ทำไม "จีน" ถึงมั่นใจว่าจะ "ควบคุมโควิด-19 ได้" หลังผ่อนคลายมาตรการเต็มที่

"จีน" ทำไมจึงมั่นใจว่าจะ "ควบคุมโควิด-19 ได้" หลังผ่อนคลายมาตรการ

หลังจาก "จีน" เดินหน้าผ่อนคลายมาตรการ และอนุญาตให้มีการเดินทางเข้า-ออกจีนได้อีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 เป็นต้นมา อะไรที่ทำให้มั่นใจอย่างมากว่าจะสามารถ "ควบคุมโควิด-19 ได้" ต้องติดตาม

จีน ประกาศ ผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2565 ก็เดินหน้าผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง ทั้งเปิดพรมแดน อนุญาตให้มีการเดินทางเข้า-ออกจีนอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 เป็นต้นมา และอนุญาตให้กรุ๊ปทัวร์จีนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศได้ใน 20 ประเทศนำร่อง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นประเทศที่มีสัมพันธ์อันดีกับจีน แสดงท่าทียินดีต้อนรับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน มากกว่าจะกังวลว่าจะเกิดการระบาดหนักขึ้นอีกครั้ง ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ด้วยที่อยู่ในรายชื่อนี้ และก็ไม่น่าแปลกใจว่า ทำไม "ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้" สองประเทศละแวกเดียวกับจีนจะเป็นจุดหมายปลายทางที่ชาวจีนไปเที่ยวจำนวนมากช่วงก่อนโควิด-19 แต่ไม่อยู่ในรายชื่อนำร่อง เพราะหลังจากจีนประกาศเปิดประเทศ อนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกนอกจีนได้ สองประเทศดังกล่าวแสดงความกังวลออกมาอย่างชัดเจนว่า อาจเกิดระบาดหนักอีกครั้ง จึงจำกัดการเดินทางเข้าประเทศของตนกับ นักท่องเที่ยวจีน โดยจีนมองว่า "เป็นการเลือกปฏิบัติ"

หากว่ากันตามตรงแล้ว นับเป็นเรื่องเข้าใจได้เหมือนกันที่จะเกิดข้อกังวลขึ้นถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการระบาดระลอกใหม่ได้เมื่อมีการเดินทางของคนจีนจำนวนมาก นั่นเป็นเพราะเคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาแล้วในช่วง ตรุษจีน กุมภาพันธ์ 2563 จนนำมาซึ่งการระบาดทั่วจีน และนอกจีน แต่ ณ ขณะนั้นเป็นการเจอการระบาดโควิด-19 ช่วงแรกๆ ทำให้ค่อนข้างยากในการรับมือ 

ไม่เหมือนกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 3 ปีแล้วที่ จีน และประเทศต่างๆ ทั่วโลกเผชิญกับโควิด-19 โดยตั้งแต่จีน ผ่อนคลายมาตรการ จีนได้ออกมาแสดงจุดยืนอยู่ตลอดว่า "มั่นใจ ว่าควบคุมสถานการณ์การระบาดได้"

ทำไม "จีน" ถึงมั่นใจว่า "ควบคุมสถานการณ์การระบาดได้"? 

อ้ายจง ขอวิเคราะห์ผ่านการสรุปสถานการณ์หลังผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 และเปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศอีกครั้ง ดังนี้

1. ทางคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ประกาศตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 อย่างเป็นทางการ ในช่วงระหว่างวันที่ 8 ธันวาคม 2565 ถึง 12 มกราคม 2566 รวมระยะเวลาประมาณ 1 เดือน โดยเป็นช่วงที่จีนปรับมาตรการผ่อนคลายโควิด-19 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 59,938 ราย ในโรงพยาบาล และสถานพยาบาลทั่วจีน

จีนได้ใช้หลักการที่ระบุว่า "เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO)" นั่นคือ แบ่งการเสียชีวิตเป็น ภาวะหายใจล้มเหลวจากการติดเชื้อโควิด-19 และเสียชีวิตจากโรคอื่นที่มีการติดเชื้อโควิด-19 ร่วมด้วย โดยมีตัวเลข 5,503 ราย และ 54,435 ราย ตามลำดับ

80.3 ปี คือ อายุเฉลี่ยของผู้เสียชีวิต ซึ่งก็เป็นไปตามข้อกังวลของทางการจีนที่มีมาโดยตลอด ทางจีนจึงพยายามรณรงค์ให้ ผู้สูงอายุ ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดโดยเร็ว ควบคู่ไปกับการเพิ่มจำนวนคลินิก และยาในการรักษาอาการของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ที่ทางการจีนระบุว่า "ส่วนใหญ่เป็นอาการไข้ หวัด ไอ และเจ็บคอ เป็นต้น"

โดยทางการจีน เผยว่า "อัตราการฉีดวัคซีนครบสองโดสของกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น" และอัตราเตียงวิกฤติก็เพิ่มขึ้นแล้ว นี่จึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้จีนยืนยันว่า "เอาอยู่"
 

 

 

 

2. จีนมองว่า "การเสียชีวิตจากโควิด-19" ผ่านจุดพีคไปแล้ว โดยระบุว่า ตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รายวัน ล่าสุดลดจาก 4,273 ราย ในวันที่ 4 มกราคม 2566 เป็น 896 ราย ลดลง 79% ในระยะเวลาราว 21 วัน หรือสามสัปดาห์

