เข้าใจ เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยและธนาคารกลางญี่ปุ่น | บัณฑิต นิจถาวร

เข้าใจ เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยและธนาคารกลางญี่ปุ่น | บัณฑิต นิจถาวร

สิ่งที่รู้สึกชัดเจนตอนอยู่ญี่ปุ่นเมื่อสองอาทิตย์ก่อน คือราคาสินค้าโดยเฉพาะอาหารเเพงขึ้นกว่าเดิมมาก อาหารชุดกลางวันที่พนักงานออฟฟิศเคยซื้อในราคา 800-900 เยนเป็นประจํา ปัจจุบันหายากมากในกรุงโตเกียว

ราคาได้เพิ่มเป็น 1,000-1,100 เยนเป็นส่วนใหญ่ ถ้าจะทานในราคาตํ่ากว่าพันเยน ต้องซื้อเป็นอาหารกล่องซึ่งมีขายทุกร้าน หรือต้องออกไปนอกเมือง

ที่เป็นอย่างนี้เพราะเงินเฟ้อในญี่ปุ่นได้เพิ่มสูงขึ้นมาก ล่าสุดอัตราอยู่ที่ร้อยละ 4 สูงสุดในรอบ 41 ปี หลังบริษัทญี่ปุ่นเริ่มส่งผ่านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นให้ผู้บริโภคในรูปราคาสินค้าที่สูงขึ้น ซึ่งกระทบค่าครองชีพความเป็นอยู่และความรู้สึกของคนญี่ปุ่นมาก

ล่าสุดมีการเรียกร้องให้ภาคธุรกิจปรับค่าจ้างขึ้นเพื่อบรรเทาผลกระทบ ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อยิ่งเร่งตัวมากขึ้น ถ้าผลิตภาพการผลิตไม่เพิ่ม

คำถามคือทำไมธนาคารกลางญี่ปุ่นที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อลดเงินเฟ้อ

โดยเฉพาะในการประชุมครั้งล่าสุดที่ตัวเลขเงินเฟ้อได้เพิ่มเป็นร้อยละ 4 สูงกว่าเป้าร้อยละ 2 แต่ยังคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ติดลบ 0.1% ซึ่งตํ่ามากๆ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

เข้าใจ เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยและธนาคารกลางญี่ปุ่น | บัณฑิต นิจถาวร

โจทย์สำคัญในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นขณะนี้คือ Exit Strategy หมายถึงจะนําเศรษฐกิจญี่ปุ่นออกจากระดับอัตราดอกเบี้ยที่ตํ่ามากๆ กลับสู่ระดับอัตราดอกเบี้ยที่เป็นปรกติมากขึ้นอย่างไร ที่จะไม่สร้างความปั่นป่วนและความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจญี่ปุ่น

นี่คือโจทย์ที่อยู่เบื้องหลังสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดในการดําเนินนโยบายการเงินของญี่ปุ่นขณะนี้

หลังญี่ปุ่นประสพภาวะฟองสบู่แตกในช่วงทศวรรษ 1990 เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ตกอยู่ในวัฏจักรเงินฝืดคือ ประชาชนไม่ใช้จ่าย ราคาสินค้าลดลง ผู้ผลิตลดการผลิตลดการจ้างงาน

ทําให้ประชาชนมีรายได้ลดลง ยิ่งประหยัดมากขึ้น ไม่ใช้จ่าย ราคาสินค้าก็ยิ่งลดลงทําให้อัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นตํ่ามากจนมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเข้าสู่ภาวะเงินผืด คือ อัตราเงินเฟ้อติดลบ เป็นอย่างนี้มาตลอดแม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะลดลงใกล้ศูนย์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

เข้าใจ เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยและธนาคารกลางญี่ปุ่น | บัณฑิต นิจถาวร

เศรษฐกิจญี่ปุ่นยิ่งลําบากขึ้นหลังวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกปี 2008 ที่ทั้งสหรัฐและยุโรปแก้ปัญหาโดยการอัดฉีดสภาพคล่องผ่านมาตรการคิวอีทําให้เศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปฟื้นตัว

แต่ส่งผลให้เงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าเพราะทั้งดอลลาร์สหรัฐและเงินยูโรอ่อนค่าจากมาตรการคิวอี กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น

ที่สำคัญ การเติบโตของเศรษฐกิจจีน ปัญหาประชากรสูงวัยในญี่ปุ่น และการแข็งค่าของเงินเยน ทําให้บริษัทญี่ปุ่นขยายการลงทุนและการผลิตในต่างประเทศ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน

ทําให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นขาดโอกาสที่จะเติบโต ไม่มีการจ้างงานใหม่ให้กับคนหนุ่มสาวในประเทศ

เศรษฐกิจญี่ปุ่นจึงตกอยู่ในวัฏจักรเงินฝืดพร้อมการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ต่ำ แม้นโยบายการเงินการคลังจะผ่อนคลายเต็มที่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

เข้าใจ เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยและธนาคารกลางญี่ปุ่น | บัณฑิต นิจถาวร

ปี 2013 ธนาคารกลางญี่ปุ่นโดยมีนายคูโรดะ ฮารูฮิโกะ (Kuroda Haruhiko) เป็นผู้ว่าการได้เริ่มมาตรการคิวอีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและมีเป้าหมายให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นเป็นร้อยละ 2

โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและตราสารอีทีเอฟในตลาดหุ้นเพื่ออัดฉีดสภาพคล่อง เป็นมาตราการคิวอีที่ทํามากและทําอย่างต่อเนื่องช่วงสิบปีที่ผ่านมา จนยอดเงินฝากของสถาบันการเงินที่ธนาคารกลางเพิ่มขึ้นกว่า 100 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ทําต่อเนื่องเช่นกัน ก็ทำให้หนี้สาธารณะของรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มเป็น 225.8 เปอร์เซนต์ของจีดีพี ณ สิ้นกันยายนปีที่แล้ว สูงสุดในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม

ล่าสุดแรงกระทบของโควิดทําให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีข้อจำกัด

ปีที่แล้วเศรษฐกิจญี่ปุ่นโตเพียงร้อยละ 1.4 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากดิสรัปชั่นด้านอุปทานที่มากับโควิดและสงครามมากกว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

เข้าใจ เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยและธนาคารกลางญี่ปุ่น | บัณฑิต นิจถาวร

ปีที่แล้วเมื่ออัตราเงินเฟ้อเริ่มเป็นปัญหาและธนาคารกลางส่วนใหญ่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดเงินเฟ้อ แต่ธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่ามาก

ปีนี้หลังตัวเลขออกมาเดือนนี้ว่าอัตราเงินเฟ้อล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 4 สูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ร้อยละ 2 ตลาดการเงินก็คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

จึงกดดันโดยการขายพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อดันให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับสูงขึ้น แต่ธนาคารกลางก็ไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ใช้มาตรการเข้าควบคุมการเคลื่อนไหวของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว (Yield Curve Control)

โดยคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลรัฐบาลอายุสิบปี ให้อยู่ที่ 0 เปอร์เซ็นต์ เคลื่อนไหวบวบลบได้ในช่วงที่กำหนดซึ่งล่าสุดได้ขยายช่วงเป็นบวกลบ 0.5 เปอร์เซ็นต์ และเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อนักลงทุนขาย

จนปัจจุบันธนาคารกลางญี่ปุ่นถือครองพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นมากกว่าครึ่งของทั้งหมดที่ออก

คําถามคือธนาคารกลางญี่ปุ่นจะสามารถทัดทานแรงกดดันของตลาดการเงินได้หรือไม่ และอะไรคือเหตุผลที่ทําให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ต่อคําถามที่สอง ผมคิดว่าเหตุผลคงมีแน่นอนและคงจะไม่พ้นสามเรื่องนี้

เข้าใจ เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยและธนาคารกลางญี่ปุ่น | บัณฑิต นิจถาวร

หนึ่ง ธนาคารกลางญี่ปุ่นห่วงเศรษฐกิจโลกจะเกิดภาวะถดถอย ซึ่งถ้าเกิดขึ้น การขึ้นดอกเบี้ยก็จะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจญี่ปุ่น

สอง ห่วงผลที่จะมีต่อภาคธุรกิจ เพราะภาคธุรกิจคงต้องปรับขึ้นค่าจ้างหลังจากได้ปรับราคาสินค้าขึ้นเพื่อช่วยผู้บริโภคญี่ปุ่นซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนญี่ปุ่นคาดหวัง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังปรับขึ้นค่าจ้างจะยิ่งซ้ำเติมบริษัทญี่ปุ่นเพราะต้นทุนการผลิตจะยิ่งสูงขึ้น

สาม ห่วงผลที่จะมีต่อฐานะการคลังของรัฐบาล เพราะญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะมากและมีภาระที่ต้องชําระคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยในงบประมาณประจำปี

กระทรวงการคลังญี่ปุ่นประมาณว่า การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นหนึ่งเปอร์เซ็นต์จะทำงบชำระหนี้ของรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 3.7 ล้านล้านเยนหรือ ประมาณ 0.94 ล้านล้านบาทต่อปี

สำหรับคําถามแรก คําตอบคงขึ้นอยู่กับผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นว่าจะเอาอย่างไงต่อในแง่นโยบาย ซึ่งผู้ว่าการธนาคารกลางคนปัจจุบัน นายคุโรดะ จะหมดวาระในเดือนเมษายนนี้ ต้องมีการแต่งตั้งคนใหม่มารับหน้าที่แทน ซึ่งจะเป็นใครเราคงทราบชื่อในเดือนหน้าเพราะเป็นเดือนที่รัฐบาลต้องเสนอชื่อให้สภาผู้แทนพิจารณา

ภารกิจสำคัญของผู้ว่าการคนใหม่คงไม่ใช่แค่จะปรับหรือไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่จะวางยุทธศาสตร์นําเศรษฐกิจญี่ปุ่นออกจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากๆ ที่มีมาต่อเนื่องกว่าสิบปีอย่างไร โดยไม่สร้างความเสียหายต่อการฟื้นตัวและเสถียรภาพของเศรษฐกิจญี่ปุ่น เป็นโจทย์ที่ท้าทายมากๆ

เข้าใจ เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยและธนาคารกลางญี่ปุ่น | บัณฑิต นิจถาวร

เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]