ถอดบทเรียน “เวียดนาม” ฝ่าวิกฤติขาดแคลนน้ำมัน

ถอดบทเรียน “เวียดนาม” ฝ่าวิกฤติขาดแคลนน้ำมัน

ย้อนดูบทเรียนภาวะขาดแคลนน้ำมันใน “เวียดนาม” เมื่อต้นเดือน พ.ย. สาเหตุแท้จริงเกิดจากอะไร และรัฐบาลรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไรเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

เมื่อต้นเดือน พ.ย. ปั๊มน้ำมันในนครโฮจิมินห์ของเวียดนาม ราว 20% หรือคิดเป็น 108 แห่งจากทั้งหมด 550 แห่ง ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมัน ไม่มีน้ำมันจ่ายให้กับยานพาหนะต่างๆ รวมไปถึงนอกโฮจิมินห์อย่าง กู๋จี, ฮ้อกโมน, บิ่ญจั๊ญ, บิ่ญเติน และกรุงฮานอย ก็ขาดแคลนเชื้อเพลิงหนักกว่าเช่นเดียวกัน

ถอดบทเรียน “เวียดนาม” ฝ่าวิกฤติขาดแคลนน้ำมัน
- ผู้คนต่อเเถวรอน้ำมันในถนน Nguyen Phong Sac เขต Cau Giay ในกรุงฮานอย (ภาพ: VnExpress/Tu Anh) -

ถึงแม้ว่า ขณะนี้สถานการณ์ดังกล่าวเริ่มกลับมามีเสถียรภาพและปัญหาอุปทานพลังงานเริ่มดีขึ้น แต่คำถามที่ตามมาคือ ทำไมประเทศที่โตเร็วอย่างเวียดนาม ถึงประสบเหตุการณ์ขาดแคลนพลังงานได้ บทความนี้มีคำตอบ

สาเหตุหลักของการขาดแคลนเชื้อเพลิงในเวียดนาม มีอยู่ 3 ข้อดังนี้

1. การคุมราคาเชื้อเพลิงโดยรัฐ “ที่ไม่สะท้อนความจริง”

- ผู้ค้าปลีกหรือเจ้าของปั๊ม (Retailers)

ปัจจุบัน การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้น ขณะที่เงินสกุลอื่น ซึ่งรวมถึงเงินด่องของเวียดนามอ่อนค่าลง นั่นจึงทำให้ “ต้นทุนนำเข้าน้ำมันสูงขึ้น”

เมื่อต้นทุนน้ำมันสูงขึ้น ต้นทุนค่าขนส่งจากน้ำมันก็สูงตาม แต่ราคาหน้าปั๊มกลับไม่สามารถขยับขึ้นให้สอดคล้องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ จึงยิ่งทำให้เจ้าของปั๊มขาดทุน

ซาง จั่น ต่าย เจ้าของปั๊มน้ำมัน 6 แห่งในจังหวัดจ่าวิญ กล่าวว่า ยิ่งขายมาก ยิ่งขาดทุน จึงลังเลที่จะนำน้ำมันเข้ามาเพิ่ม

เหล่ หวั่น หมี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัทฮอกเมิญ คอมเมอร์เชียล คอมพะนี ซึ่งดำเนินการปั๊มน้ำมัน 32 แห่งในนครโฮจิมินห์ เปิดเผยว่า บริษัทขาดทุนไป 8 พันล้านด่อง หรือราว 11.5 ล้านบาทแล้วในปีนี้

เมื่อไม่สามารถเพิ่มราคาขายให้สูงขึ้นตามต้นทุนได้จากการควบคุมราคาโดยรัฐ บรรดาเจ้าของปั๊มน้ำมันในเวียดนามก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะขาย จึงเลือกที่จะปิดกิจการปั๊มแทน ส่งผลให้การขาดแคลนเชื้อเพลิงในประเทศรุนแรงขึ้น

ถอดบทเรียน “เวียดนาม” ฝ่าวิกฤติขาดแคลนน้ำมัน
- ชายเวียดนามกำลังเติมน้ำมันในกรุงฮานอย (ภาพ:REUTERS/Kham) -

วันที่ 1 พ.ย. 65 รัฐบาลยอมผ่อนปรนให้มีการปรับขึ้นราคาเล็กน้อยได้ น้ำมันเบนซิน RON95 ปรับขึ้น 1.8% มาอยู่ที่ลิตรละ 22,750 ด่อง (ราว 32.83 บาท), E5 RON 92 ปรับขึ้น 1.77% มาอยู่ที่ 21,870 ด่อง (ราว 31.56 บาท) และ น้ำมันดีเซลปรับขึ้น 1.17% มาอยู่ที่ 25,070 ด่อง (ราว 36.17 บาท)

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นราคาเพื่อเพิ่มส่วนต่างนี้ก็ไม่เพียงพอ เพราะครอบคลุมต้นทุนเพียง 50% เท่านั้น

- ผู้ค้าส่งหรือผู้จัดจำหน่ายเชื้อเพลิงไปยังแต่ละปั๊ม (Fuel Distributors)

ปัจจุบัน นอกจากเจ้าของปั๊มจะได้รับส่วนต่างไม่เพียงพอแล้ว ผู้ค้าส่งยังได้ค่าคอมมิชชั่นที่ต่ำมาก อยู่ที่ 0-500 ด่องต่อลิตร (ประมาณ 0-0.72 บาท) ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงเรียกร้องให้เพิ่มค่าคอมมิชชั่นเป็น 1,500 ด่อง หรือราว 2.16 บาท/ลิตร

