นักวิทยาศาสตร์เตือน '6 ภัยที่ต้องระวัง' เมื่อ 'เอลนีโญ' มาเยือน

นักวิทยาศาสตร์เตือน '6 ภัยที่ต้องระวัง' เมื่อ 'เอลนีโญ' มาเยือน

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นสัมภาษณ์นักวิทยาศาสตร์หลายแขนงเกี่ยวกับปรากฏการณ์เอลนีโญที่กำลังมาเยือนในปี 2566 นี้รวมถึงในอนาต ว่าโลกเราจะเกิดผลกระทบจากสภาพอากาศที่รุนแรงอย่างไรบ้าง โดยนักวิทยาศาสตร์เตือนภัยไว้ถึง 6 อย่าง !

เอลนีโญและลานีญา เป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน ลานีญาเกิดจากอุณหภูมิมหาสมุทรที่เย็นกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ขณะที่เอลนีโญทำให้เกิดอุณหภูมิที่ร้อนกว่าปกติ แต่ทั้งสองปรากฏการณ์ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศทั่วโลกอย่างมาก และการเปลี่ยนสภาพอากาศสู่เอลนีโญจะทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นตามไปด้วย

'แดเนียล สเวน' นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย บอกว่า โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากลานีญาสู่เอลนีโญในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนเรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่า เอลนีโญจะรุนแรงมากเพียงใด บ้างก็คาดการณ์ว่า อาจรุนแรงจนถึงระดับสูงสุดหรืออาจมีความรุนแรงระดับปานกลาง แต่สิ่งที่ชัดเจนคือ โลกร้อนจากฝีมือมนุษย์ ทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงเป็นประวัติการณ์ในหลายส่วนทั่วโลก

6 สภาพอากาศรุนแรงที่ต้องระวัง มีดังนี้

นักวิทยาศาสตร์เตือน \'6 ภัยที่ต้องระวัง\' เมื่อ \'เอลนีโญ\' มาเยือน

1.อุณหภูมิโลกอาจเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

เอลนีโญ อาจทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส สูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมในช่วงกลาง-ปลายยุค 1800

นักวิทยาศาสตร์นับว่าอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศา เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น อาจทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างหนักเกิดความแห้งแล้ง ไฟป่า และขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง

โจเซฟ ลูเดสเชอร์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจากสถาบันพอตสตัมเพื่อการวิจัยสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นว่า ปี 2567 อาจเป็นปีที่โลกร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์คือปี 2559 หลังเกิดเอลนีโญอย่างรุนแรง

นักวิทยาศาสตร์เตือน \'6 ภัยที่ต้องระวัง\' เมื่อ \'เอลนีโญ\' มาเยือน

2.สหรัฐอาจเกิดฝนตกหนัก

แคลิฟอร์เนียเกิดฝนตกและหิมะถล่มเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา และอาจรุนแรงมากขึ้นเมื่ออยู่ในช่วงที่เกิดเอลนีโญ

เมื่อเอลนีโญเริ่มขึ้น ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า หลายรัฐในสหรัฐอาจเกิดฝนตกหนักมากกว่าปกติ มีความเสี่ยงก่อให้เกิดน้ำท่วม ดินถล่ม และเกิดการกัดเซาะชายฝั่ง

'แบรด ริปปีย์' นักอุตุนิยมวิทยาจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐ เผยว่า ปรากฏการณ์นี้อาจช่วยบรรเทาความแห้งแล้งในลุ่มแม่น้ำโคโลราโดได้

ทั้งนี้ สถานการณ์ในแม่น้ำโคโลราโด ที่เป็นแหล่งน้ำดื่ม การชลประทาน และพลังงานไฟฟ้าให้กับประชาชนทั่วภาคตะวันตกเฉียงใต้ 40 ล้านคน ประสบปัญหาจากการใช้น้ำมากเกินไป และภัยแล้งที่เกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

วิกฤตขาดแคลนน้ำ กลายเป็นเรื่องน่ากังวลจนรัฐบาลกลางสหรัฐต้องประกาศให้ลดการใช้น้ำอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในช่วงสองปีที่ผ่านมา

นักวิทยาศาสตร์เตือน \'6 ภัยที่ต้องระวัง\' เมื่อ \'เอลนีโญ\' มาเยือน

3.อุณหภูมิสูง ภัยแล้ง ไฟป่า มาเยือนอีกครั้ง

เอลนีโญอาจทำให้เกิดความแห้งแล้งมากขึ้น เกิดคลื่นความร้อนรุนแรง และเกิดไฟป่าที่อันตรายได้

