เปิดศึกชิงหุ้นใหญ่ "SM" ดรามายิ่งกว่าซีรีส์เกาหลี

เปิดศึกชิงหุ้นใหญ่ "SM" ดรามายิ่งกว่าซีรีส์เกาหลี

ดูเผินๆ นี่เหมือนกับซีรีส์ดรามาเกาหลีที่มีคนดูหลายล้านคน เรื่องของการต่อสู้ดุเดือดในบอร์ดบริหารบริษัท ทนายความค่าตัวแพง การซื้อกิจการอย่างไม่เป็นมิตรและการประชุมผู้ถือหุ้นเดิมพันสูง แต่พล็อตเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในชีวิตจริงเมื่อเจ้าพ่อวงการเคป็อบต่อสู้กับหลานชายเพื่อควบคุมบริษัทดนตรีที่เขาก่อตั้งขึ้นมาเองกับมือ

นี่คือเรื่องราวของไฮบ์ (HYBE) บริษัทเบื้องหลังวงดังบีทีเอส และยักษ์เทคโนโลยี "กาเกา" (KAKAO) ในศึกใหญ่เพื่อควบคุมอนาคตอุตสาหกรรมหลายพันล้านดอลลาร์ ที่เรื่องราวเกือบทั้งหมดถูกจุดชนวนด้วยชายนาม “อี ชางฮวาน” activist investor ชาวเกาหลีใต้ 

ต้นปีก่อน กองทุน Align Partners ของอี ชางฮวานซื้อหุ้น 1% ใน เอสเอ็ม เอนเตอร์เทนเมนท์ (SM Entertainment) บริษัทเพลงใหญ่สุดแห่งหนึ่งของเกาหลีใต้ ที่ช่วยนำเคป็อปออกไปดังระดับโลก ดูแลวงดังยุคแรกๆ อาทิ บอยแบนด์ “ซูเปอร์จูเนียร์” และ SHINee

อี ชางฮวานใช้หุ้นดังกล่าวขัดขวางการปฏิรูปองค์กร โดยกล่าวว่าอี ซูมาน ผู้ก่อตั้งเอสเอ็ม ที่เรียกกันว่า ก็อดฟาเธอร์แห่งวงการเคป็อป หลอกเอาเงินหลายล้านดอลลาร์ทุกปีในรูปของค่าที่ปรึกษา

“มันไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย” อี ชางฮวาน ให้สัมภาษณ์เอเอฟพีเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เงินดังกล่าว ซึ่งคิดเป็น 6% จากยอดขายในแต่ละปีของบริษัทจดทะเบียนเอสเอ็ม เอนเตอร์เทนเมนท์ จ่ายให้กับบริษัทเอกชนที่ชื่อ ไลค์ แพลนนิงบริษัทที่มีอี ซูมานเป็นเจ้าของและควบคุมกิจการทั้งหมด

นักลงทุน วัย 36 ปีรายนี้ถูกเลี้ยงดูมาด้วยแม่เลี้ยงเดี่ยว และสร้างเนื้อสร้างตัวมาเอง เขาเป็นที่รู้จักของผู้คนครั้งแรกตอนชนะเลิศเกมโชว์ดังทางโทรทัศน์

อี ชางฮวาน แฉต่อว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาบริษัทแก้วตาดวงใจของอี ซูมานกวาดเงินไปแล้วเกือบ 1.6 แสนล้านวอน (4,200 ล้านบาท) ขณะที่เอสเอ็มเสี่ยงเสื่อมเสียชื่อเสียงและเสียหายทางการเงินครั้งใหญ่ผลจากพฤติกรรมของผู้ก่อตั้ง

ผู้สร้างเคป็อป

อี ซูมานไม่เพียงแค่ตั้งเคป็อปแบนด์ในช่วงทศวรรษ 90 อย่าง H.O.T. และS.E.S. ที่ความสำเร็จของวงช่วยวางรากฐานให้กับวงรุ่นหลังไม่ว่าจะเป็นบีทีเอสหรือแบล็กพิงค์ แต่ยังเป็นผู้สร้างวิธีการทำงานทั้งหมดของอุตสาหกรรมด้วย

เขาบุกเบิกการฝึกฝนอย่างเอาจริงเอาจังและจัดการเหล่าไอดอล (ดาราเคป็อปที่ผ่านมาฝึกฝนมาอย่างดี) แนวคิดของเขาในการผสานการแสดงที่โดดเด่นและการรุกตลาดต่างประเทศ ช่วยทำให้เอสเอ็มเอนเตอร์เทนเมนท์เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการ

อี ซูมานตั้งบริษัทนี้ขึ้นใน พ.ศ.2532จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2543 ดังนั้นเขาจึงเดือดดาลอย่างมากในปีที่แล้ว เมื่อฝ่ายจัดการของเอสเอ็มเอนเตอร์เทนเมนท์ รวมทั้งหลานชายของเขาเห็นชอบกับการประเมินของอี ชางฮวาน แล้วยุติข้อตกลงไม่เป็นธรรมกับไลค์แพลนนิง

