ทุ่มหมดหน้าตัก อินโดฯ ประเคนเหมืองนิกเกิลดึง‘อีลอน มัสก์’ ตั้งโรงงานเทสลา

ทุ่มหมดหน้าตัก อินโดฯ ประเคนเหมืองนิกเกิลดึง‘อีลอน มัสก์’ ตั้งโรงงานเทสลา

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดมั่นใจ เทสลาอิงค์จะมาลงทุนสร้างโรงงานผลิตเทสลาในอินโดนีเซีย ที่เสนอมาตรการจูงใจให้หลายอย่างตั้งแต่ยกเว้นภาษีไปจนถึงให้สัมปทานเหมืองแร่นิกเกิล

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน อินโดนีเซียที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังดึงบริษัทเทสลาของอีลอน มัสก์ มาลงทุนผลิตรถและแบตเตอรีตั้งแต่ปี 2563 ใช้ประโยชน์จากการที่อินโดนีเซียมีแหล่งแร่นิกเกิลสมบูรณ์ นำไปถลุงใช้ในแบตเตอรีรถอีวีได้

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด หรือรู้จักกันในนามโจโกวี กล่าวว่า เขาเคยคุยกับมัสก์ ซีอีโอเทสลาสองครั้ง พบด้วยตัวเองที่โรงงานสเปซเอ็กซ์ในเท็กซัสเมื่อปีก่อน และคุยโทรศัพท์ครั้งหนึ่งเพื่อพยายามปิดดีลให้ได้

“ผมบอกกับเขาว่าถ้าคุณลงทุนในอินโดนีเซีย ผมยกสัมปทานนิกเกิลให้เลย” โจโกวีกล่าวถึงข้อเสนอให้สัมปทานเหมืองของอินโดนีเซีย

ส่วนมาตรการจูงใจอื่นๆ เช่น ยกเว้นภาษี อุดหนุนการซื้อรถอีวีเพื่อสร้างตลาดในประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสี่ของโลกให้กับเทสลา โดยรัฐมนตรีกำลังหาข้อสรุปเรื่องการอุดหนุน

โจโกวีมั่นใจว่าอินโดนีเซียเหนือกว่าประเทศอื่นๆ เทสลาอาจกำลังพิจารณาเข้ามาลงทุน เพราะประเทศนี้มีแหล่งนิกเกิลใหญ่ที่สุดและตลาดภายในใหญ่

อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับเทสลาว่าจะรับข้อเสนอเหมืองนิกเกิลหรือไม่ โจโกวีย้ำว่า อินโดนีเซียเปิดกว้างสำหรับการลงทุนในแบตเตอรีอีวีและซัพพลายเชนรถยนต์ไฟฟ้า

“ถ้าพวกเขาต้องการเริ่มจากแบตเตอรีอีวี ก็โอเค”

เทสลาไม่ได้ให้ความเห็นกับรอยเตอร์ ขณะนี้บริษัทกำลังมองหาฮับการผลิตเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้ว 4 แห่ง ได้แก่ ฟรีมอนต์ แคลิฟอร์เนีย, เซี่ยงไฮ้, ออสติน เท็กซัส และนอกกรุงเบอร์ลิน

นักวิเคราะห์ประเมินว่า เทสลาต้องการสร้างกิกะแฟคทอรีเพิ่มอีก 7 หรือ 8 โรง เพื่อบรรลุเป้าหมายของมัสก์ขายยานยนต์ไฟฟ้าได้ 20 ล้านคันภายในปี 2573

 อินโดนีเซียไม่ใช่ประเทศเดียวที่พยายามดึงเทสลาเข้าไปลงทุนผลิต เกาหลีใต้ แคนาดา และเม็กซิโกก็เช่นกัน โฆษกประธานาธิบดีเม็กซิโกกล่าวในวันอังคาร (31 ม.ค.) ว่า เทสลากำลังพิจารณาตั้งโรงงานประกอบใกล้สนามบินใหม่ในกรุงเม็กซิโกซิตี้

นักวิเคราะห์กล่าวว่า เม็กซิโกน่าจะได้รับการลงทุนจากเทสลาเพราะใกล้ตลาดหลักอย่างสหรัฐ, มีฐานซัพพลายส่วนประกอบอยู่แล้ว อีกทั้งยานยนต์ที่ผลิตที่นั่นมีคุณสมบัติได้เครดิตภาษีผู้บริโภคของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน

อาจเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรีที่แรกของเอเชีย

ถ้าเทสลาลงทุนผลิตแบตเตอรีในอินโดนีเซีย จะเป็นโรงงานแรกในเอเชีย เดือนที่แล้ว บริษัทประกาศลงทุน 3.6 พันล้านดอลลาร์ขยายการผลิตแบตเตอรีที่โรงงานเนวาดา

สำหรับอินโดนีเซีย โจโกวีห้ามส่งออกแร่นิกเกิลในปี 2563 เพื่อกระตุ้นให้นักลงทุนสร้างซัพพลายแบบบูรณาการในแนวตั้งสำหรับแบตเตอรีและอีวี ใช้นิกเกิลเป็นวัตถุดิบ คำสั่งห้ามส่งออกทำให้เกิดการลงทุนหลอมนิกเกิลครั้งใหญ่ ส่วนใหญ่มาจากจีน แต่ก็ถูกสหภาพยุโรป (อียู) ท้าทายในองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ด้วยมองว่า การห้ามส่งออกไม่เป็นธรรม สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมสแตนเลสอียู

ปีก่อนดับเบิลยูทีโอตัดสินเป็นคุณแก่อียูแต่อินโดนีเซียอุทธรณ์

อินโดนีเซียยังสนใจลงทุนผลิตอีวีหรือแบตเตอรีมากขึ้น ฮุนไดมอเตอร์และแอลจี เอเนอร์จีโซลูชันของเกาหลีใต้มาสร้างโรงงานแบตเตอรีและอีวีแล้ว

ปีก่อนทางการอินโดนีเซียกล่าวว่า เทสลาลงนามสัญญามูลค่าราว 5,000 ล้านดอลลาร์เพื่อจัดซื้อวัตถุดิบจากบริษัทแปรรูปนิกเกิลสำหรับทำแบตเตอรี