‘โควิด-19’เปิดช่องโรคเบาหวาน ‘เอเชีย-แอฟริกา’ทะยาน

‘โควิด-19’เปิดช่องโรคเบาหวาน ‘เอเชีย-แอฟริกา’ทะยาน

นิกเคอิ เอเชีย ระบุว่าจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานในเอเชียและแอฟริกาเพิ่มขึ้นมาก เพราะความกินดี อยู่ดีของผู้คน ประกอบกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่จำกัดการทำกิจกรรมนอกบ้าน รวมทั้งพฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้คนเปลี่ยนไป

ปากีสถาน มีผู้ป่วยเบาหวานในปี 2564เพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2563 ถึง 5 เท่า โดยประชาชนในช่วงอายุประมาณ 20-79 ปี ป่วยเป็นเบาหวานแล้ว 30%

“มาติอุลเลาะห์ ข่าน” แพทย์ต่อมไร้ท่อจากโรงพยาบาลชิฟา อินเตอร์เนชันแนลในกรุงอิสลามาบัด บอกว่า“แต่ก่อน โรคเบาหวานในปากีสถานเกิดขึ้นกับประชากรในวัย 40 ปี จากนั้นพบในวัย 30 ปี และต่อมาพบในวัย 20 ปี และตอนนี้้เราพบผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในกลุ่มวัยรุ่น"

อย่างไรก็ตาม หากไม่เข้ารับการรักษาโรคเบาหวานให้หาย ก็อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น โรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง, และทำให้ตาบอดได้

ด้านเจ้าหน้าที่จากศูนย์โรคเบาหวาน องค์กรไม่แสวงหากำไรในกรุงอิสลามาบัด กล่าวว่า “ประชาชนจำนวนมากในปากีสถานขาดความรู้ และความระมัดระวังเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ผู้คนใส่ใจกับโรคนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับโรคหัวใจ ในส่วนของรัฐบาลเอง ไม่มีนโยบายให้ความรู้และเตือนถึงจำนวนผู้ป่วยเบาหวานในปากีสถาน ที่พุ่งขึ้นอย่างมาก

โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดขึ้น เมื่อตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เพียงพอ หรือร่างกายไม่สามารถใช้ฮอร์โมนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เบาหวานประเภทที่ 1 เกิดจากการที่เซลล์ผลิตอินซูลินไม่ทำงาน ส่วนเบาหวานประเภทที่ 2 เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถเก็บน้ำตาลในเลือดไว้ในระดับปกติได้ เนื่องจากเป็นโรคอ้วนหรือขาดการออกกำลังกาย และเบาหวานประเภทที่ 2 มีสัดส่วน 90% ของผู้ป่วยเบาหวานโดยรวมทั่วโลก

ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ระบุว่า โรคเบาหวานเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 9 ของโลก แต่หากน้ำตาลในกระแสเลือดสูงอย่างต่อเนื่อง โรคนี้ก็อาจทำลายหลอดเลือดในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงให้เป็นโรคอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด และทำให้เสียชีวิต

สมาพันธ์เบาหวานระหว่างประเทศ ระบุว่า ประชาชนในประเทศเกิดใหม่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเบาหวานมากกว่า พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าผู้ป่วยเบาหวานในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกาจะเพิ่มขึ้นถึง 560 ล้านคน ภายในปี 2588 เพิ่มขึ้น 50% จากปี 2564 ทั้งยังคาดว่า ในภูมิภาคเอเชียใต้จะมีผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มขึ้น70% เป็น 220 ล้านคนส่วนประเทศในแอฟริกาซับสะฮารา จะเพิ่มขึ้น 2.3 เท่าเป็น 55 ล้านคนสวนทางกับผู้ป่วยเบาหวานในยุโรปและอเมริกาเหนือที่อาจลดลง 1.1-1.2 เท่า

อาหารท้องถิ่นในเอเชียและแอฟริกาส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีแคลอรี่และไขมันต่ำ แต่อาหารที่มีแคลอรี่และไขมันสูงมักอยู่ในอาหารของบรรดาชาติตะวันตก และเมื่อร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดตามเมืองใหญ่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ผู้คนก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรทและไขมันจนนำไปสู่โรคอ้วนและโรคเบาหวาน

ผลการศึกษาชิ้นหนึ่ง ระบุว่า ประชากรวัยผู้ใหญ่ในปากีสถานประมาณ 50% เป็นโรคอ้วน

ขณะที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สถานการณ์โรคเบาหวานแย่ลง เนื่องจากมาตรการควบคุมในหลายด้านกระทบต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันของประชาชน โดยผลศึกษาของเจฟฟรีย์ เอช. ไทสัน แพทย์โรคหัวใจและผู้ช่วยศาสตรจารย์จากมหาวิทยาลัแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก และนักวิจัยคนอื่น ๆ ที่วิเคราะห์ข้อมูลจากแอปอาร์กัส ระบุว่า การเดินในชีวิตประจำวันของคนทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 4,997 ก้าว จากเดือน พ.ค.-พ.ย. ในปี 2564 ลดลง 10% จากช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด ส่วนการเดินของผู้คนในเอเชียลดลง 30%