“ทูตจีน” ลั่นถึงเวลาปรับปรุงธรรมาภิบาล ยกระดับเอเปค

“ทูตจีน” ลั่นถึงเวลาปรับปรุงธรรมาภิบาล ยกระดับเอเปค

"หาน จื้อเฉียง" เผย จีนสนับสนุนบทบาทสำคัญไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปค และสีจิ้นผิงจะนำเสนอแนวทางแก้ไขและแนวคิดของจีนเกี่ยวกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจเอเปค การปรับปรุงธรรมาภิบาลโลก และการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก

หาน จื้อเฉียง”  เอกอัครราชทูตจีน  ประจำประเทศไทย ระบุว่าการเดินทางเยือนไทยของประธานาธิบดีสี  จิ้นผิงในฐานะประมุขแห่งรัฐของจีนเป็นครั้งแรก ถือเป็นหมุดหมายที่มีนัยสำคัญต่อการชี้นำและส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคี

สีจิ้นผิงได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Meeting) ครั้งที่ 29 ในกรุงเทพมหานคร และเยือนไทยตามคำเชิญของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ระหว่างวันพฤหัสบดี-วันเสาร์ (17-19 พ.ย.) นี้

ทูตหานให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนของจีนและไทยถึงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคว่าจากสถานการณ์ระหว่างประเทศอันซับซ้อนและผันผวนในปัจจุบัน หัวข้อการประชุม “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” (Open, Connect, Balance) ตอบสนองความต้องการร่วมกันในการพัฒนาและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเอื้อต่อการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

“จีนสนับสนุนบทบาทสำคัญของไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปค และสีจิ้นผิงจะนำเสนอแนวทางแก้ไขและแนวคิดของจีนเกี่ยวกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจเอเปค การปรับปรุงธรรมาภิบาลโลก และการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก”เอกอัครราชทูตจีนกล่าว

ทูตหานระบุว่า เมื่อไม่นานนี้ว่าความสัมพันธ์จีน-ไทย มีโอกาสการพัฒนาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน พร้อมด้วยศักยภาพมหาศาลและความหวังมากมายภายใต้สภาพการณ์ใหม่ในประวัติศาสตร์

หานเชื่อว่าสีจิ้นผิงจะทำงานร่วมกับผู้นำไทยเพื่อกรุยทางและอัดฉีดแรงกระตุ้นสู่การพัฒนาความสัมพันธ์จีน-ไทยในระยะยาว ซึ่งทำให้การเยือนไทยของสีจิ้นผิงเป็นหมุดหมายใหม่ในประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ทวิภาคี

“ชาวจีนและชาวไทยมีประวัติศาสตร์การแลกเปลี่ยนฉันมิตรมาอย่างยาวนาน และนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จีนและไทยได้ทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวและผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นการเขียนบทใหม่ของความสัมพันธ์ที่ทั้งสองประเทศได้ร่วมทุกข์ร่วมสุข” ทูตหานกล่าว 

ปีนี้นับเป็นวาระครบรอบ 47 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทย และวาระครบรอบ 10 ปี การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านจีน-ไทย โดยหานกล่าวว่าจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด ตลาดส่งออกสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ที่สุด และแหล่งการลงทุนจากต่างประเทศที่สำคัญของไทย

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าทวิภาคีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แม้เผชิญผลกระทบจากโรคโควิด-19 โดยการค้าทวิภาคีมีมูลค่าสูงกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.58 ล้านล้านบาทเป็นครั้งแรกในปี 2021 และคาดว่าจะสูงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้

ขณะเดียวกันการเร่งก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทย และการเชื่อมต่อกับทางรถไฟจีน-ลาว เพื่อสร้างเส้นทางสัญจรหลักผ่านคาบสมุทรอินโดจีน จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่การขนส่งผู้คนและระบบโลจิสติกส์ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้า และบรรลุความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

เส้นทางรถไฟจีน-ลาว ได้ขนส่งสินค้ามากกว่า 10 ล้านตันแล้ว นับตั้งแต่เปิดดำเนินงานเมื่อเกือบหนึ่งปีก่อน ซึ่งสินค้าจำนวนมากเป็นการขนส่งสินค้าระหว่างจีนและไทย

ส่วนความร่วมมือทางอุตสาหกรรม ปริมาณการลงทุนของผู้ประกอบการจีนในไทยเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และมีโอกาสร่วมมือด้านอุตสาหกรรมที่ทันสมัยอยู่มากมาย

สำหรับความร่วมมือทวิภาคีด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพลังงานใหม่นั้นเฟื่องฟูต่อเนื่อง โดยเทคโนโลยี 5G อีคอมเมิร์ซ ยานยนต์ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์ของจีนได้กระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ของไทย และกลายเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตสำคัญของความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน

จีนและไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนาและเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด ได้แบ่งปันผลประโยชน์ ข้อเสนอแนะ และจุดยืนร่วมกันหลายประการในประเด็นสำคัญระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ

พลเอกประยุทธ์ได้เข้าร่วมการเสวนาระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาโลก (High-Level Dialogue on Global Development) ซึ่งมีสีจิ้นผิงเป็นประธานเมื่อเดือนมิถุนายน ขณะดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีของกลุ่มพันธมิตรเพื่อแผนริเริ่มการพัฒนาระดับโลก (GDI) เมื่อเดือนกันยายน ซึ่งสะท้อนการสนับสนุนของไทยต่อแผนริเริ่มดังกล่าวที่เสนอโดยสีจิ้นผิง

นอกจากนั้นไทยยังให้ความสำคัญและตอบสนองเชิงบวกต่อแผนริเริ่มความมั่นคงระดับโลก (GSI) ที่สีจิ้นผิงเสนอเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตความมั่นคงของโลกด้วย