แอฟริกาใต้ และอินเดียเป็นประเทศที่เสี่ยงเกิดภัยแล้งและความร้อนรุนแรง เช่นเดียวกับประเทศที่อยู่ใกล้แปซิฟิกตะวันตก ทั้งอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก อาทิ วานูอาตู และฟิจิ

เอลนีโญอาจทำให้ออสเตรเลียแห้งแล้งมากขึ้น อากาศร้อนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะทางตะวันออกของประเทศ

'คีเรน ฮันต์' นักวิทยาศาสตร์วิจัย จากมหาวิทยาลัยรีดดิงในอังกฤษ กล่าวว่า เอลนีโญยังทำให้อุณหภูมิในอินเดียสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งก่อนหน้านี้อินเดียเคยประสบกับคลื่นความร้อนที่มาเร็วกว่าปกติ ซึ่งคลื่นความร้อนและเอลนีโญจะทำให้ฝนเริ่มตกล่าช้าในประเทศอังกฤษด้วย

นักวิทยาศาสตร์เตือน \'6 ภัยที่ต้องระวัง\' เมื่อ \'เอลนีโญ\' มาเยือน

4.ไซโคลนรุนแรงมากขึ้น

เอลนีโญอาจทำให้เกิดพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกน้อยลง แต่สร้างผลกระทบตรงกันข้ามในมหาสมุทรแปซิฟิก เนื่องจากน้ำอุ่นสามารถเป็นเชื้อเพลิงก่อให้เกิดพายุไต้ฝุ่นที่รุนแรงขึ้นได้

'จอน กอตต์ชาลค์' หัวหน้านักพยากรณ์ จากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ กล่าวว่า “พายุหมุนเขตร้อนมักก่อตัวขึ้นทางตะวันตกไกลออกไป ทั้งยังคงมีกำลังแรงและนานขึ้น ดังนั้น ฮาวายอาจได้รับผลกระทบมากขึ้น”

ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ในเอเชียแปซิฟิก สเวน บอกว่า แบบจำลองแสดงให้เห็นว่า น้ำที่อุ่นมาก ๆ นอกชายฝั่งเปรูซึ่งทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมมากกว่าปกติในแถบทะเลทราย เป็นเหตุการณ์เอลนีโญที่สำคัญ

นักวิทยาศาสตร์เตือน \'6 ภัยที่ต้องระวัง\' เมื่อ \'เอลนีโญ\' มาเยือน

5.ปะการังฟอกขาว

เมื่อน้ำทะเลร้อนเกินไป ปะการังจะคายสาหร่ายที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อออกมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ให้สีและพลังงานส่วนใหญ่แก่ปะการัง จนทำให้ปะการังเปลี่ยนเป็นสีขาว จึงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘การฟอกขาว’ แม้ว่าปะการังจะฟื้นตัวได้หากอุณหภูมิเย็นลง แต่การฟอกขาวมีความเสี่ยงสูงทำให้ปะการังอดอาหารและตายได้

'ปีเตอร์ ฮุก' อาจารย์จากมหาวิทยาลัยทกัมมารีน ที่ศึกษาเกี่ยวกับปะการังในไมโครนีเซีย กล่าวว่า ไม่ว่าเอลนีโญเกิดขึ้นเมื่อใด ปรากฏการณ์นี้ยังถือเป็นโอกาสให้เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับปะการัง ว่าจะตอบสนองและมีจุดที่สามารถฟื้นตัวได้อย่างไร

นักวิทยาศาสตร์เตือน \'6 ภัยที่ต้องระวัง\' เมื่อ \'เอลนีโญ\' มาเยือน

6.น้ำแข็งแอนตาร์กติกาละลายรวดเร็ว

ผลการวิจัยแบบจำลองล่าสุด บ่งชี้ว่า เอลนีโญสามารถช่วยเร่งให้น้ำแข็งแอนตาร์กติกาละลายเร็วขึ้นได้

นักวิทยาศาสตร์กำลังจับตาดูแอนตาร์กติกาอย่างใกล้ชิด เพราะภูมิภาคนี้มีน้ำจำนวนมากในรูปน้ำแข็ง แม้ว่าแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกไม่อาจละลายจนหมด แต่น้ำที่ละลายก็เพียงพอที่จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 70 เมตร

'เหวินจู ข่าย' หัวหน้านักวิทยาศาสตร์วิจัยจาก CSIRO บอกว่า ในระยะสั้น ปรากฏการณ์เอลนีโญก่อให้เกิดผลกระทบที่แตกต่างกันทั่วแอนตาร์กติกา แต่การเพิ่มขึ้นและลดลงของน้ำแข็งในพื้นที่ต่างๆ เมื่อนำมารวมกันแล้ว มีแนวโน้มชัดเจนว่า “น้ำแข็งในทะเลโดยรวมจะลดลง”