‘นั่งรถไฟเหาะตีลังกา’นิยามการทำธุรกิจยุครัฐประหารในเมียนมา

‘นั่งรถไฟเหาะตีลังกา’นิยามการทำธุรกิจยุครัฐประหารในเมียนมา

‘นั่งรถไฟเหาะตีลังกา’นิยามการทำธุรกิจยุครัฐประหารในเมียนมา โดยเศรษฐกิจเมียนมาย่ำแย่หนักหลังทหารก่อรัฐประหาร บรรดานักลงทุนต่างชาติพากันถอนการลงทุนจากประเทศนี้

เมียนมา  มิตรประเทศในอาเซียนที่มีรั้วบ้านติดกับไทย ยังไม่ดีขึ้นทั้งในมิติของการเมืองและเศรษฐกิจ ปัญหาการใช้ความรุนแรง การทารุณกรรมและการสังหารผู้ที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมืองในดินแดนนี้ยังคงมีอยู่และดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนเศรษฐกิจ ยังคงเป็นปัญหาท้าทายใหญ่ที่ไร้เสถียรภาพไม่แพ้การเมือง

เว็บไซต์อัลจาซีราห์นำเสนอรายงานในหัวข้อ“การนั่งรถไฟเหาะตีลังกาในระบบเศรษฐกิจยุคหลังรัฐประหารของเมียนมา” โดยเปิดเรื่องด้วยคำพูดของ“อ่อง เท็ต” ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจในย่างกุ้ง ที่ให้นิยามการทำธุรกิจภายใต้การปกครองของทหารว่าให้ความรู้สึกเหมือนการนั่งรถไฟเหาะตีลังกา

เศรษฐกิจของเมียนมาย่ำแย่อย่างหนักหลังทหารก่อรัฐประหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อสองปีก่อน บรรดานักลงทุนต่างชาติพากันถอนการลงทุนจากประเทศ และบรรดานายพลในกองทัพบังคับให้บริษัทต่างๆ ที่รวมถึงบริษัทของอ่องเท็ตให้แปลงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของบริษัทเป็นเงินจ๊าดของเมียนมา เรื่องนี้จุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในแวดวงต่างๆ

“ตอนนี้บรรยากาศในการทำธุรกิจในเมียนมาแย่เอามากๆสำหรับนักธุรกิจ และมีความเสี่ยงสูงที่จะมีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลหนักยิ่งกว่านี้”อ่อง ให้ความเห็น

แต่ถือว่าอ่องค่อนข้างโชคดี  บริษัทของเขาอยู่ในภาคส่งออกด้านการเกษตรและแทบไม่ได้รับผลกระทบตราบใดที่เกษตรกรในประเทศยังคงผลิตสินค้าเกษตรประเภทต่างๆและส่งออกไปขายให้ต่างชาติ ที่รวมถึงแอฟริกาและยุโรป

‘นั่งรถไฟเหาะตีลังกา’นิยามการทำธุรกิจยุครัฐประหารในเมียนมา

ตั้งแต่ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยนางออง ซาน ซูจีเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 รัฐบาลทหารก็เดินหน้าปราบปรามพลเรือนที่มีความเห็นต่างและจับคนที่วิจารณ์การปกครองของรัฐบาลทหารอย่างต่อเนื่อง

แต่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ(เอ็นยูจี)ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยการร่วมกันของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลรัฐประหาร นำโดยสมาชิกรัฐสภาจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของซูจี ร่วมกับผู้นำการชุมนุมที่สนับสนุนประชาธิปไตยและกลุ่มชาติพันธุ์  ยังคงเป็นหอกข้างแคร่ที่แข็งแกร่งของรัฐบาลทหาร ทำให้บรรดานายพลไม่สามารถควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศได้

“ทอม แอนดรูว์ส” ซึ่งเขียนรายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมาขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)เปิดเผยบทวิเคราะห์ฉบับล่าสุดในโอกาสครบรอบสองปีการก่อรัฐประหาร โดยระบุว่า เกิดเหตุโจมตีและปะทะกันระหว่างฝ่ายกองทัพและฝ่ายต่อต้านประมาณ 10,000 ครั้ง นับตั้งแต่รัฐบาลทหารยึดอำนาจ และเกิดเหตุรุนแรงในชุมชนขนาดเล็กอย่างน้อย 78% ช่วงเดือนก.ค. – ธ.ค.ปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้สภาพการณ์ในปัจจุบันบ่งชี้ว่า กองทัพยังไม่มีวี่แววที่จะกระชับอำนาจได้ดังใจหวังในอนาคตอันใกล้ แต่ก็ไม่ส่อเค้าที่จะพังทลายลงเร็ว ๆ นี้ด้วยเหมือนกัน

‘นั่งรถไฟเหาะตีลังกา’นิยามการทำธุรกิจยุครัฐประหารในเมียนมา

ด้าน“มิน ซอ อู” ผู้อำนวยการบริหารสถาบันสันติภาพและความมั่นคงเมียนมา กล่าวว่า “สภาพการณ์ในขณะนี้ยังคงเหมือนกับภาพรวมในปี 2565 กองทัพประสบความล้มเหลวในการพลิกสถานการณ์กลับสู่ช่วงก่อนเกิดการรัฐประหาร ส่วนฝ่ายต่อต้านก็ไม่สามารถรุกคืบเข้าสู่จุดยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง"

