“ชาติหมู่เกาะแปซิฟิก”เดือดร้อน วอนญี่ปุ่นชะลอปล่อยน้ำเสียฟูกุชิมะ

“ชาติหมู่เกาะแปซิฟิก”เดือดร้อน วอนญี่ปุ่นชะลอปล่อยน้ำเสียฟูกุชิมะ

การเตรียมปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะลงทะเลของรัฐบาลญี่ปุ่น จุดประเด็นถกเถียงอย่างมาก ล่าสุด ชาติหมู่เกาะแปซิฟิก เรียกร้องให้ญี่ปุ่นชะลอเรื่องนี้ไว้ก่อน เพราะกังวลว่าอาจทำให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนแก่อุตสาหกรรมประมง

ญี่ปุ่น อนุมัติการปล่อยน้ำเสียกว่า 1 ล้านตันจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงสู่ทะเลหลังจากปรับปรุงสถานที่ดังกล่าวเมื่อปี 2565 และรัฐบาลรายงานเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า น้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ อาจถูกปล่อยลงสู่ทะเลประมาณช่วงฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูร้อน จึงเกิดความกังวลมากขึ้นจากประเทศหมู่เกาะที่ยังเดือดร้อนจากผลเสียของการทดสอบนิวเคลียร์เมื่อหลายสิบปีก่อน

องค์กรความร่วมมือของประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก 17 ประเทศ (พีไอเอฟ) มองว่า การปล่อยน้ำเสียลงทะเลอาจสร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อพื้นที่ประมงที่เป็นแหล่งพึ่งพาทางเศรษฐกิจ และเป็นแหล่งปลาทูน่า 50% ของโลก

“เฮนรี พูนา” เลขาธิการพีไอเอฟ ทักท้วงเมื่อวันพุธ (18 ม.ค.) ผ่านการประชุมไลฟ์สดในเมืองซูวา ประเทศฟิจิ ว่า “ภูมิภาคของเราจะไม่ยอมให้มีการปล่อยน้ำเสียลงทะเลอย่างเด็ดขาด จนกว่าคู่กรณีจะพิสูจน์ว่าน้ำนั้นปลอดภัยจริง เราต้องปกป้องการกระทำที่หลอกลวง หรือนำเราไปสู่ภัยพิบัติการปนเปื้อนนิวเคลียร์ด้วยน้ำมือของคนอื่น” และเสริมว่า ทุกวันนี้ชาวหมู่เกาะต้องทนกับผลกระทบระยะยาวของการทดสอบนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง
 

เนื่องจากสหรัฐเคยดำเนินการทดสอบนิวเคลียร์ในหมู่เกาะแปซิฟิกในช่วงยุค 1940 และ 1950  ซึ่งหมู่เกาะมาร์แชลล์ ยังคงรณรงค์เรียกค่าชดเชยสำหรับผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมจากรัฐบาลวอชิงตัน

ส่วนฝรั่งเศสก็เคยทดสอบนิวเคลียร์ในช่วงปี 2509-2539 ที่เกาะปะการังโมโรรัว ในเฟรนซ์โพลินีเซีย ทางตอนโต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก

“เคน บุสเซลเลอร์” นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันสมุทรศาสตร์วูดส์โฮล กล่าวในที่ประชุมว่า คณะผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ของพีไอเอฟ เรียกร้องให้ญี่ปุ่นพิจารณาการปล่อยน้ำเสียลงทะเลอีกครั้ง เพราะไม่มีข้อมูลและรายละเอียดรองรับความจำเป็นในการปล่อยน้ำเสีย

“กัมมันตภาพรังสีจะแพร่กระจายทั่วมหาสมุทรผ่านกระแสน้ำ น้ำขึ้นน้ำลง ขณะที่สัตว์ทะเล รวมทั้งปลาเสี่ยงถูกปนเปื้อน” บุสเซลเลอร์กล่าว

ด้านโฆษกรัฐบาลสหรัฐ แนะนำว่า ญี่ปุ่นต้องตรวจสอบทางเลือกหลายรูปแบบ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่พิเศษและมีความท้าทายนี้ “ญี่ปุ่นต้องเปรียบเทียบทางเลือกต่างๆ รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นผ่านการตัดสินใจปล่อยน้ำเสีย และต้องปรับแนวทางดำเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ที่ทั่วโลกยอมรับ” โฆษกสหรัฐ ระบุ
 

“เราหวังว่า ญี่ปุ่นจะประสานงานอย่างต่อเนื่องกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ซึ่งทบวงนี้คอยติดตามประสิทธิผลของการปล่อยน้ำเสีย” รัฐบาลสหรัฐกล่าว

กระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่น ระบุเมื่อเดือนก.ค.ปีที่แล้วว่า หน่วยงานกำกับดูแลเห็นว่ามีความปลอดภัยเพียงพอที่จะปล่อยน้ำลงทะเล ซึ่งน้ำจะถูกกรองเพื่อกำจัดไอโซโทปส่วนใหญ่ออก โดยใช้เทคโนโลยีการบำบัดน้ำที่เรียกว่า “เอแอลพีเอส” (ALPS) แต่ยังคงมีร่องรอยของทริเทียม (tritium) ซึ่งเป็นไอโซโทป 1 ใน 3 ชนิดของอะตอมไฮโดรเจนที่แยกออกจากน้ำได้ยาก แต่จะไม่เป็นอันตรายหากปนเปื้อนในปริมาณน้อย

นอกจากสร้างความกังวลแก่ประเทศหมู่เกาะแล้ว แผนปล่อยน้ำเสียลงทะเลยังเจอกระแสต่อต้านและสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชน โดยเฉพาะคนที่อยุ่ในอุตสาหกรรมประมง

 "มาซิฮิเดะ คิมูระ" สมาชิกกลุ่มรณรงค์ต่อต้านนิวเคลียร์แห่งญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า “มีคนตั้งข้อสงสัยว่าแผนปล่อยน้ำเสียลงทะเลของญี่ปุ่นเป็นการละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันมลพิษทางทะเลจากการปล่อยน้ำเสียและอื่น ๆ รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเล ปี1996ด้วย”

แผนปล่อยน้ำเสียครั้งนี้ยังละเมิดอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น ยอมรับว่าพื้นที่ที่มีการปล่อยน้ำเสียอาจไม่ครอบคลุมพื้นที่ทางทะเลของประเทศ 

คิมูระ ให้ความเห็นว่า ไม่ควรมีการอนุญาตให้เกิดการแพร่กระจายของสารกัมมันตภาพรังสี การเก็บรักษาเป็นวิธีเดียวที่จะช่วยป้องกันได้ และควรล้มเเลิกความพยายามปล่อยน้ำเสียลงทะเล เพื่อป้องกันไม่ให้แหล่งน้ำมีสารปนเปื้อนมากขึ้น