หนังเล่าโลก Quai d'Orsay ‘ฝรั่งเศสบนเวทีมหาอำนาจ’

หนังเล่าโลก Quai d'Orsay ‘ฝรั่งเศสบนเวทีมหาอำนาจ’

ความตั้งใจที่มีมาตั้งแต่แรกในการเขียนคอลัมน์หนังเล่าโลก เนื่องจากเป็นคนทำงานประจำโต๊ะข่าวต่างประเทศ ชมภาพยนตร์เรื่องใดก็เห็นแต่ข่าวที่เคยแปลแทรกอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ การเขียนคอลัมน์จึงต้องออกไปในทางเล่าข่าว ไม่ใช่เขียนถึงตัวเรื่องแบบนักวิจารณ์ภาพยนตร์

แต่เชื่อหรือไม่ว่า มีไม่กี่ครั้งที่ได้ชมภาพยนตร์ว่าด้วยนโยบายต่างประเทศ และคนในกระทรวงนี้โดยตรง ล่าสุดคือภาพยนตร์ฝรั่งเศสเรื่อง Quai d'Orsay แถมยังเป็นการชมแบบบังเอิญที่สนามหญ้าหน้าทำเนียบเอกอัครราชทูตอันงดงามเลื่องลือเสียด้วย! 

Quai d'Orsay เป็นภาพยนตร์คอมเมดี ปี 2013 ของผู้กำกับ Bertrand Tavernier  สร้างจากการ์ตูนเสียดสี บอกเล่าเรื่องราวของ อาร์ตูร์ วลามิงค์ นักศึกษาหนุ่มที่กำลังทำวิทยานิพนธ์ได้รับการว่าจ้างให้มาทำงานที่กระทรวงต่างประเทศ มีหน้าที่เขียนสุนทรพจน์ให้รัฐมนตรี อเล็กซองด์ ไตยาร์ด เดอ วอร์มส์ นักการทูตในอุดมคติ รูปร่างสูงสง่า หน้าตาดี ผมสีดอกเลาเพิ่มเสน่ห์   โจทย์ใหญ่ที่อาร์ตูร์ได้รับคือ ต้องร่างสุนทรพจน์ให้อเล็กซองด์ แถลงต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซี) ในนครนิวยอร์ก แน่นอนว่าสุนทรพจน์ต้องถูกใจรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงแต่ระหว่างการเขียนอาร์ตูร์ต้องถนอมความรู้สึกของทีมงานสุดสับสนอลหม่านของรัฐมนตรีให้ได้ด้วย จึงไม่ใช่งานง่ายของหนุ่มปอนๆ เพราะเมื่อเริ่มเข้ามาทำงานที่กระทรวงวันแรกอาร์ตูร์ต้องเรียนรู้การทำงานร่วมกับทีมงานสุดป่วนของรัฐมนตรี รวมถึงความจำเป็นในการปรับภาพลักษณ์ เสื้อผ้า หน้า ผม รองเท้า ต้องเนี้ยบแม้เขาไม่มีตัวตนอยู่ในกลุ่มนักการทูตก็ตาม แต่เมื่อเข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตาม 

ท่ามกลางบรรยากาศอันวุ่นวายในห้องทำงานรัฐมนตรี ระหว่างกระบวนการร่างสุนทรพจน์รัฐมนตรี อเล็กซองด์ต้องมีเรื่องอื่นๆ มากวนใจไม่ว่าจะเป็นเหตุยึดเรือบรรทุกน้ำมัน หรือการรัฐประหารในประเทศแอฟริกาอดีตอาณานิคมฝรั่งเศส ที่เกิดการแย่งชิงบทบาทนำระหว่างกระทรวงต่างประเทศกับกลาโหม ทุกเรื่องที่เข้ามาล้วนต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมมิใช่รัฐมนตรีเพียงคนเดียว   เรียกได้ว่าเมื่อโลกป่วน ฝรั่งเศส และทีมงานของรัฐมนตรีอเล็กซองด์ ก็ต้องป่วนไปด้วยไม่เว้นแม้แต่อาร์ตูร์ ที่เพิ่งเข้าวงการมาใหม่ๆ  

