้ลี้ภัยจากเมียนมา 91,000 คน อาศัยอยู่ในไทย แต่ในท้ายที่สุด รัฐบาลไทยก็ต้องการปิดค่ายผู้ลี้ภัยเมียนมาทั้งหมดลง