3. จีนเผย "จุดพีค" ของการระบาดในแง่จำนวนผู้ป่วยหนัก และผู้ป่วยที่ต้องรักษาในโรงพยาบาล ผ่านพ้นไปแล้วเช่นกัน ด้วยจำนวน 128,000 ราย และเริ่มลดลงมาแตะระดับใกล้ 100,000 ราย

4. ยอดการหาหมอคลินิกไข้ ลดลงเหลือ 63,000 ราย เมื่อวันจันทร์ ที่ 23 มกราคม 2566 ลดลงเกือบ 98% (97.8%) เมื่อเทียบกับวันที่ 23 ธันวาคม 2565 ซึ่งจีนระบุว่า "เป็นจุดพีค-สูงสุด" ด้วยตัวเลข 2.86 ล้านต่อวัน

สาเหตุที่ จีน นำตัวเลขยอดการหาหมอในคลินิกไข้ตามสถานพยาบาลต่างๆ มาระบุด้วย เพราะตั้งแต่ ผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 เมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา จีนอนุญาตให้ผู้ติดเชื้อสามารถกินยา และรักษาที่บ้านได้เองหากอาการน้อยหรือไม่มีอาการ โดยส่วนใหญ่จะมีอาการเกี่ยวกับไข้

5. จีนเตรียมพร้อมรับมือปัญหาที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาอันตรายที่เคสโควิดอาจเพิ่มขึ้น นั่นคือ ช่วง ตรุษจีน ซึ่งตรงกับวันที่ 22 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา แต่การเดินทางในตรุษจีนแต่ละปีที่เรียกว่า ชุนยุ่น (春运) จะกินเวลา 40 วัน ช่วงก่อน ระหว่าง และหลังตรุษจีน ดังนั้นจึงเกิดการเดินทางของคนจีนมหาศาลจนถึง กุมภาพันธ์ 2566

จีนจึงตั้งเป้าสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนในการออกเดินทางช่วงเทศกาลนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการเดินทางกลับไปรวมตัวในครอบครัว แต่ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งจากการท่องเที่ยว และการอุปโภคบริโภคอีกด้วย จึงได้เห็นจีนเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในหนทางผ่อนคลายโควิด และสื่อสารออกมาในแนวทาง "มั่นใจ รับมือได้" เพราะปีนี้เป้าหมายคือ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเป้าสำคัญหลักของแดนมังกร

การเตรียมพร้อมรับมือของจีน มีทั้งการเพิ่มปริมาณการผลิตยาที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโควิดโอมิครอน ทั้งยารักษาตามอาการ และยารักษาโควิด-19 โดยตรง รวมถึงมีการปรับปรุงบัญชียาประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเพิ่มรายการยาต่างๆ ในการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย โดยในรายการดังกล่าวนั้นมียา Azvudine ยารักษาโควิด-19 ที่ผลิตในจีน และ ชิงเฟ่ย ผายตู๋ ยาต้มแผนโบราณของจีน

ถึงแม้ว่าจีนจะไม่ได้รวมยา Paxlovid ของทาง Pfizer เข้าไปในรายการยาประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยให้เหตุผลเรื่องของราคาที่สูง แต่จีนก็อนุญาตให้ผู้ป่วยสามารถเบิกค่าประกันสุขภาพ หากได้รับการสั่งยา Paxlovid ซึ่งครอบคลุมถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2566 ช่วงเวลาที่สิ้นสุด ช่วงเวลาอันตรายในการเฝ้าระวังการระบาดหนัก หลังเทศกาลตรุษจีน และฤดูหนาวเริ่มผ่านพ้นไป

ไม่เพียงแค่การเตรียมพร้อมเรื่องยา จีนยังได้เตรียมความพร้อมด้านขีดความสามารถในการรักษาพยาบาล และการเตรียมเวชภัณฑ์อื่นๆ อย่างเช่น การจัดส่งเครื่องวัดออกซิเจนในเลือดมากกว่า 1 ล้านเครื่อง ไปยังคลินิกและสถานพยาบาลประจำหมู่บ้านทั่วประเทศจีนในช่วงตรุษจีน ที่มวลชนจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนเอง รวมถึงการเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ และการเชื่อมโยงบริการการแพทย์ตลอด 24 ชั่วโมง ระหว่างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในระดับที่สาม ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีจำนวนเตียง และบริการทางการแพทย์ครบวงจรที่สุด กับโรงพยาบาลขนาดเล็ก เช่น โรงพยาบาลชุมชน และระดับอำเภอ รวมถึงพื้นที่ต่างจังหวัด-พื้นที่ห่างไกล ยังเป็นมาตรการที่จีนนำมาปรับใช้เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่อาจเพิ่มสูงขึ้นช่วงเทศกาล

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตรุษจีน เมื่อ 3 ปีก่อน ก็คือปี 2563 เป็นปีที่โควิด-19 เริ่มระบาดหนักครั้งแรก ทั้งในจีนและรอบโลก เพราะผู้คนเดินทางจำนวนมาก ทำให้ความกังวลยังคงมีอยู่ว่า ตรุษจีน2566 ที่จีนผ่อนคลายมาตรการโควิดแล้ว จะเป็นเช่นไร จะเป็นไปตามแผนที่จีนเตรียมรับมือหรือไม่? เรายังคงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด

ผู้เขียน : ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์