สงครามปลุกความต้องการอาวุธ สวนทางอุปทานกำลังตกต่ำ

สงครามปลุกความต้องการอาวุธ สวนทางอุปทานกำลังตกต่ำ

สำนักข่าวเอเอฟพีเผยผลสำรวจของนักวิจัย ระบุว่า ยอดขายอาวุธและการเกณฑ์ทหารเพิ่มขึ้นในปี 2564 แต่ยังถูกจำกัดจากปัญหาซัพพลายทั่วโลก ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสงครามในยูเครนทำให้ความต้องการกำลังทางทหารเพิ่มขึ้น ขณะที่การจัดหาซัพพลายเริ่มลดลง

แนน เทียน หัวหน้านักวิจัยจากสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) กล่าวว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนอาจทำให้ปัญหาซัพพลายเชนแย่ลงไปอีก เนื่องจากรัสเซียเป็นแหล่งซัพพลายของวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิตอาวุธ

รายงานล่าสุดจาก SIPRI ระบุว่าบริษัทอาวุธ 100 อันดับแรกจำหน่ายอาวุธและบริการทางทหารอื่น ๆ รวมมูลค่าทั้งหมด 5.92 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2564 เพิ่มขึ้น 1.9% จากปีก่อน อย่างไรก็ตาม การซื้ออาวุธเพิ่มขึ้นได้รับผลกระทบจากปัญหาซัพพลายเชนทั่วโลก

ปัญหาซัพพลายเชนจากการขาดแคลนแรงงานและความยากลำบากในการจัดหาวัตถุดิบต่าง ๆ ทำให้ความสามารถในการผลิตและจัดส่งอาวุธลดลง 

ซึ่งผลกระทบอันดับแรก คือ หลายประเทศที่ส่งอาวุธให้ยูเครนมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ จะต้องรีบหาเติมสต็อกอาวุธ 

อย่างที่สอง สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยลดลงนั้น หมายความว่า หลายประเทศกำลังจัดหาอาวุธเพิ่มขึ้น และปัญหาด้านอุปทานที่ย่ำแย่อาจเป็นอุปสรรคในการจัดหาอาวุธด้วย

อย่างไรก็ตาม บริษัทอาวุธในสหรัฐ 40 อันแรกยังคงครองการผลิตอาวุธทั่วโลก ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดขายอาวุธทั้งโลกที่ 299,000 ล้านดอลลาร์

ในขณะเดียวกัน สหรัฐเป็นภูมิภาคเดียวที่ยอดขายอาวุธลดลง 0.8% ในปี 2563 ส่วนบรรดาบริษัทผลิตอาวุธท็อป 5 อาทิ Lockheed Martin, Raytheon Technologies, Boeing, Northrop Grumman และ General Dynamics มีเพียงบริษัท Raytheon เท่านั้นที่มียอดขายอาวุธเพิ่มขึ้น

ส่วนยอดขายของ 8 บริษัทอาวุธที่ใหญ่ที่สุดในจีน เพิ่มขึ้น 6.3% สู่ระดับ 109,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 และบริษัทอาวุธในยุโรป 27 แห่งที่ติดท็อป 100 มียอดขายรวมกันอยู่ที่ 123,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2564 เพิ่มขึ้น 4.2% จากปี 2563

ทั้งนี้ รายงานวิจัยย้ำว่า แนวโน้มบริษัทเอกชนที่เข้าซื้อบริษัทผลิตอาวุธเริ่มชัดเจนขึ้นมากกว่า 3-4 ปีก่อน ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวเป็นการคุกคามอุตสาหกรรมอาวุธให้ตกต่ำลงไปอีก และจะติดตามการซื้อขายได้ยากขึ้น