'อารมณ์ถวิลหาความหลัง'หนุนญี่ปุ่นเป็นแดนสวรรค์นักสะสมของวินเทจ

'อารมณ์ถวิลหาความหลัง'หนุนญี่ปุ่นเป็นแดนสวรรค์นักสะสมของวินเทจ

กล้องใช้ฟิล์มกลายเป็นของย้อนยุคที่ล้ำค่าของเหล่านักสะสมไปแล้ว ขณะที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากที่ไปเยือนชูโกคาเมราบ็อกซ์ ย่านชินจูกุของญี่ปุ่นก็เพื่อตามล่าหากล้องมือสองที่ถ่ายรูปแบบใช้ฟิล์ม

    ขณะที่ความต้องการสินค้าอนาล็อกเป็นที่นิยมไปทั่วโลก นักท่องเที่ยวต่างชาติแห่เดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อหาไวนิลหรือแผ่นบันทึกเสียง กล้องถ่ายรูป และเกมซอฟต์แวร์มือสอง หรือไอเท็มยอดนิยมบางอย่างจากยุค 1980-1990 ซึ่งเป็นยุคที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และแก็ดเจ็ตเริ่มเข้าสู่ตลาดทั่วโลก เพราะญี่ปุ่นมีสินค้ามือสองเหล่านี้ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติช็อปกันแบบไม่อั้น 

     ตึกทาวเวอร์เรคคอร์ดชิบูยา เป็นสถานที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนจำนวนมากนับตั้งแต่ญี่ปุ่นผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 เมื่อเดือน ต.ค. ปี 2565 และวันธรรมดาช่วงบ่าย กลางเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาในโซนแผ่นเสียงไวนิล ชั้น 6 ของตึกทาวเวอร์เรคคอร์ดชิบูยากรุงโตเกียว จะมีการแพ็คแผ่นไวนิลกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ

ยอดซื้อแผ่นเสียงไวนิลในเดือน ธ.ค. ปี 2565 ประมาณ 30% มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเพิ่มสัดส่วนเป็น 40% ในเดือน ม.ค. ปีนี้

“แซม รีด” นักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียวัย 18 ปี ที่เดินทางไปญี่ปุ่น รู้สึกประหลาดใจที่แผ่นเสียงในญี่ปุ่นถูกกว่าบ้านเกิดของเขา และรู้สึกเซอร์ไพรส์กับแผ่นเสียงไวนิลที่มีสภาพดีมาก

“สึโยชิ โทโนเอะ” ผู้จัดการร้านแผ่นเสียงบอกว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของร้านไม่ใช่คนญี่ปุ่น ด้วยชื่อเสียงและราคาสมเหตุสมผลจึงดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ดี

เห็นได้ว่า แม้แพลตฟอร์มสตรีมมิงมาแทนที่แผ่นซีดี แต่แผ่นเสียงบางชนิดยังสามารถมอบความสุขแก่ผู้คนได้  ด้วยการให้ก๊อปปี้เพลงโปรดได้ด้วยตนเอง ซึ่งแผ่นเสียงอนาล็อกมีเสียงเป็นเอกลักษณ์ สร้างความเพลิดเพลินได้เป็นอย่างดี จนช่วยจุดกระแสให้แผ่นเสียงไวนิลเป็นที่นิยมไปทั่วโลก

ช่วงยุค 80-90 ซึ่งเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นประสบกับภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ ประเทศต้องระงับทัวร์เหล่าศิลปินในอุตสาหกรรมดนตรีชั้นนำจำนวนมาก แต่ในปัจจุบัน แผ่นเสียงไวนิลมากมาย รวมถึงแผ่นเสียงที่นำเข้าจากสหรัฐ อังกฤษ และสินค้าลิมิเต็ดอิดิชันในญี่ปุ่น มีการซื้อขายหมุนเวียนในตลาดมากขึ้น ส่งผลให้แผ่นเสียงที่หลายคนเก็บรักษาอย่างดี มีวางจำหน่ายในสภาพดีและมีให้ให้นักสะสมเลือกซื้อหลายประเภท

นอกจากนี้ “ซิตีป็อบ” แนวเพลงที่พัฒนาในญี่ปุ่นช่วงยุค 70 และยุค 80 เป็นแนวเพลงถูกใจแฟนคลับต่างชาติเช่นกัน ซึ่งหาฟังได้จากโซเชียลมีเดีย ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหาซื้อแผ่นเสียงไวนิลของนักร้อง"ทัตสุโร ยามาชิตะ" และศิลปินญี่ปุ่นคนอื่น ๆ ตามมา ประกอบกับเงินเยนอ่อนค่า ลูกค้าต่างชาติจึงซื้อแผ่นเสียงไวนิลในญี่ปุ่นได้ในราคาที่ถูกกว่าประเทศตนเอง

ทาโนเอะ กล่าวว่า “นักท่องเที่ยวต่างชาติบางคนซื้อไวนิลพรีเมียมราคาสูงถึง 100,000-200,000 เยน” (ประมาณ 25,700-21,500 หมื่นบาท)

