หวั่นกระแสเกลียดชังเอเชียปะทุ! หลังเกิดเหตุกราดยิงใกล้แอลเอ ตาย 10 คน

หวั่นกระแสเกลียดชังเอเชียปะทุ! หลังเกิดเหตุกราดยิงใกล้แอลเอ ตาย 10 คน

ทางการสหรัฐหวั่นกระแสเกลียดชังเอเชียปะทุระลอกใหม่ หลังเกิดเหตุกราดยิงในงานฉลองตรุษจีนช่วงค่ำวันเสาร์ (21 ม.ค.)ในเมืองมอนเทรีย์ พาร์ค รัฐแคลิฟอร์เนีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเบื้องต้น 10 ราย และบาดเจ็บอย่างน้อย 10 ราย โดยผู้ก่อเหตุหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ไปได้

เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มอนเทรีย์ พาร์ค ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียใหญ่ที่สุดในสหรัฐ เชื่อว่าคนร้ายน่าจะเป็นชายชาวเอเชีย อายุระหว่าง 30 ถึง 50 ปี แต่ตำรวจยังไม่สรุปว่า การโจมตีครั้งนี้มีแรงจูงใจด้านผิวสีหรือไม่ โดยผู้เสียชีวิตทั้ง 10 ราย แบ่งเป็นชาย 5 ราย และหญิง 5 ราย 

เหตุกราดยิงครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อเวลา 22.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งตรงกับเวลาในประเทศไทย 13.00 น.ของวันอาทิตย์(22ม.ค.) ในเมืองที่กำลังจัดงานฉลองตรุษจีน ทางการปิดถนนหลายสายในย่านใจกลางเมืองเพื่อจัดงานเฉลิมฉลองนี้ ที่มีผู้ร่วมงานหลายพันมาจากเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย 

เมืองนี้ ตั้งอยู่ห่างจากย่านใจกลางลอสแองเจลิสประมาณ 11 กิโลเมตร เป็นที่รู้จักกันมานานหลายทศวรรษว่าเป็นจุดหมายปลายทางของคนเข้าเมืองจากจีน ซึ่งในบรรดาประชากรทั้งหมดมีชาวเอเชียมากถึง 65%  อีกทั้งเมืองนี้ยังมีชื่อเสียงด้านการมีร้านอาหารจีนและร้านขายของชำจีนจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม  เหตุกราดยิงเป็นหนึ่งในอาชญากรรมร้ายแรงที่เกิดขึ้นในสหรัฐบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความเกลียดชังชาวเอเชีย และที่ผ่านมา องค์กรยุติความเกลียดชังต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิก (AAPI) เปิดเผยว่า องค์กรได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุอาชญากรรมจากความเกลียดชังประมาณ 3,800 ครั้ง นับตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. 2563 จนถึง 28 ก.พ. ปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งองค์กรได้รับแจ้งเหตุเหยียดเชื้อชาติที่มุ่งเป้าไปที่ชาวเอเชียรวม 3,795 ครั้ง ตั้งแต่การคุกคามด้วยวาจา แสดงความรังเกียจ ทำร้ายร่างกาย การคุกคามทางออนไลน์ ตลอดจนการละเมิดสิทธิพลเมือง

ขณะที่ศูนย์ศึกษาอาชญากรรมที่มีสาเหตุจากความเกลียดชังและแนวคิดสุดโต่ง มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานเบอร์นาร์ดิโน (CSUSB) เปิดเผยว่า อาชญากรรมจากความเกลียดชังชาวเอเชียที่รายงานต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจใน 16 เมืองใหญ่และเทศมณฑลของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 164% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า