สุดท้ายสุนทรพจน์สุดหินก็สำเร็จลุล่วง อาร์ตูร์ได้ร่วมทีมอเล็กซองด์ไปถึงยูเอ็นที่นิวยอร์ก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส กล่าวสุนทรพจน์ได้อย่างน่าปลาบปลื้มเรียกเสียงปรบมือกึกก้องห้องประชุม ข้อมูลจากเว็บไซต์ un.org ระบุ สปีชของอเล็กซองด์ตอนท้ายของภาพยนตร์เข้าใจกันอย่างแพร่หลายว่า มาจากสปีชของโดมินิก เดอ วิลแป็ง (Dominique de Villepin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสที่บ่งบอกจุดยืนของประเทศต่อสงครามอิรัก 

ค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์เดอะ การ์เดี้ยน เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2003 ซึ่งเป็นวันที่ยูเอ็นเอชซีได้รับรายงานจากหัวหน้าคณะตรวจสอบอาวุธอิรัก ส่งผลให้สมาชิกยูเอ็นแตกออกเป็นสองฝ่าย ฝรั่งเศส จีน และซีเรีย ผลักดันขอเวลาตรวจสอบอาวุธอิรักเพิ่มเติม สวนทางกับท่าทีของสหรัฐ สหราชอาณาจักร และสเปนที่อยากทำสงคราม

“สงครามมักเป็นการอนุมัติความล้มเหลว การใช้กำลังไม่ชอบธรรมในเวลานี้ ยังมีทางเลือกอื่นที่ไม่ต้องทำสงคราม นั่นคือ การปลดอาวุธอิรักผ่านการตรวจสอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส (ตัวจริง) กล่าวไว้เช่นนี้ในยูเอ็นเอสซี ซึ่งตามรายงานข่าวของเดอะ การ์เดี้ยน สุนทรพจน์อันงดงามราวบทกวี และลึกซึ้งกินใจเรียกเสียงปรบมือจากยูเอ็นเอชซี เช่นเดียวกับภาพที่ปรากฏในภาพยนตร์

ผู้เขียนได้ชม  Quai d'Orsay ซึ่งหมายถึงกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ในงานเปิดตัว Sawasdee France (สวัสดีฟรานซ์)  ชื่อตราสัญลักษณ์ใหม่ของฝ่ายวัฒนธรรมและความร่วมมือ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เพื่อใช้ในการจัดงาน และกิจกรรมของฝรั่งเศสในไทย เมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา ส่วนที่บอกไว้ตอนต้นว่าเป็นการชมด้วยความบังเอิญเนื่องจากเดิมทีผู้เขียนตั้งใจจะไปร่วมกิจกรรมเปิดทำเนียบเอกอัครราชทูตเท่านั้น แต่เมื่อทราบว่ามีการฉายภาพยนตร์บริเวณสนามหญ้าหน้าทำเนียบติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา  ได้ดูหนังท่ามกลางบรรยากาศงามๆ แบบนี้ไม่ควรพลาด  ทั้งๆ ที่ตอนนั้นยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าภาพยนตร์เรื่องอะไร แนวไหน ซึ่งดูแล้วไม่ผิดหวังจริงๆ กับบทบาทของฝรั่งเศสในฐานะมหาอำนาจโลกรายหนึ่ง 

ยิ่งปีนี้ความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-ฝรั่งเศส ดูจะใกล้ชิดมากขึ้นหลังจากประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง มาเยือนไทยเป็นแขกพิเศษของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในวาระไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเอเปคระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย.2565  โดยปีนี้เป็น “ปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทย ปี 2566” (2023 Thailand -France Year of Innovation) ที่มุ่งสร้างภาพลักษณ์ใหม่ในการดำเนินความสัมพันธ์ฝรั่งเศส-ไทย ด้วยการปรับเปลี่ยนมุมมองที่ทั้งสองประเทศมีต่อกันให้ทันสมัยมากขึ้น งานเปิดตัวจะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดี ที่ 26 ม.ค. ณ สวนเบญจกิติ กรุงเทพมหานคร  

การจัดฉายภาพยนตร์ Quai d'Orsay จึงถือเป็นจังหวะที่ลงตัว เมื่อดูหนังเกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศฝรั่งเศสแล้วเห็นทีต้องไปเยี่ยมชมงาน “ปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทย ปี 2566” ด้วย เพื่อให้ประจักษ์แก่สายตาว่า ไม่ว่าจะเป็นบทบาทในเวทีพหุภาคีหรือทวิภาคี มหาอำนาจอย่างฝรั่งเศสก็เล่นได้ดีทุกระดับ 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์