กล้องใช้ฟิล์ม ถือเป็นของย้อนยุคที่ล้ำค่าของนักสะสมด้วยเช่นกัน นักท่องเที่ยวหลายคนเยือนชูโกคาเมราบ็อกซ์ ในย่านชินจูกุ ณ กรุงโตเกียว เพื่อตามล่าหากล้องมือสอง

“นภัทร ปิ่นทอง” ช่างภาพจากประเทศไทย ที่เดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อหาซื้อกล้องใช้ฟิล์ม บอกว่า “ญี่ปุ่นมีกล้องหลากหลายประเภทมากกว่าไทย และผมเห็นได้ในทันทีเลยว่า กล้องใช้ฟิล์มของญี่ปุ่นได้รับการดูแลอย่างดี”
 

ทั้งนี้ กล้องใช้ฟิล์มสร้างความฮือฮาเป็นอย่างมาก จากการที่อินฟลูเอนเซอร์โพสต์รูปภาพฟิล์มสุดโปรดลงในโซเชียลมีเดีย เพราะคนหนุ่มสาวที่โตมากับสมาร์ทโฟนและกล้องดิจิทัลความละเอียดสูง เห็นว่า คุณภาพของรูปภาพจากกล้องฟิล์มให้มุมมองการถ่ายภาพที่แปลกใหม่

“ทากะฟูมิ โมริมิตสุ” ผู้จัดการร้านคลาสสิคคาเมราโมริตส์ ในย่านชิบูยา บอกว่า ลูกค้าประมาณ 70% ของร้าน เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ และกล้องฟิล์มจากยุค 80 และยุค 90 ขายดี และคนญี่ปุ่นใช้กล้องฟิล์มในยุคดังกล่าวจำนวนมาก ทำให้ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในคลังกล้องมือสองที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ส่วนกล้องที่เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติคือ กล้อง Contax T series เป็นกล้องคอมแพคระดับไฮเอนด์ ซึ่งมีหลายรุ่น

เปิดตัวโดยบริษัทเคียวเซราในยุค 80

Contax series กลายเป็นที่นิยมหลังนางแบบ"เคนดัล เจนเนอร์" แนะนำกล้องให้กับผู้ติดตามของเธอในโซเชียลมีเดีย จนทำให้ราคากล้องพุ่งแตะ 100,000-200,000 เยน จากเดิมช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ราคากล้องอยู่ที่หลักหมื่นเยนเท่านั้น 

ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวประเทศญี่ปุ่นเพื่อหาซื้อกล้องดิจิทัลความละเอียดต่ำ ที่ผลิตในช่วงต้นยุค 2000 รวมถึงกล้องใช้ฟิล์ม

นอกจากนี้ เกมย้อนยุคยังดึงดูดนักล่าสมบัติต่างชาติได้เช่นกัน โดยลูกค้า 80% ของร้านซุปเปอร์โปเตโตอากิฮาบาระ ในย่านอากิฮาบาระ ศูนย์กลางสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของกรุงโตเกียวเป็นชาวต่างชาติ

ผู้จัดการร้านเกมย้อนยุค เผยว่า ราคาเกมบางตัว เช่น ซุปเปอร์มาริโอและเกมซีรีส์ไฟนอล แฟนตาซี แพงขึ้น 2 เท่า ซึ่งช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 เกมเหล่านี้มีราคาอยู่ที่ 200-300 เยนเท่านั้น

“อัสติน คาร์เพนเทอร์” นักท่องเที่ยวจากสหรัฐที่ซื้อเกม 5 เกมที่สร้างขึ้นเพื่อเพลย์สเตชันเวอร์ชันแรก กล่าวว่า “เกมมิงซอฟแวร์สามารถเล่นผ่านทางออนไลน์ได้ทางเดียวในสหรัฐ ซึ่งจำหน่ายในราคามากกว่า 50 ดอลลาร์ (1,725 บาท) แต่ในญี่ปุ่นจำหน่ายเพียง 1,000 เยน (256 บาท) จากเดิม 200-300 เยน”

ภาคตะวันตกของญี่ปุ่นเป็นแหล่งวิดีโอเกมวินเทจเช่นกัน ซึ่งในร้านเกมทันเตดันในเมืองโอซากา มีนักท่องเที่ยวไปเยือนเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ประมาณ 70%

“ทาคายูกิ คามิมาเอะ” ผู้จัดการร้านเกมกล่าวว่า “ปัจจุบันลูกค้าร้านครึ่งหนึ่งเป็นชาวต่างชาติ” และในบรรดาเกมอื่น ๆ เกมซอฟแวร์สำหรับเล่นผ่านเครื่องเล่นคอนโซล เช่น ซุปเปอร์ฟามิคอม และเมกะไดรฟ์ต่างขายดี ส่วนเกมหายากบางเกม ราคาแพงกว่าสมัยเปิดตัวครั้งแรกถึง 10 เท่า

ยุค 80 และยุค 90 ที่กลับมาเฉิดฉายอีกครั้งเพราะความนิยมของย้อนยุค เป็นช่วงเวลาที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นที่ติดตั้งเทคโนโลยีล้ำสมัยรุ่งเรืองมาก แถมยังเป็นช่วงที่คนญี่ปุ่นใช้จ่ายเงินทั้งในและต่างประเทศกันอย่างคึกคัก