‘โควตาเข้าสภา’ แต้มต่อหรือข้อด้อย ‘นักการเมืองหญิงอาเซียน’

‘โควตาเข้าสภา’ แต้มต่อหรือข้อด้อย  ‘นักการเมืองหญิงอาเซียน’

แม้ยังไม่ทราบว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสิ้นสุดลงด้วยการยุบสภาหรืออยู่ไปจนครบวาระสี่ปี แต่ปี่กลองการเมืองได้เริ่มขึ้นแล้ว

เนื่องในวันสตรีสากล (8 มี.ค.) ที่ผ่านพ้นไปไม่นาน สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยโดยเอกอัครราชทูตมาร์ค กูดดิ้ง, มูลนิธิเวสต์มินส์เตอร์เพื่อประชาธิปไตย (ดับเบิลยูเอฟดี) และสถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทยโดยเอกอัครราชทูตซาราห์ เทย์เลอร์ ร่วมกันจัดงานเปิดตัวรายงาน การเป็นผู้นำทางการเมืองของผู้หญิงในภูมิภาคอาเซียน พร้อมตั้งวงเสวนา การทะลายอุปสรรคของการเป็นผู้นำทางการเมืองของผู้หญิง กรณีประเทศไทย บรรยากาศเต็มไปด้วยความคึกคักสะท้อนถึงความพร้อมมีส่วนร่วมทางการเมืองของทุกเพศ 

ดร.เอม สินเพ็ง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ หัวหน้าคณะนักวิจัย เปิดเวทีว่า การวิจัยชิ้นนี้ศึกษาอุปสรรคที่ผู้หญิงต้องเผชิญในการแสวงหาความเป็นผู้นำทางการเมือง แสดงให้เห็นถึงปัจจัยเชิงโครงสร้าง สถาบัน เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่ขัดขวางผู้หญิงไม่ให้มีส่วนร่วมทางการเมือง ความเป็นผู้นำ และการปกครองได้อย่างเต็มที่ โดยศึกษามุ่งเน้นประเทศในภูมิภาคอาเซียน และศึกษาเชิงลึกในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย วิธีการศึกษาใช้การรวบรวมข้อมูลเชิงสถิติ สัมภาษณ์แหล่งข้อมูล 45 คนในสามประเทศดังกล่าว และวิเคราะห์โซเชียลมีเดีย

ข้อค้นพบจากงานวิจัย 

*ขณะที่ผู้หญิงมีสิทธิเข้าถึงอำนาจทางการเมืองอย่างเท่าเทียมมากกว่าแต่ก่อน แต่ความเสมอภาคทางเพศด้านการเป็นผู้นำทางการเมืองยังคงล้าหลัง ผู้ชายยังถูกมองว่าเป็นผู้นำทางการเมืองได้ดีกว่าผู้หญิง 

*69% เจออุปสรรคกว่าจะเป็นผู้นำทางการเมืองได้ อีกกว่า 30% ที่ไม่เจออุปสรรคเป็นเพราะมาจากครอบครัวการเมือง 

*จำนวนผู้หญิงที่เป็นผู้นำทางการเมืองไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก และทุกครั้งที่มีรัฐบาลทหารจำนวนผู้หญิงในการเมืองจะลดลง 

*ผู้นำทางการเมืองหญิงในภูมิภาคอาเซียน แบ่งได้สามประเภทกว้างๆ 1) ผู้สร้างเครือข่าย คือ ผู้หญิงที่ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายอำนาจ ครอบครัว ธุรกิจ และพรรคการเมืองเพื่อเข้าถึงตำแหน่งผู้นำ 2) ผู้บุกเบิก คือ ผู้นำทางการเมืองระดับรากหญ้าที่สร้างเส้นทางใหม่สู่ความเป็นผู้นำทางการเมืองเพื่อให้ผู้อื่นเดินตาม และ 3) นักเคลื่อนไหว เป็นกลุ่มที่เผชิญกับอุปสรรคมากที่สุดในการเป็นผู้นำทางการเมือง เนื่องจากไม่มีทุนทางการเมือง ธุรกิจ และสังคม 

*พรรคการเมืองและหน่วยงานความมั่นคงเป็นสถาบันที่เป็นอุปสรรคต่อการเป็นผู้นำทางการเมืองของผู้หญิงมากที่สุด พรรคการเมืองมีบทบาทเหมือนคนเฝ้าประตู (Gatekeeper) ที่เปิดโอกาสหรือขัดขวางผู้หญิงในการเข้าสู่ตำแหน่งที่มีอำนาจ ขณะที่หน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐปราบปรามผู้นำทางการเมืองหญิงทั้งในการเมืองที่เป็นทางการและระดับรากหญ้า ก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลัว การข่มขู่ และความรุนแรง

