1 ปีสงครามรัสเซีย-ยูเครน เปิดจุดยืนมหาอำนาจ

1 ปีสงครามรัสเซีย-ยูเครน เปิดจุดยืนมหาอำนาจ

การเยือนกรุงเคียฟของประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐ เมื่อวันจันทร์ (20 ก.พ.) ไม่กี่วันก่อนครบรอบหนึ่งปีรัสเซียรุกรานยูเครนในวันที่ 24 ก.พ. ย่อมส่งผลสะเทือนไม่มากก็น้อย ทั้งหมดนี้เห็นได้จากท่าทีของสามมหาอำนาจผู้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

ไบเดนสนับสนุนยูเครนนานเท่านาน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน หลังพบประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีของยูเครนที่กรุงเคียฟ ไบเดนเดินทางถึงกรุงวอร์ซอว์ของโปแลนด์เมื่อกลางดึกวันจันทร์ (20 ก.พ.)เพื่อพบกับประธานาธิบดีอันด์เช ดูดา หารือเรื่องการสนับสนุนร่วมให้กับยูเครน และขอบคุณรัฐบาลวอร์ซอว์ที่ช่วยสหรัฐและประเทศอื่นๆ ส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและทหาร

ตกเย็น ไบเดนปราศรัยระดมการสนับสนุนให้ยูเครน เมื่อสงครามที่จะเข้าสู่ปีที่ 2 ในวันที่ 24 ก.พ. ยังไม่เห็นวี่แววยุติ

“ประธานาธิบดีไบเดนจะสร้างความชัดเจนว่า สหรัฐยืนเคียงข้างยูเครนต่อไป อย่างที่คุณได้ยินเขาพูดบ่อยครั้ง ตราบนานเท่านาน” จอห์น เคอร์บี โฆษกด้านความมั่นคงแห่งชาติทำเนียบขาวกล่าว

ตอนไบเดนอยู่ในกรุงเคียฟเมื่อวันจันทร์ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐประกาศความช่วยเหลือยูเครนเพิ่มเติม ประกอบด้วยกระสุนปืนใหญ่, ระบบต่อต้านรถถัง และเรดาร์ป้องกันภัยทางอากาศ มูลค่า 450 ล้านดอลลาร์ และด้านโครงสร้างพื้นฐานพลังงาน 10 ล้านดอลลาร์ แต่ไบเดนยังไม่อนุมัติเครื่องบินรบให้ยูเครนตามคำขอ

โฆษกทำเนียบขาวรายหนึ่งเผยว่า สัปดาห์นี้สหรัฐจะประกาศคว่ำบาตรเพิ่มเติมบุคคลและบริษัทที่ "พยายามหลบเลี่ยงการคว่ำบาตรและเติมเต็มเครื่องจักรสงครามของรัสเซีย
 

การเยือนกรุงเคียฟของไบเดนเกิดขึ้นหนึี่งวันก่อนประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแถลงผลงานประจำปี กำหนดเป้าหมายสงครามปีที่ 2 ที่เขาเรียกว่า สงครามตัวแทนต้านพลังอาวุธของวอชิงตันและนาโต (องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ)

หนึ่งปีก่อนไบเดนเคยเตือนพันธมิตรผู้ไม่เชื่อว่า การเสริมกำลังทหารรัสเซียขนานใหญ่ตามแนวชายแดนยูเครนเป็นการเตรียมตัวสู่สงคราม

ในตอนนั้นแม้แต่คนในรัฐบาลวอชิงตันบางคนก็ไม่เชื่อว่า ยูเครนจะสามารถต้านทานการรุกรานได้ คาดกันว่ากรุงเคียฟน่าจะถูกยึดโดยเร็ว แต่กลายเป็นว่านักรบยูเครนครองเคียฟไว้และผลักดันรัสเซียออกไปได้ในบางพื้นที่ที่เคยยึดไว้ช่วงสัปดาห์แรกๆ ของสงคราม อานิสงส์จากอาวุธ กระสุน และยุทโธปกรณ์มหาศาลจากชาติตะวันตก

สหรัฐให้ความช่วยเหลือด้านความมั่นคงแก่ยูเครนกว่า 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ทางการประเมินว่าสงครามอาจต่อเนื่องไปอีกหลายเดือนหรืออาจจะหลายปี
 

จีนย้ำไม่เติมเชื้อไฟ

เมื่อไบเดนถึงยูเครนหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน เดินทางไปในทิศทางตรงกันข้าม เขากำลังไปรัสเซีย มอสโกคือปลายทางสุดท้ายในทริปยุโรปแปดวันเพื่อแสดงให้โลกเห็นว่า จีนพยายามดำเนินการทางการทูตอย่างสมดุลนับตั้งแต่รถถังรัสเซียบุกยูเครนเมื่อหนึ่งปีก่อน

