‘วงการสื่อ-บันเทิง’สหรัฐป่วน ‘นิวยอร์ก ไทม์’ผละงานประท้วง

‘วงการสื่อ-บันเทิง’สหรัฐป่วน ‘นิวยอร์ก ไทม์’ผละงานประท้วง

กระแสการปลดพนักงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมต่างๆของสหรัฐกำลังจุดชนวนให้เกิดการชุมนุมประท้วงเพื่อแสดงความไม่พอใจการบริหารงานของบริษัท

ล่าสุด สหภาพแรงงานของของนิวยอร์กไทม์ส ระบุว่า พนักงานมากกว่า 1,100 คนจะหยุดงานประท้วงเป็นเวลา 1 วันในวันพฤหัสบดี (8 ธ.ค.) หลังจากล้มเหลวในการเจรจาต่อรองเรื่องสัญญาจ้างงานที่สมบูรณ์และเป็นธรรมกับหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ

การหยุดงานดังกล่าวซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1970 ที่พนักงานของนิวยอร์กไทมส์จำนวนมากพร้อมใจกันนัดหยุดงานประท้วง เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั่วสหรัฐที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยพนักงานจากบริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ เช่น อเมซอน, สตาร์บัคส์ คอร์ป และแอ๊ปเปิ้ล อิงค์ ต่างออกมาประท้วงเพื่อต่อสู้กับสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าเป็นการปฏิบัติต่อแรงงานที่ไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้ พนักงานในแผนกข่าวของนิวยอร์กไทม์ส และพนักงานที่อยู่ภายใต้นิวส์กิลด์แห่งนิวยอร์ก ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานของกลุ่มสื่อสารมวลชนในมหานครนิวยอร์ก เปิดเผยว่า พวกเขาหมดความอดทนกับการต่อรองที่ยืดเยื้อยาวนาน นับตั้งแต่สัญญาจ้างงานล่าสุดของพวกเขาสิ้นสุดลงในเดือนมี.ค. ปี2564

การเจรจาต่อรองยืดเยื้อมานานกว่า 12 ชั่วโมงจนถึงช่วงเย็นของวันอังคาร (6 ธ.ค.) และต่อเนื่องจนถึงวันพุธ แต่ทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นต่าง ๆ รวมถึงการขึ้นค่าแรง และนโยบายการทำงานนอกสำนักงาน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการหยุดงานประท้วงในวันพฤหัสบดีจะส่งผลกระทบต่อการนำเสนอข่าวหรือไม่ แต่ผู้สนับสนุนการหยุดงานประท้วง รวมถึงพนักงานแผนกข่าวด่วนและข่าวสด ซึ่งครอบคลุมถึงการนำเสนอข่าวด่วนในหนังสือพิมพ์ฉบับดิจิทัลด้วย 

กลุ่มพนักงานวางแผนจะออกมาชุมนุมกันในช่วงบ่ายของวันพฤหัสบดี ที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานซึ่งตั้งอยู่ใกล้ตึกไทม์สแควร์ในนิวยอร์ก

ด้าน“แดเนียล โรดส์ ฮา” โฆษกของนิวยอร์กไทม์ส เปิดเผยกับสำนักข่าวเอพีว่า บริษัทมีแผนการที่แข็งแกร่งในการเดินหน้าผลิตคอนเทนต์ต่อไป ซึ่งรวมถึงการพึ่งพานักข่าวต่างประเทศและเหล่านักข่าวที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน

การเคลื่อนไหวของนิวยอร์กไทม์ มีขึ้นหลังจาก"คริส ลิชต์" ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของซีเอ็นเอ็น แจ้งโดยตรงไปยัง พนักงานจำนวนหนึ่งว่า บริษัทจำเป็นต้องยุติสัญญาการว่าจ้าง ซึ่งแม้ตอนนี้ยังไม่มีการเปิดเผยจำนวนพนักงานที่ถูกเลิกจ้างอย่างเป็นทางการ แต่แหล่งข่าวให้ข้อมูลว่า พนักงานของซีเอ็นเอ็น เตรียมตัวไว้แล้วว่าจะมีการถูกปลดออกจากตำแหน่ง 

การปลดพนักงานของซีเอ็นเอ็นเกิดขึ้นหลังจากอดีตบริษัทแม่ คือ วอร์เนอร์มีเดีย ควบรวมกิจการเมื่อต้นปีนี้ กับบริษัทวอร์เนอร์ บราเธอร์ส ดิสคัฟเวอรี ตามแผนปรับโครงสร้าง ซึ่งการควบรวมกิจการเสร็จสิ้นเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา และซีเอ็นเอ็นประกาศยุติบริการสตรีมมิ่งซีเอ็นเอ็น พลัสหลังเพิ่งเปิดให้บริการได้เพียงเดือนเดียว

ด้านนิวยอร์ก ไทม์ส รายงานโดยอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าววงในเกี่ยวกับการประมาณการผลกำไรของซีเอ็นเอ็นในปีนี้ ว่า อาจพลาดเป้าหมาย 1,100 ล้านดอลลาร์จำนวนมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากเรตติ้งของหลายรายการลดลงอย่างชัดเจน แม้สถิติผู้ชมรายการข่าวเช้าเริ่มกระเตื้องขึ้นบ้างแล้ว แต่ในส่วนของรายการข่าวค่ำและข่าวดึก ซีเอ็นเอ็นยังคงไม่สามารถเฟ้นหาผู้ดำเนินรายการ ที่สามารถดึงดูดผู้ชมได้

 ซีเอ็นเอ็น มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจียของสหรัฐ ก่อตั้งเมื่อปี 2523 โดย“เท็ด เทอร์เนอร์” ร่วมกับ“รีส เชินเฟลด์” ถือเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของสหรัฐ ซึ่งนำเสนอข่าวตลอด 24 ชั่วโมง โดยผลสำรวจของนีลเซน เมื่อเดือน มิ.ย. ปี 2564 ระบุว่า ซีเอ็นเอ็นมีเรตติ้งผู้ชมเป็นอันดับ 3 ในสหรัฐ รองจาก ฟ็อกซ์ นิวส์ และ เอ็มเอสเอ็นบีซี

 ขณะที่วอลสตรีท เจอร์นัล รายงานว่าวอลท์ ดิสนีย์ โค,วอร์เนอร์ บราเธอร์ ดิสคัฟเวอรี และพาราเมาท์ โกลบอล สูญเสียรายได้ไตรมาสล่าสุดรวมกัน 2,500 ล้านดอลลาร์ และพยายามจะกอบกู้สถานการณ์ ขณะที่เอเอ็มซี เน็ตเวิร์ก อิงค์ เจ้าของสื่อทีวี, เคเบิลทีวี และสตรีมมิ่ง ก็เตรียมลดพนักงานลง 20% โดยอ้างขาดทุนจากบริการสตรีมมิ่ง 

 ส่วนแกนเน็ตต์ โค ซึ่งผลิตหนังสือพิมพ์หลายหัวรวมทั้ง ยูเอสเอ ทูเดย์เริ่มปลดพนักงานมากกว่า 200 คน หลังจากปลดไปมากถึง 400 คนเมื่อต้นปี เช่นเดียวกับ วอชิงตัน โพสต์็ ประกาศจะยุติการพิมพ์นิตยสารฉบับวันอาทิตย์เพราะปัญหาขาดแคลนพนักงาน