‘ความร้อนใต้พิภพ’อินโดฯ แหล่งพลังงานในฝันบ.ต่างชาติ

‘ความร้อนใต้พิภพ’อินโดฯ แหล่งพลังงานในฝันบ.ต่างชาติ

‘ความร้อนใต้พิภพ’อินโดฯ แหล่งพลังงานในฝันบ.ต่างชาติ ซึ่งในการผลิตพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ของอินโดนีเซีย พลังงานจากน้ำมีสัดส่วนสูงสุด ตามมาด้วยพลังงานใต้พิภพและพลังงานชีวมวลในสัดส่วน 20%

ท่ามกลางกระแสรักษ์โลก ลดอุณหภูมิโลกให้ร้อนแรงน้อยกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้ทุกภาคอุตสาหกรรมดำเนินธุรกิจไปในทิศทางที่สร้างความเติบโตแก่ธุรกิจแบบยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด  หนึ่งในนั้นคือการใช้พลังงานที่ไม่ก่อมลพิษหรือทำลายสภาพแวดล้อม ทำให้การพัฒนาพลังงานจากความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซียเป็นที่สนใจของบรรดาบริษัทพัฒนาพลังงานต่างชาติอย่างมากในขณะนี้

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่าโครงการพัฒนาพลังงานใต้พิภพของอินโดนีเซียคึกคักมาก ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากบริษัทต่างชาติหลายแห่ง ทั้งอินเพ็กซ์ของญี่ปุ่น บริษัทสตาร์ท อีเนอร์ยี ของสิงคโปร์ และผู้เล่นรายอื่นๆ ขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พยายามผลักดันแหล่งพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้เพื่อให้สอดรับกับนโยบายสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนของทั่วโลก          

โรงไฟฟ้าพลังงานใต้พิภพมอรา ลาบอห์ ของบริษัทอินเพ็กซ์ตั้งอยู่ห่างจากสนามบินนานาชาติมินังกาเบาในสุมาตราตะวันตกโดยใช้เวลาขับรถประมาณ 5 ชั่วโมง ซึ่งบริษัทวางแผนว่าจะเริ่มเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าในปีนี้อีกหนึ่งเท่าตัวจากเดิมที่ผลิตได้ 85 เมกกะวัตต์ 

“เรากำลังคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีกแห่งโดยให้อยู่ติดกับโรงไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมและให้มีขนาดเท่ากัน”ผู้อำนวยการคนหนึ่งของอินเพ็กซ์ จีโอเทอร์มอล ดิวิล็อปเมนท์  กล่าว 
 

กำลังการผลิตโดยรวมในอินโดนีเซียของอินเพ็กซ์อยู่ที่ 110 เมกกะวัตต์นับจนถึงปลายปี 2565 เพิ่มขึ้นประมาณ 20% จากช่วงปลายปี 2564 และหากแผนเพิ่มกำลังการผลิตที่โรงไฟฟ้ามอรา ลาบอห์เป็นไปตามแผน ก็มีความเป็นไปได้ที่อินเพ็กซ์จะมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานใต้พิภพแซงหน้ากลุ่มบริษัทอยาลา กรุ๊ป ของฟิลิปปินส์

เปอร์ตามินา จีโอเทอร์มัล อีเนอร์ยี (พีจีอี) หน่วยงานในเครือของบริษัทเปอร์ตามินา ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐบาลอินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานใต้พิภพแห่งแรกที่มีกำลังการผลิต 700 เมกกะวัตต์ ตามมาด้วย สตาร์ อีเนอร์ยี ที่มีกำลังการผลิต 500 เมกกะวัตต์ ส่วนอินเพ็กซ์ คาดว่าจะอยู่อันดับที่3 

“เราอยากเน้นพัฒนาพลังงานใต้พิภพในพื้นที่ต่างๆที่เป็นแหล่งพลังงานประเภทนี้ในปริมาณสูง ”เคนจิ คาวาโน รองประธานบริหารอินเพ็กซ์ กล่าวไว้ในช่วงปลายปีที่แล้ว

อินเพ็กซ์ประกาศเมื่อวันที่ 4 ม.ค.ว่าได้ทำการสำรวจแหล่งพลังงานใต้พิภพร่วมกับสุมิโตโมะ คอร์ปของญี่ปุ่นและบริษัทอื่นๆในภาคใต้ของเกาะสุมาตราในปีนี้  โดยตั้งเป้าเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าได้ภายในช่วงปลายทศวรรษนี้

