บทบาทของจีนในเวทีเอเปค | ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

บทบาทของจีนในเวทีเอเปค | ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนไม่ใช่สมาชิกก่อตั้งเอเปค แต่หลายฝ่ายจับตามองการแสดงบทบาทของจีนอย่างชนิดไม่กระพริบตา ทำไมจีนจึงได้รับการยอมรับจากมวลหมู่สมาชิก จีนทำเช่นไร และบทบาทของจีนจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของเขตเศรษฐกิจน้อยใหญ่ในภูมิภาคและของโลกอย่างไร

ภายหลังการก่อกำเนิดในระยะแรก เอเปคถือเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทั้งในแง่ของการเพิ่มจำนวนสมาชิก และการเจรจากรอบความร่วมมือระหว่างกัน พลังและศักยภาพทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้โลกต่างจับตามอง 

ความคึกคักดังกล่าวยังทำให้หลายเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคมองเห็น “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” ที่แต่เดิมกรอบความร่วมมือนี้จะมีประโยชน์ในการเป็นเวที “บ่มเพาะ” และ “เตรียมความพร้อม” ของเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคในการดำรงอยู่ในเวทีการค้าเสรีโลก เป็นการทดแทนกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า “สนามใหญ่” อย่างองค์การการค้าโลก ที่ “ติดขัด” จนพัฒนาไปอย่างล่าช้าจนไม่ทันใจนานาสมาชิก

แต่ใช่ว่าทุกสิ่งจะดำเนินไปอย่างราบรื่น การพยายามดึงเอา “ไต้หวัน” เข้าร่วมเป็นสมาชิกใน 2 ปีต่อมาในฐานะ “ประเทศ” ก็ขัดกับหลักการ “จีนเดียว” ที่จีนแผ่นดินใหญ่คัดค้าน สมาชิกเอเปคจึงถูกเรียกว่า “เขตเศรษฐกิจ

และในปีนั้นเอง จีนก็เข้าเป็นสมาชิกในคราวเดียวกันผ่าน 3 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และไชนีส ไทเป (เพื่อสะท้อนว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน) 

การให้ความสำคัญและมีบทบาทในเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์ในช่วงหลายปีหลัง ทำให้จีนกลายเป็น “พี่ใหญ่” ที่ยังคงยึดมั่นในเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบ “พหุภาคี” โดยมีฮ่องกง และไชนีสไทเป ร่วมเป็นสมาชิกที่ “จิ๋วแต่แจ๋ว” 

บทบาทของจีนในเวทีเอเปค | ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ความท้าทายอีกประการหนึ่งก็เป็นเพราะเอเปคไม่ใช่กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เจรจาเงื่อนไขทางการค้า และใช้ ข้อตกลงเป็น “พันธะสัญญาผูกพันให้สมาชิกยึดถือปฏิบัติดั่งเช่นกรอบความร่วมมืออื่น แต่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความร่วมมือแบบ “ฉันทามติ” ที่สมาชิกแต่ละรายมีสิทธิเสนอต่อสมาชิกอื่น 

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็ได้แก่ หมุดหมายสำคัญของเอเปคที่เกิดขึ้นในปี 1994 ณ อินโดนีเซีย เมื่อสมาชิกเอเปคตกลงกำหนดเป้าหมายการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค โดยประเทศพัฒนาแล้วจะเริ่มเปิดเสรีก่อนในปี 2010 และตามด้วยประเทศกำลังพัฒนาในปี 2020 ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า “ปฏิญญาโบกอร์ (Bogor)

แต่ก็ไม่อาจผลักดันให้สมาชิกปฏิบัติตามอย่างสอดคล้องกัน วิสัยทัศน์ที่อยากเห็นเอเปคเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก จึงแฝงไว้ซึ่งความท้าทายใหญ่จน “ไปไม่สุด” กับเป้าหมายดังกล่าว

โดยที่การขับเคลื่อนให้สมาชิกเอเปคจับมือกันแน่นภายใต้หลักการดังกล่าว ทำให้การดำเนินการใดๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายใหญ่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นค่อนข้างยาก ความสำเร็จในการพัฒนาในเวทีเอเปคจึงต้องอาศัยความมุ่งมั่นและความร่วมมือของสมาชิกที่ตระหนักดีถึงผลประโยชน์ของการพัฒนาในระยะยาวอย่างแท้จริง 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา จีนได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนและมีมุมมองเชิงบวกต่อการพัฒนาในระยะยาวสอดคล้องกับหลักการของเอเปค เราจึงเห็นจีนให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่และ “มอบของขวัญ” แก่เขตเศรษฐกิจอื่นเป็นรูปธรรมในหลายด้าน นับแต่เข้าเป็นสมาชิก

จีนได้ส่งคณะผู้แทนเข้ามาร่วมการประชุมในทุกระดับมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประชุมสุดยอดที่ผู้นำจีนเข้าร่วมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย 

บทบาทของจีนในเวทีเอเปค | ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

และมี “บทบาทนำ” ในการร่วมปรึกษาหารือเพื่อการพัฒนาที่อยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมเป็นอย่างสร้างสรรค์มาโดยตลอด สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าจีนมิได้เป็นหนึ่งใน 12 สมาชิกก่อตั้งเอเปคที่กรุงแคนเบอร์รา ออสเตรเลียเมื่อกว่า 3 ทศวรรษก่อน แต่จีนให้ความสำคัญอย่างมากกับเวทีเอเปค และก็อาจสะท้อนถึงความสำคัญของเอเปคที่มีต่อเศรษฐกิจจีน 

ที่เห็นได้ชัดก็คือ เอเปค ซึ่งมีเขตเศรษฐกิจใหญ่อยู่เป็นจำนวนมากและมีบทบาทในเวทีการค้าโลก กลายเป็นเวทีที่ช่วยให้จีนได้รับการสนับสนุนและเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกได้สะดวกขึ้นในเวลาต่อมา แต่เอเปคก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกมาก 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสหรัฐฯ กลับให้ความสำคัญกับเวทีเอเปคลดลงในช่วงหลายปีหลัง ดังจะเห็นได้จากการส่ง “ผู้แทน” ระดับรองเข้าร่วมประชุมในช่วงหลายครั้ง (รวมทั้งการประชุมที่กรุงเทพฯ ในครั้งนี้ด้วย)

หรือพยายามปรับบทบาทของเอเปคที่สมาชิกจำนวนมากถามหาเหตุผลที่อยู่เบื้องหลัง เท่านั้นไม่พอ สหรัฐฯ ยังพยายามหันไปผลักดันเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นที่มีความทับซ้อนในเชิงภูมิศาสตร์และสมาชิกจำนวนมากขึ้นทดแทน 

อาทิ TPP/CPTPP ทำให้เอเปคขาดพลังขับเคลื่อนสำคัญ เพราะสหรัฐฯ เป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของเอเปคและของโลก ส่งผลให้การพัฒนาความร่วมมือภายใต้เอเปค ชะลอตัวลงไป อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ก็คือ การลดบทบาทในเอเปคของสหรัฐฯ ทำให้บทบาทของจีนในเวทีนี้โดดเด่นยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ หากมองไปยังกรอบ TPP/CPTPP ที่สหรัฐฯ ผลักดันอยู่ ก็แฝงไว้ด้วยความพยายามในการ “ขีดเส้นขีดวง” เพื่อมิให้จีนเข้าร่วมกลุ่ม สิ่งนี้ก็ทำให้เวทีนี้ขาดพลังทางเศรษฐกิจไปส่วนหนึ่งเช่นกัน

เพราะจีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกอยู่เช่นกัน ประการสำคัญ เวทีความร่วมมือเช่นนี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อมวลสมาชิกและเศรษฐกิจในวงกว้างอย่างแท้จริง

ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงความผิดเพี้ยนไปของผู้นำโลกในช่วงหลัง สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นประเทศ “ต้นแบบ” ของการปกครองแบบประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจที่ยึดถือตลาดเสรี กลับ “ไม่เชื่อมั่น” และ “ละทิ้ง” หลักการดังกล่าว

