บ.เสื้อผ้าญี่ปุ่นหนีจีนซบอาเซียนเหตุ‘ค่าแรงพุ่ง-ซีโร่ โควิด’

บ.เสื้อผ้าญี่ปุ่นหนีจีนซบอาเซียนเหตุ‘ค่าแรงพุ่ง-ซีโร่ โควิด’

บ.เสื้อผ้าญี่ปุ่นหนีจีนซบอาเซียนเหตุ‘ค่าแรงพุ่ง-ซีโร่ โควิด’ รวมถึง ซัพพลายเออร์ยูนิโคล ที่กำลังย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปอาเซียนหวังพึ่งพาประโยชน์ด้านภาษีภายใต้ความตกลงอาร์เซ็ป

บรรดาซัพพลายเออร์ที่ผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นให้แบรนด์เสื้อผ้าดังของญี่ปุ่นจำนวนมากเริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อไปตั้งฐานการผลิตในประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียนแทน  โดยเฉพาะในเวียดนามและกัมพูชา เนื่องจากต้นทุนค่าแรงงานในจีนที่แพงขึ้นและนโยบายกำจัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของทางการปักกิ่งให้เป็นศูนย์ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ

การเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ของบรรดาผู้ผลิตเสื้อผ้าญี่ปุ่น เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจท่ามกลางภาวะเงินเยนอ่อนค่าและต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้นมาก ขณะที่ความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่มีผลบังคับไปเมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา ก็ช่วยต่อลมหายใจให้แก่บริษัทเหล่านี้ได้มาก

บริษัทเสื้อผ้ารายใหญ่อย่าง Adastria, โอยามา เทรดดิ้ง และบรรดาซัพพลายเออร์ที่ผลิตเสื้อผ้าป้อนให้ยูนิโคลกำลังย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังประเทศสมาชิกกลุ่มอาร์เซ็ปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อพึ่งพาประโยชน์จากการยกเว้นภาษีนำเข้าสิ่งทอหรือเสื้อผ้า

Adastria ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นยอดนิยมหลายแบรนด์ รวมถึง โกลบอล เวิร์ก เพิ่มการผลิตในกัมพูชาและเวียดนามตั้งแต่ปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มกำลังการผลิตสินค้ามาตรฐานอย่างเช่นเสื้อสุภาพสตรี โดยสัดส่วนการผลิตในอาเซียนนับจนถึงเดือนส.ค.เพิ่มขึ้นสองเท่าปีต่อปีเป็น 22% 

บ.เสื้อผ้าญี่ปุ่นหนีจีนซบอาเซียนเหตุ‘ค่าแรงพุ่ง-ซีโร่ โควิด’

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตในอินโดนีเซีย บังกลาเทศและประเทศอื่นๆ โดยเพิ่มการผลิตในอาเซียนมากถึง 50% ภายในปีงบการเงินที่สิ้นสุดปลายเดือนก.พ.ปี 2569 สวนทางกับในจีน ที่ผลผลิตเสื้อผ้าในอุตสาหกรรมลดลงเหลือ 59%ในปี 2564 จาก81% ในช่วง10ปีก่อนหน้านี้

ด้านโอยามา เทรดดิ้ง ผู้จำหน่ายเสื้อผ้าสุภาพบุรุษรายใหญ่ของญี่ปุ่น กำลังอยู่ระหว่างเพิ่มการจัดซื้อจัดจ้างจากอินโดนีเซียและเวียดนาม โดยมีสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าต่างๆจากจีนในสัดส่วน 36% ในปีงบการเงิน 2564 ลดลง 7% จากปีก่อนหน้านี้ 

“ช่วงระยะกลางถึงระยะยาว สัดส่วนการผลิตเสื้อผ้าในจีนจะปรับตัวลงมากกว่านี้”โอซามุ โอยามา ประธานบริษัทโอยามา กล่าว

ขณะที่ “มัตสึโอกะ คอร์พอเรชัน”ผู้ผลิตที่ผลิตเสื้อผ้าตามสัญญาให้แก่แบรนด์ยูนิโคล่ของฟาสต์ รีเทลลิง ผลิตเสื้อผ้าประมาณ 50%ในจีนในปีงบการเงิน ซึ่งสิ้นสุดเดือนมี.ค.ปี 2565 มีแผนลดการผลิตลงให้เหลือ 29% ภายในปีงบการเงิน2568 