จะเห็นได้ว่า ต้นทุนน้ำมันภายนอกที่สูงขึ้น แต่ราคาขายน้ำมันที่รัฐกำหนดกลับไม่ยืดหยุ่นตาม จึงทำให้พวกเขาเสี่ยงขาดทุน และจำต้องตัดสินใจลดการนำเข้าน้ำมันแทน ผลกระทบคือ อุปทานพลังงานยิ่งขาดแคลนขึ้นไปอีก
 
2. การระงับใบประกอบการซัพพลายเออร์

ซัพพลายเออร์น้ำมัน ในเวียดนามต้องปฏิบัติตามกฎของรัฐอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง การเก็บรักษา รถขนส่ง แต่ปรากฎว่า 2 ซัพพลายเออร์ที่ต้องส่งเชื้อเพลิงให้แต่ละปั๊มอย่าง “เซวียน เวียต ออยล์” (Xuyen Viet Oil) ที่นำเข้าและขายเชื้อเพลิงกว่า 1 แสนลูกบาศก์เมตรสู่ตลาด และ “นาม ซง เหา” (Nam Song Hau) กลับถูกระงับใบประกอบการ เนื่องจากทำผิดกฎด้านการก่อสร้างและหนีภาษี จึงทำให้อุปทานน้ำมันที่ควรผลิตได้ลดลงไปอีก

ในไตรมาส 3 การนำเข้าน้ำมันเบนซินของเวียดนามลดลง 40% จากไตรมาสสอง ในขณะที่น้ำมันดีเซลลดลง 35%

ถอดบทเรียน “เวียดนาม” ฝ่าวิกฤติขาดแคลนน้ำมัน
- พนักงานขายน้ำมันเบนซินที่ปั๊มจังหวัดซ้อกจาง สวมเสื้อที่มีข้อความว่า "เบนซินหมด" (ภาพ: VnExpress/Nguyen Lam) -

3. การขาดแคลนโรงกลั่นทางใต้

ในเวียดนาม โรงกลั่นเชื้อเพลิงที่ป้อนพลังงานให้ประเทศถึง 70 % กลับมีเพียงโรงกลั่นหลัก 2 แห่ง คือ โรงกลั่นซุงเกวิ๊ต (Dung Quat) ที่อยู่ในจังหวัดกว๋างหงาย ทางภาคกลาง และโรงกลั่นหงิเซิน ที่อยู่ในจังหวัดทัญฮว้า ทางภาคเหนือ

ในขณะที่โรงกลั่นทางใต้ ที่จังหวัดบ่าเสียะ-หวุงเต่า กำลังอยู่ในการก่อสร้าง ซึ่งหากมีจำนวนโรงกลั่นสอดคล้องกับการกลับมาเปิดประเทศและการเติบโตที่สูงของเวียดนาม จะช่วยบรรเทาการขาดแคลนพลังงานนี้ได้

ทางการเวียดนามกำลังแก้ปัญหาพลังงานอย่างไร

ขณะนี้รัฐพยายามที่จะเร่งกำลังการผลิตโรงกลั่นจากตอนนี้อยู่ที่ 100% แล้วให้เพิ่มขึ้นเป็น 107-110%

อีกทั้ง เหวียน ฮง  เดียน รัฐมนตรีอุตสาหกรรมและการค้า ได้เรียกร้องให้บริษัทค้าส่งปิโตรเลียมอย่าง พีวีเอ็น (PVN), ปิโตรลิเม็กซ์ (Petrolimex), ไมเพค (Mipec), เปติเม็กซ์ (Petimex) และ ถั่น เลอ เจนเนอรัล อิมพอร์ต-เอ็กซ์พอร์ต เทรดดิง คอร์ปอเรชัน (Thanh Le General Import-Export Trading Corporation) ให้ปล่อยขายน้ำมันสำรองออกมา เพื่อบรรเทาวิกฤติขาดแคลนพลังงานขณะนี้ โดยจำนวนน้ำมันสำรองนี้มีมากกว่า 1.25 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือคิดเป็น 74% ของการบริโภคชาวเวียดนามใน 1 เดือน

โดยสรุป การควบคุมราคาพลังงานโดยรัฐ เพื่อลดค่าครองชีพประชาชน หากดำเนินนโยบายที่เป็นการคุมเข้มมากเกินไปโดยไม่สอดคล้องกับต้นทุนทางธุรกิจ ก็จะทำให้ธุรกิจน้ำมันไม่ต้องการผลิตเพิ่มอีกต่อไป กลายเป็นปัญหาใหญ่ตามมาคือ “ภาวะขาดแคลนพลังงาน” รวมไปถึงการที่ซัพพลายเออร์สำคัญถูกระงับการให้บริการ และปริมาณโรงกลั่นมีไม่เพียงพอต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงของเวียดนาม เหล่านี้จึงทำให้เวียดนามประสบภาวะขาดแคลนพลังงานนั่นเอง

ถอดบทเรียน “เวียดนาม” ฝ่าวิกฤติขาดแคลนน้ำมัน
- ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ต่อเเถวรอน้ำมัน (ภาพ: Vietnam News Agency) -

----------------------

อ้างอิง: 

Asia Nikkei
VNExpress1
VNExpress2
VNExpress3
VNExpress4
VNExpress5
VNExpress6
TuoiTreNews