*ผู้นำทางการเมืองหญิงที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ประสบกับความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางออนไลน์มากขึ้นโดยเฉพาะการใช้คำพูดแสดงความเกลียดชัง (Hate speech) กล่าวง่ายๆคือ ผู้หญิงอายุน้อยที่ใช้สื่อโซเชียลมากตกเป็นเหยื่อความรุนแรงได้มากกว่า 

ความรุนแรงที่ผู้นำทางการเมืองหญิงต้องเจอ มีทั้งเฟคนิวส์ กุข่าวขึ้นมาโจมตี, คุกคามส่วนตัว เช่น ขู่ฆ่า ขู่ข่มขืน, คุกคามทางเพศบนช่องทางออนไลน์ เช่น ส่งรูปที่ไม่ควรส่งมาให้, กีดกันทางเพศ เช่น ผู้ชายนัดกันตีกอล์ฟหรือเลี้ยงสังสรรค์คุยงานกันดึกๆ ดื่นๆ อย่างที่ผู้หญิงไม่อาจเข้าร่วมได้ ถือเป็น everyday sexism, รัฐบาลคุกคาม ข่มขู่ จำคุก ซึ่งไทยมีปัญหานี้มากที่สุด, การแสดงความเห็นคุกคามทางอินเทอร์เน็ต 

ปัจจัยด้านโครงสร้างที่จะส่งเสริมผู้หญิง ได้แก่ 

*การกำหนดโควตาเลือกตั้งช่วยเพิ่มจำนวนผู้หญิงในการเป็นผู้นำทางการเมืองได้ ซึ่งโควตามีทั้งแบบกฎหมายบังคับและสมัครใจ

*ประชาธิปไตย น่าสังเกตว่าในประเทศระบอบพรรคเดียวอย่างเวียดนามและลาว มีนักการเมืองหญิงจำนวนมากเพราะมีโควตา แต่ถ้าไม่กำหนดประเทศประชาธิปไตยจะมีนักการเมืองหญิงมากกว่า 

*วัฒนธรรม ประเด็นนี้ไทยดีที่สุดในสามประเทศ จำนวนคนไทยที่คิดว่าการมีนักการเมืองหญิงเป็นเรื่องดี เพิ่มจำนวนขึ้นทุกครั้งโดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่  แต่ในอินโดนีเซียและมาเลเซียมองต่าง ถือว่าไทยมีวัฒนธรรมที่ตอบรับมากกว่า 

*เศรษฐกิจที่ไม่เหลื่อมล้ำ เป็นอีกหนึี่งปัจจัยเสริม เพราะถ้าเศรษฐกิจเหลื่อมล้ำสูงผู้หญิงจะเข้าสู่การเมืองน้อยลง 

ข้อเสนอแนะงานวิจัย

สนับสนุนการกำหนดโควตาผู้นำทางการเมืองหญิง ทำให้พรรคการเมืองดึงผู้สมัครหญิงเข้ามามากขึ้น สร้างวัฒนธรรมส่งเสริมผู้นำหญิง ฝึกอบรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างปลอดภัย และลดการซื้อขายเสียง 

จากงานวิจัยสู่เวทีเสวนา ปุรวิชญ์ วัฒนสุข นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า ชายเดียวบนเวที ยกตัวอย่างงานวิจัยการมีผู้หญิงเพิ่มขึ้นในรัฐสภามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือไม่ พบว่า ที่อาร์เจนตินามีกฎหมายกำหนดโควตาผู้นำทางการเมืองหญิงส่งผลให้มีการออกกฎหมายใหม่เกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับที่อูกันดา การถกเถียงกันเรื่องความเสมอภาคทางเพศเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่รวันดาที่มีการกำหนดโควตาเช่นกันกลับไม่เป็นไปตามนั้น กรณีประเทศไทย นักวิชาการรายนี้ระบุ 

“พรรคการเมืองไทยขาดแรงจูงใจในการดึงผู้สมัครหญิงเข้ามามากขึ้น ดังนั้นต้องทำให้พรรคเห็นประโยชน์ซึ่งก็คือจะได้คะแนนเสียงจากกลุ่มผู้หญิงมากขึ้น” 

ศิริภา อินทวิเชียร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สังคมไทยเลี้ยงลูกให้เชื่อว่า ผู้หญิงมีบทบาทดูแลครอบครัว เมื่อมีการศึกษามากขึ้นผู้หญิงมีบทบาทด้านธุรกิจ