ในทางกลับกัน กลับเป็นจีนที่ปกครองในระบอบสังคมนิยม และวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง ที่มุ่งมั่นในการผลักดันโลกให้ร่วมมือกันบนพื้นฐานของกลไกตลาดเสรี และระบบการค้าแบบพหุภาคี 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา จีนพยายามผลักดันการเปิดเสรีทางการค้าและอำนวยประโยชน์ต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมทั้งการขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนกับเขตเศรษฐกิจอื่นในภูมิภาค

คำกล่าวของ สี จิ้นผิง ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2022 ที่สรุปได้ว่า เศรษฐกิจจีนและโลกต้องพึ่งพาระหว่างกัน ก็สะท้อนว่า จีนตระหนักดีและต้องการใช้ประโยชน์จากขนาดเศรษฐกิจที่มีอยู่ เพราะเอเปคก็นับเป็นเขตเศรษฐกิจใหญ่ที่มีศักยภาพของความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ 

ด้วยจำนวนประชากรกว่า 1,400 ล้านคนที่มีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้จีนเป็นตลาดท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ขณะที่ในด้านการค้า จีนค้าขายกับเขตเศรษฐกิจในภูมิภาครวมเกือบ ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นราว 2 ใน 3 ของทั้งหมด เป็นอันดับ 1 ของโลก ในส่วนของอาเซียน จีนก็เป็นแชมป์คู่ค้าของอาเซียนนับแต่ปี 2009

ในด้านการลงทุน จีนมีบทบาทด้านการลงทุนในภูมิภาคค่อนข้างสูง โดยสมาชิกเอเปคเข้าไปลงทุนในจีน (FDI) 125,000 ล้านดอลลาร์ และจีนไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจอื่นในภูมิภาค (ODI) ราว 120,000 ล้านดอลลาร์

การกำหนดนโยบายหลายส่วนของจีนมีส่วนสำคัญต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว นโยบายการปฏิรูปและเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ และ Free Trade Zone เพื่อรองรับการลงทุนที่มีศักยภาพใหม่ในด้านหนึ่ง และนโยบาย “บุกโลก” และยุทธศาสตร์ BRI ในอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้การลงทุนดังกล่าวขยายตัวอย่างรวดเร็ว

การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยระหว่างกันในภูมิภาคยังไม่เพียงจะทำให้การค้า การลงทุน และการเดินทางระหว่างกันเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังจะทำให้ห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมแข็งแกร่งและยืดหยุ่นยิ่งขึ้น ทวีกำลังขีดความสามารถด้านการผลิตและความพร้อมทางเศรษฐกิจ

ไปจนถึงการฟันฝ่าสารพัดวิกฤติดังที่พิสูจน์ให้เห็นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาทิ วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 การระบาดของโรคซาร์สในปี 2003 และวิกฤติการเงินโลกปี 2008

ปัจจุบัน เอเปคเป็นภูมิภาคที่มีประชากร 3,000 ล้านคน กว่าครึ่งหนึ่งเป็นคนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อดี จึงนับว่าเป็นเวทีที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก โดยมีส่วนร่วมราว 2 ใน 3 ของการค้าโลก และราว 60% ขนาดเศรษฐกิจโลก ด้วยความพร้อมที่จะสามารถเติบโตได้อีกมากในอนาคต

เอเปคในอนาคตจึงมีศักยภาพในการช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจโลกจากวิกฤติโควิด-19 ที่กำลังเผชิญอยู่ และเป็นกลไกสำคัญในการต่อสู้กับการต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์และการกีดกันทางการค้าโลกที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีหลัง

นอกจากนี้ จีนยังมีบทบาทเชิงรุกต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับความมุ่งหวังของโลกและเอเปคในอีกหลายมิติ รัฐบาลและชุมชนธุรกิจจีนที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมบนพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังจะเป็นแนวทางการสร้างประโยชน์และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนโดย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