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงาน ทำเนียบเครมลินเผยว่า หวังอาจพบกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย ถ้าทั้งคู่พบกันจริงภาพหวังกับปูตินจับมือกันภายในพระราชวังเครมลินย่อมเทียบได้กับภาพไบเดนเดินเล่นกับเซเลนสกีกลางแจ้งท่ามกลางเสียงไซเรนเตือนภัยการโจมตีทางอากาศ

ในเวทีประชุมความมั่นคงมิวนิกเมื่อวันเสาร์ (18 ก.พ.) ที่เยอรมนี หวังแถลงต่อเจ้าหน้าที่ยุโรปในฐานะ “เพื่อนรัก” และโอ้อวดถึงความมุ่งมั่นต่อสันติภาพของจีน พร้อมๆ กับพยายามสร้างสมดุลระหว่างยุโรปกับสหรัฐ

“เราไม่เติมเชื้อไฟ และเราไม่แสวงหาประโยชน์จากวิกฤตินี้” คำกล่าวของหวังสะท้อนโฆษณาชวนเชื่อออกอากาศในรายการข่าวยามค่ำคืนที่ว่า สหรัฐพยายามให้สงครามยืดเยื้อเพื่อประโยชน์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ของตน และเพิ่มกำไรให้ผู้ผลิตอาวุธ

“บางคนอาจไม่ต้องการเห็นการเจรจาสันติภาพเป็นรูปธรรม พวกเขาไม่แคร์ชีวิตและความตายของชาวยูเครนหรืออันตรายต่อยุโรป พวกเขาอาจมีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ใหญ่กว่ายูเครน เพราะฉะนั้นสงครามนี้ต้องไม่ดำเนินต่อไป” หวังกล่าวพร้อมกระตุ้นให้ทางการยุโรปคิดถึง “กรอบการทำงานที่จะนำสันติภาพยั่งยืนมาสู่ยุโรป บทบาทที่ยุโรปควรเล่นเพื่อแสดงความเป็นอิสระในยุทธศาสตร์ของตน”

 หวังประกาศด้วยว่าจีนเตรียมเผยแพร่รายงานจุดยืนจีนที่มีต่อวิกฤติยูเครน แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าจะมีการเผยแพร่เมื่อใด น่าจะราวๆ วันครบรอบหนึ่งปีรัสเซียรุกรานยูเครน

ปูตินมั่นใจไม่แพ้

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย แถลงผลงานประจำปีต่อสมาชิกรัฐสภาและกองทัพ เมื่อวันอังคาร (21 ก.พ.) ว่า รัสเซียจะค่อยๆ แก้ไขภารกิจที่กำลังเผชิญในยูเครนอย่างระมัดระวัง ให้คำมั่นเดินหน้าสงครามต่อไป เตือนชาติตะวันตกระวังการเผชิญหน้ากันระดับโลก

“ประชาชนยูเครนกลายเป็นตัวประกันของระบอบเคียฟและเจ้านายตะวันตก ที่ยึดครองประเทศไปเรียบร้อยแล้วทั้งด้านการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจ พวกเขาตั้งใจเปลี่ยนความขัดแย้งในท้องถิ่นให้กลายเป็นการเผชิญหน้ากันระดับโลก นี่คือสิ่งที่เราเข้าใจและเราจะรับมือตามนั้น เพราะในกรณีนี้เรากำลังพูดถึงการดำรงอยู่ของประเทศเรา”

ส่วนการเอาชนะรัสเซียนั้นผู้นำวัย 70 ปีย้ำว่า เป็นไปไม่ได้ รัสเซียจะไม่อ่อนข้อให้กับความพยายามของชาติตะวันตกที่จะแบ่งแยกสังคมรัสเซีย และว่าชาวรัสเซียส่วนใหญ่สนับสนุนสงคราม

ในด้านเศรษฐกิจ ปูตินกล่าวว่าตะวันตกล้มเหลวในการทำลายเศรษฐกิจรัสเซียด้วยมาตรการคว่ำบาตรรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่

“พวกเขาต้องการทำให้ประชาชนยากลำบาก แต่สิ่งที่พวกเขาคิดไว้ไม่จริง เศรษฐกิจรัสเซียและการจัดการกลับกลายเป็นว่าแข็งแกร่งกว่าที่คิดมาก” ปูตินกล่าว

ทั้งนี้ ความขัดแย้งในยูเครนถือเป็นเดิมพันใหญ่สุดของประธานาธิบดีรัสเซียนับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ทั้งยังเป็นเดิมพันของผู้นำชาติตะวันตกอย่างประธานาธิบดีไบเดนที่กล่าวว่า ปูตินต้องพ่ายแพ้

นับตั้งแต่เริ่มสงครามกองกำลังรัสเซียต้องพบกับความพลิกผันในสมรภูมิสามครั้งใหญ่ แต่ยังควบคุมพื้นที่ราวหนึ่งในห้าของยูเครน