'สนทนาหลังความตาย' เทคโนโลยีเอไอปลุกชีพอาม่า

'สนทนาหลังความตาย' เทคโนโลยีเอไอปลุกชีพอาม่า

เทคโนโลยีเอไอมีเรื่องให้พูดถึงไม่ได้หยุด เช่น พัฒนาแค่ไหนถึงจะพอดี อย่างกรณีหนุ่มเซี่ยงไฮ้ใช้เทคโนโลยีนี้ปลุกชีพอาม่าผู้ล่วงลับ สร้างอาม่าเวอร์ชันเสมือนมานั่งคุยด้วย กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันในจีน

เว็บไซต์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์รายงานว่า เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาชายหนุ่มแซ่อู๋ วัย 24 ปีจากเซี่ยงไฮ้โพสต์คลิปเสียงการสนทนาระหว่างเขากับอาม่าที่เสียชีวิตไปแล้ว กลายเป็นไวรัลทันที ทั้งๆ ที่บทสนทนาก็ไม่ได้ซับซ้อน

“อาม่าครับ ปีนี้ผมกับป๊าจะกลับบ้านไปฉลองตรุษจีนกับอาม่านะครับ ตอนป๊าโทรหาอาม่าครั้งล่าสุด อาม่าคุยอะไรกับป๊าครับ”

“ฉันก็บอกให้เขาอย่าดื่มไวน์ ให้ประหยัด แล้วก็อย่าเล่นไพ่” อาม่าเอไอตอบ

“ครับ อาม่าต้องบอกว่าป๊าควรทำตัวยังไง ป๊าผมน่ะ อายุปาเข้าไปจะ 50  แล้ว ยังดื่มไวน์ทุกวัน ไม่คิดเก็บเงินเลย แล้วอาม่าซื้ออะไรฉลองตรุษจีนครับ” อู๋ตั้งคำถาม

“ฉันซื้อน้ำมันพืชสองขวด ชาวบ้านสกัดเองเลยนะ กลิ่นหอมมาก ฮ่าฮ่า ขวดละ 75 หยวนเอง”

เรื่องของเรื่องคืออู๋รักและผูกพันกับอาม่ามากเพราะเลี้ยงดูเขามาตั้งแต่เด็กหลังพ่อแม่หย่าร้างกัน อาม่าเพิ่งเสียชีวิตจากโควิด-19 เมื่อเดือน ม.ค. โดยช่วงที่อาม่าป่วย อู๋ผู้เป็นดีไซเนอร์ทัศนศิลป์ที่เซี่ยงไฮ้ต้องกลับบ้านมาเฝ้า นอนอยู่ข้างเตียงนาน 15 วัน แต่ไม่มีโอกาสได้ร่ำลาเพราะอาม่าอยู่ในอาการโคมาจนเสียชีวิต

ด้วยความโศกเศร้าจากการจากไปของผู้มีพระคุณ อู๋จึงเกิดไอเดียใช้เทคโนโลยีเอไอ “ปลุกชีพอาม่า” ด้วยการใช้ซอฟท์แวร์ภาพและภาพถ่ายเก่าๆ ของเธอ มาสร้างเป็นภาพเคลื่อนไหว จากนั้นอู๋เทรนเอไอให้เลียนแบบเสียงอาม่าที่เคยอัดไว้ระหว่างพูดคุยกันตอนที่อาม่ายังมีชีวิตอยู่

เท่านั้นยังไม่พอ  อู๋ยังใช้เวลาคุยกับ ChatGPT แชตบอตเอไอเพื่อเรียนรู้วิธีทำให้เอไอมีพฤติกรรมเหมือนอาม่าของเขา

“ผมใส่รายละเอียดชีวิตอาม่าหลายอย่างลงใน ChatGPT หวังว่ามันจะเข้าใจแบ็กกราวด์ครอบครัว  และการพูดของเธอ เพื่อให้มันสื่อสารกับผมได้ด้วยน้ำเสียงของอาม่า ตอนนี้อาม่าสนทนาง่ายๆ กับผมได้แล้ว แต่เมื่อผมพูดซับซ้อนขึ้น เอไอยังไม่เข้าใจ” อู๋เผยเบื้องหลังการทำงาน ซึ่งโครงการ “คืนชีพอาม่า” นี้ทำไปเพื่อความสบายใจเท่านั้น

“แต่ผมรู้สึกดีมากเมื่อได้เห็นอาม่าและได้คุยกับท่านอีก”

เมื่ออู๋เผยคลิปสนทนาบนโซเชียลมีเดียจีนเรียกยอดวิวได้หลายล้านวิว แต่ก็ตามประสาชาวเน็ตที่ไม่ว่าพูดคุยกันเรื่องใดเสียงแตกเป็นสองฝ่าย ทั้งสนับสนุนและคัดค้านเสมอ 

“ฉันเห็นด้วยกับเขา แต่ส่วนตัวไม่กล้าทำเพราะจะทำให้ฉันยิ่งเศร้า”

“มันคือวิธีบรรเทาความโศกเศร้าของคนๆ หนึ่ง สิ่งที่บล็อกเกอร์คนนี้ทำมีความหมายมาก ยังไงก็แล้วแต่ การมีเอไอเป็นเพื่อนก็ถือเป็นเพื่อนรูปแบบหนึ่ง”

เหล่านี้คือเสียงฝ่ายสนับสนุนแต่คนที่ไม่เห็นด้วยก็มี

“คนเราควรเผชิญหน้ากับความจริง การเกิดและตายเป็นปกติของชีวิตไม่ใช่เหรอ”

“นั่นไม่ใช่อาม่าจริง เขาคุยกับเธอไม่กลัวเหรอ ฉันคิดว่าเขาควรปล่อยให้อาม่าสู่สุคติ คิดถึงเธอในใจดีกว่า”

เรื่องของอู๋และอาม่าเป็นแค่ตัวอย่างเล็กๆ ของข้อถกเถียงเกี่ยวกับเอไอ  มุมหนึ่งมองได้ว่าเป็นแค่เรื่องส่วนตัวของชายคนหนึ่งกับย่าผู้ล่วงลับ แต่อีกมุมสะท้อนถึงการใช้เทคโนโลยีสร้างการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่อย่างไรก็เสียก็ต้องส่งผลกระทบต่อสังคมในมุมกว้าง ขณะนี้การถกเถียงยังไม่ตกผลึก เช่นเดียวกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่มีวันถึงจุดสิ้นสุด มีแต่เดินไปข้างหน้าไม่หยุด