ในส่วนของบรรดาบริษัทคู่แข่งที่มีอยู่ก็ไม่ได้นิ่งเฉย เริ่มจาก พีจีอี วางแผนเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าจากปัจจุบันที่ผลิตได้ประมาณ 700 เมกกะวัตต์เป็นประมาณ 1,300 เม็กกะวัตต์ ภายในปี 2570 ด้วยเงินทุนที่ระดมได้ผ่านการนำหุ้นออกขายแก่สาธารณชนเป็นครั้งแรก(ไอพีโอ)ในปีนี้ 
‘ความร้อนใต้พิภพ’อินโดฯ แหล่งพลังงานในฝันบ.ต่างชาติ

พีจีอี กำลังพิจารณาที่จะเป็นหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์กับหลายบริษัท รวมทั้งบริษัทต่างๆในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พยายามสร้างความก้าวหน้าแก่โครงการพัฒนาพลังงานจากใต้พิภพ ด้วยการเข้าถึงโนว์-ฮาวจากแหล่งน้ำมันชั้นนำของโลกหลายๆแหล่ง

มิตซูบิชิ คอร์พอเรชัน ถือหุ้น20% ในสตาร์ อีเนอร์ยีและมีโรงไฟฟ้าวายัง วินดู จีโอเทอร์มอล พาวเวอร์ แพลนท์ บนเกาะชวา ที่มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 230 เมกกะวัตต์ และมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยรวมให้ได้ 420 เมกกะวัตต์ ภายในระยะ 10 ปีนี้

เจแปน ออยล์,แก๊ส แอนด์ มีทัลส์ เนชั่นแนล คอร์พอเรชัน ระบุว่าด้วยความที่เป็นประเทศที่มีทรัพยากรประเภทนี้อุดมสมบูรณ์ ทำให้อินโดนีเซียเป็นที่สนใจของบริษัทต่างชาติจำนวนมากที่ต้องการเข้ามามีส่วนแบ่งในอุตสาหกรรมนี้ โดยคาดการณ์ว่าพลังงานใต้พิภพของอินโดนีเซียอยู่ที่ 27,790 เมกกะวัตต์ อยู่ในอันดับ 2ของโลกเป็นรองก็แต่สหรัฐแต่สัดส่วนของพลังงานประเภทนี้ที่ได้รับการพัฒนายังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับสหรัฐและฟิลิปปินส์ ทำให้โอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานใต้พิภพในประเทศนี้ยังมีอยู่อีกมาก

ขณะที่ความพยายามของทั่วโลกในการสร้างความเป็นกลางด้านคาร์บอนก็เป็นปัจจัยหลักที่ช่วยให้อินโดนีเซียเป็นที่หมายปองของบริษัทต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ 

“ความทุ่มเทที่เรามีต่อพลังงานหมุนเวียน รวมถึงพลังงานความร้อนใต้พิภพ เชื่อมโยงโดยตรงกับความสามารถในการแข่งขันของเรา ในฐานะบริษัททรัพยากร”ผู้อำนวยการอินเพ็กซ์ จีโอเทอร์มอล ดิวิล็อปเมนท์ กล่าว

อินเพ็กซ์ มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้พลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ให้ได้สองเท่าหรือสี่เท่าเป็น 1,000-2,000  เมกกะวัตต์  โดยเน้นใช้พลังงานจากใต้พิภพและพลังงานลมนอกชายฝั่ง

ขณะที่ผลสำรวจของสภาพลังงานแห่งชาติอินโดนีเซีย ระบุว่า นับจนถึงปลายปี2564 การผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้พลังงานจากถ่านหินมีสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของปริมาณพลังงานโดยรวม ขณะที่พลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่มีสัดส่วนแค่ 15% เท่านั้น

แต่ในกระบวนการผลิตพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ของอินโดนีเซียในตอนนี้ พลังงานจากน้ำมีสัดส่วนสูงสุด ตามมาด้วยพลังงานใต้พิภพและพลังงานชีวมวลในสัดส่วน 20% โดยอินโดนีเซียตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์เปอร์เซนต์ภายในปี 2603 จึงกระตุ้นให้บริษัทต่างๆตลอดจนประชาชนในประเทศหันมาเน้นใช้พลังงานใต้พิภพที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้โดยไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์แก่ชั้นบรรยากาศ

“พลังงานใต้พิภพของอินโดนีเซียสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 24 กิกะวัตต์ และปัจจุบันถูกนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าแค่ 2.4 กิกะวัตต์เท่านั้น”อีริก โทเฮอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงรัฐวิสาหกิจของอินโดนีเซีย กล่าวไว้เมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา