ติ๊กต็อกอเมริกันแนะ "ใช้เงินสด" กระตุ้นออม - ปลดหนี้ ในยุคเงินเฟ้อพุ่งสูง

ติ๊กต็อกอเมริกันแนะ "ใช้เงินสด" กระตุ้นออม - ปลดหนี้ ในยุคเงินเฟ้อพุ่งสูง

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า การกลับไปใช้เงินสดเพื่อควบคุมการใช้จ่ายอาจเป็นเทรนด์ที่ล้าสมัย แต่ในยุคเงินเฟ้อพุ่งสูง ผู้บริโภคจำนวนมากพบว่า วิธีใช้เงินสดควบคุมรายจ่ายได้ดี

“จูเดีย กรีเนอร์” ติ๊กต็อกเกอร์วัย 25 ปี เริ่มใช้เงินสดเมื่อสองปีก่อน ในตอนที่เธอยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยโอลด์โดมิเนียน ในรัฐเวอร์จิเนียของสหรัฐ ขณะนี้บัญชีติ๊กต็อกของเธอมีผู้ติดตามมากกว่า 200,000 คน

“ฉันจำเป็นต้องใช้เงินตัวเองจ่ายค่าเทอม ดังนั้น ฉันจึงไม่อยากมีหนี้สินมากเกินไป ตอนแรกไม่รู้ต้องทำอย่างไร เพราะไม่ทราบว่าตนเองมีเงินมากเท่าไร” กรีเนอร์ กล่าว

เช่นเดียวกับ "จัสมิน เทย์เลอร์" ติ๊กต็อกเกอร์วัย 31 ปี ที่เปิดบัญชีติ๊กต็อกเมื่อเดือนก.พ.2564 และตอนนี้มีผู้ติดตามกว่า 620,000 คน กล่าวว่า “ฉันมีวุฒิปริญญานะ แต่ไม่มีวี่แววจะหางาน การเงินก็ย่ำแย่ และฉันเป็นคนชอบชอปปิง”

ทั้งสองคนจึงตัดสินใจเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย ใช้เทคนิคจ่ายเงินสดกับทุกสิ่งทุกอย่าง โดยแบ่งเงินเป็นหลายๆ ซอง สำหรับการใช้จ่ายที่แตกต่างกัน เช่น ค่าเช่าที่พัก ค่าชอปปิง ฯลฯ

ติ๊กต็อกอเมริกันแนะ "ใช้เงินสด" กระตุ้นออม - ปลดหนี้ ในยุคเงินเฟ้อพุ่งสูง

เงินสด สร้างพฤติกรรมออมเงิน

แม้วิธีใช้เงินสดล้าหลัง และใช้จ่ายไม่สะดวกในยุคนี้ เพราะบางธุรกิจไม่รับเงินสดแล้ว แต่วิธีดังกล่าวช่วยให้กรีเนอร์ประหยัดเงิน 7,500 ดอลลาร์ เพื่อนำไปจ่ายค่าเทอมได้

กรีเนอร์ บอกว่า เธอเห็นตนเองใช้จ่ายเงินสดทั้งหมด และช่วยให้เธอควบคุมการใช้จ่ายได้

เทย์เลอร์เห็นผลเช่นกัน เธอใช้จ่ายด้วยเงินสด 95% จนสามารถปลดหนี้ กยศ.ได้ 32,000 ดอลลาร์ หนี้บัตรเครดิต 8,000 ดอลลาร์ และหนี้ด้านการดูแลสุขภาพ 5,000 ดอลลาร์

“ค่อนข้างเป็นปัญหาที่คนรุ่นฉันเป็นทุกข์เพราะลัทธิบริโภคนิยม และใช้จ่ายทุกอย่างเกินตัว” กรีเนอร์ กล่าว

การปลดหนี้คือ ปัญหาแห่งชาติในประเทศที่ปล่อยบัตรเครดิตมากมาย กระตุ้นให้ครัวเรือนมีหนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

 

ติ๊กต็อกอเมริกันแนะ "ใช้เงินสด" กระตุ้นออม - ปลดหนี้ ในยุคเงินเฟ้อพุ่งสูง

เงินสดช่วยออม แต่ไม่เพิ่มมูลค่า

สำหรับ “ปรียา มาลานี” ผู้ก่อตั้งสแตชเวลธ์ บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินให้กับคนรุ่นใหม่ เนื่องจากเศรษฐกิจถดถอยมีผลต่อความสำเร็จของการออมเงิน กล่าวว่า

“ด้วยอุปสรรคมากมาย ทั้งคริปโทเคอร์เรนซีล่ม การดีดกลับของตลาดหุ้น เศรษฐกิจถดถอย และปัจจัยอื่นๆ ทำให้ผู้คนหาแนวทางควบคุมการใช้เงิน การถือเงินดอลลาร์ในมือช่วยให้เกิดความสะดวกสบาย”

แต่ “เจสัน โฮเวลล์” ศาสตราจารย์สาขาการจัดการความมั่งคั่งจากมหาวิทยาลัยอเมริกัน เตือนว่า ปี 2566 อาจเสียเวลาไปกับการเก็บเงินไว้ที่บ้าน เพราะการเก็บเงินไม่ได้เพิ่มผลประโยชน์ และทำให้ค่าเงินลดลง

เทย์เลอร์ ผู้ที่เก็บซองจดหมายอัดแน่นไปด้วยเงินไว้ที่ตู้เซฟในบ้าน ตระหนักถึงคำเตือนดังกล่าวเช่นกัน เธอยังคงนำเงินฝากธนาคารเมื่อออมเงินได้ 1,000 ดอลลาร์ขึ้นไป

ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองคนทราบดีว่า ไม่มีการกลับไปใช้เงินสดเป็นวงกว้างในสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้เงินสดลดลง และนิยมใช้บัตรเครดิตกับการจ่ายผ่านโทรศัพท์มือถือ

สำนักวิจัยพิว ระบุว่า ในปี 2565 คนอเมริกัน 4 ใน 10 (41%) บอกว่า จะไม่ใช้จ่ายด้วยเงินสดในช่วงสัปดาห์ปกติ ซึ่งในปี 2558 มีเพียง 24% เท่านั้น

แต่กรีเนอร์ เชื่อว่า การใช้จ่ายด้วยเงินสด ยังคงแสดงให้เห็นถึงความเพอร์เฟ็กต์ของระบบออมเงินของผู้เริ่มต้นออม เพื่อจัดการงบประมาณให้ดีขึ้น