เห็นได้ชัดว่าเป็นการแก้แค้น อี ซูมานขายหุ้นใหญ่ของเขาในเอสเอ็ม 14.8% ให้กับไฮบ์(HYBE) อดีตคู่แข่งที่ดูแลวงบีทีเอส ในราคา 325 ล้านดอลลาร์ ความเคลื่อนไหวนี้ทำให้ไฮบ์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดรายเดียวในเอสเอ็มเอนเตอร์เทนเมนท์ เรียกเสียงประท้วงเดือดจากฝ่ายบริหารของเอสเอ็ม ว่านี่คือการซื้อกิจการอย่างไม่เป็นมิตร ทำให้ไฮบ์ผูกขาดและทำลายศักยภาพมหึมาของอุตสาหกรรมเคป็อป

เพื่อให้ได้อำนาจควบคุมกลับคืนมา ฝ่ายบริหารของเอสเอ็มต้องใช้กาเกา บริษัทเทคโนโลยีมั่งมีเงินสด เจ้าของแอพพลิเคชันส่งข้อความยอดนิยมของประเทศ ตอนนี้กาเกาพยายามซื้อหุ้นใหญ่ของเอสเอ็มเพื่อขัดขวางไฮบ์

หุบเขาแห่งความตาย

ความขัดแย้งนี้เผยให้เห็นถึงดรามาการสืบทอดกิจการของครอบครัว เมื่ออี ซองซู ซีอีโอเอสเอ็ม หลานชายของอี ซูมาน ผู้ก่อตั้งบริษัท ใช้ยูทูบเป็นเวทีสาวไส้ให้กากิน ด้วยการกล่าวหาอาว่าใช้บริษัทต่างประเทศหลบเลี่ยงภาษี หลานชายต้องการให้อา “คุกเข่าแล้วขอโทษสำหรับอาชญากรรมที่ทำไว้”

“อาครับ หยุดซะตอนนี้เถอะครับ นี่เป็นหนทางเดียวที่จะปกป้องอาจากหุบเขาแห่งความตาย” หลานชายคร่ำครวญผ่านคลิปเผยแพร่ทางออนไลน์

อี ซูมานไม่ตอบข้อกล่าวหาของหลานชาย เอเอฟพีพยายามขอความเห็นยังติดต่อไม่ได้ แต่สำนักข่าวยอนฮัพของเกาหลีใต้รายงานว่า อี ซูมานเคยกล่าวว่า อี ซองซู เป็น “หลานที่ดี” เขาร้าวรานใจมากจากความขัดแย้งนี้

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ดรามาเรื่องนี้สะท้อนปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานในตระกูลธุรกิจใหญ่ของเกาหลีใต้ (แชโบล) ครอบครัวผู้ก่อตั้งใช้อำนาจมากมายผ่านเครือข่ายการถือหุ้นไขว้อันซับซ้อน เปิดทางให้พวกเขาใช้อำนาจอย่างตรวจสอบไม่ได้ทั้งๆ ที่ไม่ได้ถือหุ้นใหญ่

อย่างกรณีประธานบริษัทซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ ผู้เป็นทายาทตระกูลผู้ก่อตั้ง ถูกดำเนินคดีและจำคุกโทษฐานทุจริตเมื่อปี 2560 เพิ่งได้รับการอภัยโทษจากประธานาธิบดีเมื่อปีที่ผ่านมา

อี ชางฮวานจาก Align Partners กล่าวว่า กรณีเอสเอ็มเอนเตอร์เทนเมนท์ก็แบบเดียวกัน

“นี่คือตัวอย่างแย่ๆ ของคนที่บริหารบริษัทราวกับเป็นบริษัทของตนเอง ไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือไม่ มันยากที่จะยอมรับได้ในฐานะผู้ถือหุ้น” อี ชางฮวานให้ความเห็น นอกจากนี้เขายังคัดค้านการขอซื้อหุ้นใหญ่ของไฮบ์ โดยให้เหตุผลว่า ความพยายามสร้างการผูกขาดเป็นลางร้ายของตลาด

“เราคิดว่าโอกาสที่เคป็อปจะโตต่อมีมากมายมหาศาล” อี ชางฮวานกล่าวและว่า เขาเริ่มมองลู่ทางการลงทุนในอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้เมื่อต้นปี 2564

“บีทีเอสประสบความสำเร็จใหญ่โตไปเรียบร้อยแล้ว และเราได้เห็นฐานแฟนคลับเคป็อปก่อกำเนิดขึ้นในอเมริกาเหนือและยุโรป” เอสเอ็มเอนเตอร์เทนเมนท์ต่ำกว่าราคาตลาดเพราะปัญหาการจัดการ จึงเป็นเป้าหมายที่ดีสำหรับ activist investor อย่างเขา