“มายด์เซ็ตของผู้ปกครองคือลูกมีอาชีพมั่นคง รายได้มั่นคง ซึ่งไม่ใช่อาชีพนักการเมือง เมื่ออาชีพนี้ไม่น่าสนใจผู้หญิงก็ต้องคิดหนักในการเล่นการเมือง” จากมายด์เซ็ตดังกล่าวส่งความท้าทายต่อเนื่องกับผู้หญิงที่เข้าไปในสภา 

“เข้ามาแล้วจะขับเคลื่อนกฎหมายเกี่ยวกับผู้หญิงได้แค่ไหน ในเมื่อสัดส่วนผู้หญิงมีแค่ 16% เท่านั้น” ศิริภาตั้งคำถาม 

วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เล่าว่า เธอมีพื้นฐานจากการทำสภาพแรงงานมาก่อน การอยู่ในบัญชีรายชื่ออันดับ 3 ของพรรคอนาคตใหม่ (ก่อนถูกยุบพรรค) ถัดจากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยะบุตร แสงกนกกุล เพราะพรรคเห็นว่า “ผู้หญิงส่วนใหญ่ในประเทศไทยก็คือผู้หญิงแบบนี้” จึงถึงเวลาที่เธอต้องก้าวออกมา เพราะรอให้คนอื่นทำนโยบายให้ก็คงไปไม่ถึงเป้าหมาย 

เรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา (จีดีอาร์ไอ) เริ่มต้นด้วยข้อแย้งจากบางคน “จะส่งเสริมให้มีผู้นำทางการเมืองหญิงจำนวนมากไปทำไม มีผู้หญิงมากก็ไม่ได้รับรองว่าการเมืองจะดีขึ้น” แต่เรืองรวีอ้างงานวิจัยจากทั่วโลกที่พบว่า ยิ่งผู้หญิงมีส่วนร่วมมากการทุจริตยิ่งลด และเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยในระบบตัวแทน

ส่วนประเทศพรรคการเมืองเดียวอย่างเวียดนามและลาว การที่ผู้หญิงมีส่วนร่วมในสภามากเพราะมีกลไกส่งเสริมผู้หญิงในระดับชาติ เช่น มีกระทรวงจัดงบประมาณดูแลโดยเฉพาะ ดังนั้น การกำหนดโควตาผู้หญิงแบบบังคับจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมหาศาล 

ผู้ร่วมเสวนาสรุปถึงกลไกส่งเสริมผู้นำทางการเมืองหญิง ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการกำหนดโควตาเพศ ที่เปรียบเสมือนแต้มต่อซึ่งใช้ไประยะหนึ่ง เมื่อมีผู้นำทางการเหมืองหญิงหรือเพศหลากหลายมากพอก็ไม่ต้องกำหนดโควตาอีกต่อไป ในระดับสังคมจะต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ตจากสังคมชายเป็นใหญ่ให้ยอมรับความเท่าเทียมกันทางเพศสภาพ ส่งเสริมวัฒนธรรมทางการเมืองให้ผู้หญิงเข้ามาเล่นการเมืองมากขึ้น 

รัดเกล้า สุวรรณคีรี จากพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวนอกรอบเวทีเสวนาว่า ข้อเสนอให้มีการตั้ง Gender Quota หรือการตั้งโควตาให้ผู้หญิงมีจำนวนมากขึ้นในพรรคการเมืองและในการเลือกตั้งถือเป็นข้อเสนอที่ดี สอดคล้องกับแนวคิดที่หลายองค์กรเรียกร้องมาโดยตลอด เธอเองมีความเชื่อและความตั้งใจไปในทิศทางเดียวกัน ต้องมีการดูแล “เพิ่มอัตราส่วนของคนทำงานเพศหญิงให้อยู่ในอัตราส่วนเท่าเทียมกันกับผู้ชาย” 

อย่างไรก็ตาม ปุรวิชญ์ ตั้งข้อสังเกตที่ไม่ควรมองข้าม “จำนวนผู้หญิงที่จะสร้างผลสะเทือนได้คือ 30%” แต่ในสภาไทยมีผู้หญิงราว 15% เขาเองเกรงว่า การให้โควตาจะเป็นเพียงพิธีกรรม และไม่เห็นด้วยกับการบังคับให้มี Gender Quota แต่อยากให้เป็นการริเริ่มจากพรรคการเมืองมากกว่า สอดคล้องกับสื่อมวลชนหญิงหนึ่งรายที่ร่วมแสดงความคิดเห็น การมีผู้นำทางการเมืองหญิงมากน้อยไม่สำคัญเท่ากับการสนับสนุนผู้หญิงเก่ง การให้โควตาบางครั้งอาจไม่ได้เป็นการส่งเสริม แถมยังเป็นการตัดโอกาสคนเก่งด้วยซ้ำ