กองกำลังต่อต้านรัฐประหารพยายามเข้าควบคุมศูนย์กลางเมืองสำคัญหลายแห่ง เช่น เมืองโมเบ ในรัฐฉาน รวมถึงเมืองกอการเอะ และเมืองโจนโดในรัฐกะเหรี่ยง แต่ถึงแม้ประสบความสำเร็จในการขับไล่ทหารเมียนมาบ่อยครั้ง แต่ไม่อาจรักษาชัยภูมิไว้ได้ เนื่องจากกองทัพเปลี่ยนยุทธวิธีมาใช้ปืนใหญ่ควบคุมระยะไกลและการโจมตีทางอากาศ

นักวิเคราะห์ด้านความขัดแย้งบางคนแนะนำให้ฝ่ายต่อต้านเดินหน้ากัดกร่อนกองทัพผ่านการโจมตีแบบกองโจรต่อไป แทนที่จะพยายามยึดดินแดนไว้ในครอบครอง โดย“แอนโทนี เดวิส” นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงของนิตยสารเจนส์ ดีเฟนซ์ เตือนในเดือนพ.ย.เกี่ยวกับความพยายามที่จะเปลี่ยนจากยุทธวิธีกองโจรไปสู่การปฏิบัติการกึ่งแบบแผนที่เร็วจนเกินไป

นอกจากเจอปัญหาการเมืองที่มีความซับซ้อนหลายปมแล้ว เมียนมาในยุคการบริหารประเทศของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ยังเจอปัญหาขาดแคลนไฟฟ้ารุนแรงที่สุด ทั้งยังถูกนำเข้าไปไว้ในบัญชีดำที่ทั่วโลกต้องจับตาและระแวดระวังไม่ต่างจากอิหร่านและเกาหลีเหนือ ภายใต้คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (เอฟเอทีเอฟ)

นับตั้งแต่รัฐประหาร บริษัทข้ามชาติรายใหญ่พากันถอนการลงทุนหรือทำธุรกิจออกจากเมียนมา รวมถึง เทเลนอร์ ของนอร์เวย์ อาลีบาบา ของจีน โททาล ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมน้ำมันสัญชาติฝรั่งเศส และบริษัท Ooredoo ของกาตาร์ 

ข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ)ระบุว่า อัตราความยากจนของเมียนมาเพิ่มขึ้นสองเท่าเมื่อเทียบกับระดับก่อนโควิดระบาด ส่วนรายได้ครัวเรือนยังคงลดลงต่อเนื่องและความไม่มั่นคงด้านอาหารเลวร้ายที่สุด       

ขณะที่ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจยังคงส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ่อนค่าของสกุลเงินจ๊าด เมื่อรวมกับข้อจำกัดด้านโลจิสติก ผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเกือบ 20% ตลอดทั้งปีจนถึงเดือนก.ค.

ความยากลำบากทางเศรษฐกิจเหล่านี้สร้างปัญหาให้แก่บรรดานายพลในกองทัพ ขณะที่พยายามเรียกร้องความชอบธรรมโดยจัดการเลือกตั้ง เพื่อลบล้างความพ่ายแพ้ของพรรคในการเลือกตั้งปี 2563

รายงาน “การติดตามเศรษฐกิจเมียนมา: การนำทางที่ไม่แน่นอน” ของธนาคารโลก ระบุว่า เกือบครึ่งหนึ่งของครัวเรือนที่ถูกสำรวจเมื่อเดือนก.ค.และเดือนส.ค.ปีที่แล้ว ระบุว่ามีรายได้ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ครอบครัวถูกบังคับให้ลดการบริโภค เนื่องจากความไม่มั่นคงด้านอาหารย่ำแย่ลง

เศรษฐกิจเมียนมาหดตัว 18% ในปี 2564 แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 3% ในปีที่แล้ว บ่งบอกว่าจีดีพีต่อหัวประชากรของเมียนมายังคงต่ำกว่าระดับก่อนโควิด-19 ประมาณ 13% ความเสี่ยงด้านลบ ได้แก่ ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ตลอดจนศักยภาพของสภาพแวดล้อมโลกที่จะกลายเป็นความท้าทายมากขึ้น โดยการคาดการณ์ดังกล่าวแตกต่างอย่างมากกับส่วนที่เหลือของภูมิภาค ซึ่ง จีดีพีในประเทศขนาดใหญ่ทั้งหมดฟื้นตัวขึ้นจนอยู่ในระดับที่สูงกว่าปี 2562

“มาเรียม เชอร์แมน” ผู้อำนวยการธนาคารโลก ประจำเมียนมา กล่าวว่า “ศักยภาพทางเศรษฐกิจของเมียนมาลดน้อยลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ครัวเรือนและบริษัทยังคงประสบปัญหาความไม่มั่นคงและความขัดแย้ง สภาพแวดล้อมทางธุรกิจยังคงถูกจำกัดอย่างหนักและแทบไม่มีความอยากที่จะลงทุน ส่วนเงินทุนสำหรับบริการด้านสุขภาพและการศึกษาที่สำคัญกำลังลดลง และขาดความไว้วางใจในบริการสาธารณะ”

การวิเคราะห์ดังกล่าวสะท้อนถึงความล้มเหลวของกองทัพในการปกครองและการขาดความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลเมียนมาได้ขอร้องให้รัสเซียลงทุนในเขตอุตสาหกรรมใหม่และภาคพลังงานและการผลิต แต่ความพยายามเหล่านี้ไม่เกิดผล

‘นั่งรถไฟเหาะตีลังกา’นิยามการทำธุรกิจยุครัฐประหารในเมียนมา