ในช่วงเวลาเดียวกัน บริษัทจะเพิ่มการผลิตที่โรงงานในบังกลาเทศเป็น 34% จาก 28%  และในเวียดนามเพิ่มการผลิตเป็น 28% จาก 16% 

นอกจากนี้ บริษัทยังเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตในสองประเทศ ด้วยการลงทุนในโรงงานผลิตแห่งใหม่ในมูลค่า 8,700 ล้านเยน (64 ล้านดอลลาร์)ในช่วงสองปีข้างหน้าจนถึงเดือนมี.ค.ปี 2566

รายงานอุตสาหกรรมสิ่งทอชิ้นนี้จากนิกเคอิ เอเชีย ระบุด้วยว่า ในหลายขั้นตอนของการผลิตเสื้อผ้ายังคงพึ่งพาแรงงานคน โดยเฉพาะงานเย็บ ทำให้ผู้ผลิตต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าแรงงานที่สูงนอกเหนือจากต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตที่ตอนนี้ปรับตัวแพงขึ้น

บริษัทเสื้อผ้าของญี่ปุ่นเริ่มย้ายฐานการผลิตจากญี่ปุ่นไปจีนเพื่อพึ่งพาแรงงานราคาถูกตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 แต่ตั้งแต่ช่วงปี 2553 การย้ายฐานการผลิตเริ่มขยายไปยังประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายไชนาพลัสวัน ขณะที่ต้นทุนค่าแรงในจีนเริ่มแพงขึ้นเพราะการพัฒนาทางเศรษฐกิจ 

ข้อมูลขององค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น(เจโทร)ระบุว่า ค่าจ้างแรงงานรายเดือนโดยเฉลี่ยของคนงานในโรงงานในกวางโจวของจีนอยู่ที่ประมาณ 670 ดอลลาร์สูงกว่าค่าจ้างรายเดือนคนงานในโฮจิมินห์ ซิตี้ของเวียดนามซึ่งอยู่ที่ประมาณ 270 ดอลลาร์และในกรุงธาดา บังกลาเทศซึ่งอยู่ที่ 120 ดอลลาร์

นอกจากนี้ การใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนที่มีการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ก็ส่งผลกระทบอย่างมากแก่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมและเครือข่ายโลจิสติกในประเทศ บรรดาผู้ผลิตเสื้อผ้าของญี่ปุ่นจึงเจอปัญหาไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันกับความต้องการของลูกค้าได้ หากยังคงเดินหน้ามุ่งมั่นผลิตสินค้าในจีนต่อไป

สำหรับสถานการณ์โควิดในจีนนั้ ล่าสุด “เฟิง จื่อเจี้ยน” อดีตรองหัวหน้าศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ของจีนเตือนว่า ในท้ายที่สุดแล้วประชากรส่วนใหญ่ของจีนอาจต้องติดเชื้อโควิด-19 หลังจีนเริ่มเดินหน้าผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์ไปสู่การอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนสูงขึ้น

เฟิง คาดการณ์ว่า ประชาชนชาวจีนราว 80-90% อาจต้องติดเชื้อโควิด-19 ในท้ายที่สุด ทั้งยังระบุในการประชุมออนไลน์ซึ่งจัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยซิงหวา กรุงปักกิ่งว่า “การติดเชื้ออย่างน้อย 1 ครั้ง อาจกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้"

แต่ใช่ว่าจะมีแต่อุตสาหกรรมสิ่งทอเท่านั้นที่เพิ่มการผลิต หรือเพิ่มการจัดซื้อจัดจ้างในอาเซียน บริษัทเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังอย่างนิโตริ ก็มีแผนเข้าไปตั้งโรงงานผลิตแห่งใหม่ในเวียดนาม เช่นเดียวกับผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์สำนักงานอย่างโอกามูระ ก็ปรับเปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบที่ผลิตจากที่อื่นนอกเหนือจากจีน

อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งมองว่าจีนมีจุดอ่อนในเรื่องต้นทุนค่าแรงแพง แต่หากมองที่เทคโนโลยีแล้ว จีนยังคงเป็นประเทศที่น่าดึงดูดใจ

“จีนมีเทคโนโลยีขั้นสูงและมีระบบซัพพลายเชนที่มีการพัฒนาแล้วอย่างดี รวมทั้งเป็นแหล่งวัตถุดิบหลายประเภท”ฮิโรยูกิ คาเนโกะ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน(ซีเอฟโอ)มัตสึโอกะ คอร์พอเรชัน ให้ความเห็น