สะดวกใช้ ลำบากกำจัด! “อังกฤษ” สั่งแบน “ทิชชู่เปียก” เริ่มเลย ปีหน้า

สะดวกใช้ ลำบากกำจัด! “อังกฤษ” สั่งแบน “ทิชชู่เปียก” เริ่มเลย ปีหน้า

ลาแล้ว “ทิชชู่เปียก” ที่มีส่วนผสมของพลาสติก หลัง “สหราชอาณาจักร” สั่งแบนตาม “โครงการควบคุมมลพิษทางน้ำ” มีผลบังคับใช้ปีหน้า

เธรีส คอฟฟีย์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม อาหารและชนบท หรือ DEFRA เปิดเผยกับ BBC News ว่า หลังจากประชุมหารือกันได้ข้อสรุปว่า “ทิชชู่เปียก” จะถูกห้ามใช้ในสหราชอาณาจักรในปีหน้า เป็นไปตามแผนการปรับปรุงคุณภาพแหล่งน้ำทางธรรมชาติทั่วอังกฤษ

“ที่จริงเราต้องการให้พลาสติกออกจากการเป็นส่วนผสมของทิชชู่เปียก เพราะฉะนั้นเราจึงออกกฎหมายเพื่อให้แน่ใจว่าเราสามารถแบนพลาสติกได้จริงๆ” คอฟฟีย์ กล่าวเสริม

แม้ว่าในปัจจุบันทิชชู่เปียกหลายแบรนด์จะผลิตจากวัสดุที่ย่อยสลายได้แล้ว แต่กระดาษเช็ดทำความสะอาดแบบเปียกประมาณ 90% ที่ผลิตออกมาในปี 2564 มีส่วนผสมของพลาสติก ซึ่งทิชชู่เปียกประเภทนี้จะไม่สลายตัว และ 93% ของทั้งหมดจะจับตัวกันเป็นก้อน จนกลายเป็นภูเขาไขมัน (Fatbergs) ทำให้ท่อระบายน้ำอุดตัน เหล่าของเสียไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ตามปกติ จากรายงานของ Water UK องค์กรพัฒนานโยบายเกี่ยวกับน้ำในอังกฤษระบุว่า ต้องเสียค่าใช้จ่ายราว 100 ล้านปอนด์ สำหรับทำความสะอาด กำจัดสิ่งแปลกปลอม เพื่อให้ท่อระบายน้ำทำงานได้ปกติ

รัฐบาลอังกฤษมีแผนกำจัดขยะพลาสติกรวมถึงทิชชู่เปียกมาตั้งแต่ปี 2018 ต่อมาในปี 2021 รัฐบาลได้ประชุมหารือ และทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับการห้ามใช้ทิชชู่เปียกที่มีส่วนผสมของพลาสติก พบว่า 96% ของประชาชนเห็นด้วย จนกลายเป็นกฎหมายที่จะเริ่มบังคับใช้ในปีหน้า

หลายบริษัท และร้านค้าเริ่มขานรับกับกฎหมายนี้แล้ว ร้าน Boots และ ห้างสรรพสินค้า Tesco ได้ยุติการขายทิชชู่เปียกที่มีส่วนประกอบของพลาสติกเป็นที่เรียบร้อย แต่ในเวลส์นั้นยังไม่มีการห้ามใช้กระดาษชำระแบบเปียกที่มีพลาสติกเป็นส่วนประกอบ ขณะที่สกอตแลนด์ยังอยู่ในขั้นตอนการปรึกษาหารือเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว

การห้ามใช้ทิชชู่เปียกเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Plan for Water” ของ DEFRA มีจุดประสงค์ต้องการปรับปรุงคุณภาพน้ำของอังกฤษ รวมถึงการห้ามใช้สารเคมีชั่วนิรันดร์ (Forever Chemical) หรือ PFAS ตลอดจนแก้ปัญหามลพิษจากการทำฟาร์ม และของเสียจากท้องถนน

 

  • หลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้

องค์กรการกุศลด้านสิ่งแวดล้อม River Action UK กล่าวว่า รัฐบาลล้มเหลวในการจัดการน้ำมาหลายปีแล้ว และปล่อยให้แม่น้ำเน่าเสียจากน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดจากการเกษตร

“DEFRA จะทำให้ประชาชนเชื่อถือได้อย่างไรว่า จะบังคับกฎหมายนี้อย่างเข้มงวด ในเมื่อทุกวันนี้รัฐบาลยังล้มเหลวในการใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมเลย” ชาร์ลส วัตสัน ซีอีโอของ River Action UK กล่าว

ขณะที่ ฝ่ายค้านบอกว่ากฎหมายนี้มาช้าเกินไป โดย จิม แมคมาฮอน ส.ส. พรรคแรงงาน ผู้ทำหน้าที่เป็น รมต. เงาของ DEFRA กล่าวว่า “การประกาศนี้เป็นเรื่องไร้สาระ ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น และเป็นการนำมาตรการเก่ามาใช้ใหม่ ซึ่งทำให้การทิ้งสิ่งปฏิกูลลงแม่น้ำเกิดขึ้นได้อีกหลายทศวรรษ”

ด้าน ทิม ฟาร์รอน โฆษกสิ่งแวดล้อมพรรคเดโมแครตเสรีนิยมเรียกกฎหมายนี้ว่าเป็น “เรื่องตลกสิ้นดี” พร้อมระบุว่า “เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลอนุรักษนิยมกำลังหลอกประชาชนด้วยการประกาศนโยบายเก่าเก็บเมื่อ 5 ปีก่อน”

อย่างไรก็ตาม Yorkshire Water บริษัทผลิตน้ำประปาในสหราชอาณาจักร เห็นด้วยกับคำสั่งห้ามใช้ เนื่องจากในเมืองยอร์กเชียร์ ทิชชู่เปียกเป็นสาเหตุที่ใหญ่ที่สุดของการอุดตัน และเป็นสาเหตุเกือบครึ่งหนึ่งในปี 2565 ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินหลายล้านปอนด์สำหรับล้างท่อจากทิชชู่เปียก

ในส่วนของสหภาพยุโรปออกคำสั่งห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งรวมไปถึง หลอดดูด ขวดพลาสติก และภาชนะใส่กลับบ้านที่ทำจากโพลีสไตรีน ซึ่งเป็นขยะที่พบได้มากตามท้องถนนและชายหาด ทั้งนี้ไม่ได้ครอบคลุมถึงทิชชู่เปียกที่มีส่วนผสมของพลาสติก แต่ผู้ผลิตจะต้องใส่คำเตือนบนบรรจุภัณฑ์ว่ามีส่วนผสมของพลาสติก และไม่ควรทิ้งลงในชักโครก พร้อมผู้ผลิตทิชชู่เปียกจะต้องช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดมลพิษที่ก่อให้เกิดอีกด้วย


ที่มา: BBCEuro News

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์