‘เยอรมนี’ ปิดเตาปฏิกรณ์ 3 แห่งสุดท้าย ยุติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

‘เยอรมนี’ ปิดเตาปฏิกรณ์ 3 แห่งสุดท้าย ยุติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

เยอรมนีกำลังยุติการทำงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 3 แห่งสุดท้าย และถือเป็นการปิดฉากโครงการพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ของประเทศที่ดำเนินมานานเกือบ 6 ทศวรรษ

เยอรมนีจะถอดปลั๊กโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 3 แห่งสุดท้ายภายในเที่ยงคืนวันเสาร์ที่ 15 เม.ย. ทำให้เครื่องปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เน็คคาร์เวสธาม ใกล้เมืองชตุตการ์ต , โรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีซาร์ทู ในรัฐบาวาเรีย และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เอ็มสลานด์  ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ จะถูกปิดอย่างถาวร ตามกฎหมายแผนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทั้งหมดภายในปี 2035

นับตั้งแต่เยอรมนีเริ่มเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ครั้งแรกในปี 2512 ก่อนหน้านี้ก็มีช่วงเวลาของความแปรปรวนในการตัดสินใจที่จะยุติหรือดำเนินการต่อในการใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อผลิตพลังงานในประเทศ แต่เยอรมนีก็ได้ให้คำมั่นว่าจะเลิกผลิตพลังงานนิวเคลียร์อย่างเด็ดขาด หลังได้เห็นความเลวร้ายที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัตินิวเคลียร์ในฟุกุชิมะของญี่ปุ่นในปี 2554

กำหนดการเดิมของการยุติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังถูกเลื่อนจากปีที่แล้วมาเป็นปีนี้ หลังจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ทำให้เยอรมนีต้องระงับการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลของรัสเซีย ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นและมีความหวาดกลัวเรื่องการขาดแคลนพลังงานทั่วโลก

 

‘เยอรมนี’ ปิดเตาปฏิกรณ์ 3 แห่งสุดท้าย ยุติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

แต่ตอนนี้เยอรมนีมีความมั่นใจอีกครั้งเกี่ยวกับการจัดหาก๊าซและการขยายตัวของพลังงานหมุนเวียน

กระทรวงเศรษฐกิจระบุว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 3 แห่งล่าสุดมีส่วนในการผลิตไฟฟ้าเพียง 5% ในเยอรมนีในช่วง 3 เดือนแรกของปี และพลังงานนิวเคลียร์คิดเป็นเพียง 6% ของการผลิตพลังงานของเยอรมนีในปีที่แล้ว นับเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับ 44% ที่ได้จากพลังงานหมุนเวียน

ชาวเยอรมัน 2 ใน 3 ไม่เห็นด้วยกับการยุติครั้งนี้ หลายคนเชื่อว่าเยอรมนีจะต้องหันกลับไปใช้นิวเคลียร์ในที่สุด หากต้องการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2588 เนื่องจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์จะไม่อาจตอบสนองความต้องการทั้งหมดของประเทศ 

แต่รัฐบาลยืนยันว่าเยอรมนีจะมีพลังงานไฟฟ้ามากเพียงพอที่จะเก็บสำรองและส่งออกนอกประเทศ และจะเริ่มการทยอยปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินระลอกแรกในปี 2573 ก่อนจะปิดทั้งหมดภายในปี 2581 ด้วย อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้านความปลอดภัยจะยังคงมีอยู่ เนื่องจากเพื่อนบ้านอย่างฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ยังคงพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์อย่างมาก