มองออกไปในระยะยาว แม้กระทั่งเรื่องการพัฒนาคุณภาพสูงและนวัตกรรมดังกล่าวที่ใส่ใจกับเรื่องเศรษฐกิจดิจิตัล และสิ่งแวดล้อมจะเกิดขึ้นในวงกว้าง เราจะได้เห็นสมาชิกเอเปคเป็นมีส่วนร่วมในกิจกรรมการการผลิตและบริการที่มีคาร์บอนต่ำ อาทิ สินค้าไอทียุคใหม่ การค้าออนไลน์ รถยนต์พลังงานทางเลือก และพลังงานสีเขียว

ขณะเดียวกัน การพัฒนาเมืองและชุมชนเมือง 1 ชั่วโมงเดินทาง (One-Hour Economy) ชุมชน 15 นาทีเดิน (15-Minute Community) อาคารหายใจได้ (Breathing Building) และการนำร่องใช้โมเดลเมืองในสวน (City in the Park)

เพื่อสร้างความเป็น “เมืองน่าอยู่” ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกเอเปคในระยะยาว เขตเศรษฐกิจในเอเปคจะมี “ทางเลือก” มากขึ้นในการจัดหาและเรียนลัดเทคโนโลยี โมเดลการพัฒนา และระบบการจัดการที่ผ่านการทดสอบทดลองในจีนได้ในราคาที่ประหยัด และมีประสิทธิภาพ 

นอกจากนี้ ผมยังมองว่า ภายใต้ความพยายามที่ต้องการเห็น “บ้านเศรษฐีที่ใหญ่และสง่างาม” จีนพยายามเพิ่มความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและยั่งยืน โดยพร้อมจะแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดประสบการณ์การพัฒนาโมเดล “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” (Common Prosperity) ผ่านไปยังเขตเศรษฐกิจอื่นในภูมิภาค

สิ่งเหล่านี้จะเสริมสร้างให้เขตเศรษฐกิจในเอเปคที่ยังอยู่ “ระหว่างการพัฒนา” สามารถก้าวขึ้นเป็นเขตเศรษฐกิจที่ “เจริญรุ่งเรือง” ได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งหากเขตเศรษฐกิจร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ “ความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนอย่างถ้วนหน้า” จะแผ่ซ่านขึ้นในภูมิภาคโดยลำดับอย่างไม่ต้องสงสัย

เพราะการดำเนินการดังกล่าวจะเปลี่ยนวิถีของ “ความขัดแย้ง” ทางการเมืองไปสู่มิติของ “ความร่วมมือ” และ “การพึ่งพา” ระหว่างกันในทางเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในด้านเสถียรภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองของผู้คนในเขตเศรษฐกิจที่เอเปคประชุมหารือกันนับแต่ปี 1993 ที่เกาะเบลค (Blake Island) สหรัฐฯ 

ประการสำคัญ แนวทางดังกล่าวยังจะเปลี่ยนมุมมองของการมุ่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเชิงลบไปสู่การบูรณาการร่วมกันในเชิงบวก ซึ่งเป็นการบริหารทรัพยากรโลกที่สร้างสรรค์ และช่วยผลักดันให้การเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างกันดำเนินไปอย่างราบรื่น จีนเองก็จะได้รับประโยชน์ในมิติทางการเมืองด้วยเช่นกัน 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา จีนได้แสดงจุดยืนอันแน่วแน่ที่ยึดมั่นในแนวทางการพัฒนาอย่างสันติ แต่จีนก็ต้องการคานอำนาจกับสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในภูมิภาคในการจัดระเบียบโลกใหม่ รวมทั้งลดแรงกดดันทางการเมืองที่มีต่อจีน ซึ่งเอเปคก็เป็นเวทีที่จะถูกใช้ประโยชน์เช่นกัน

ในด้านการสาธารณสุข การประชุมเอเปคออนไลน์ในปี 2021 ที่มีนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ดี เราได้เห็นจีนให้ความร่วมมือและแสดงบทบาทนำในการผลักดันให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาวิกฤติโควิด-19

โดยในช่วงหลายปีหลังนี้ จีนได้บริจาควัคซีนและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์จำนวนมากแก่เขตเศรษฐกิจของเอเปคและองค์การอนามัยโลก

นอกจากนี้ จีนยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 และแนวทางการพลิกฟื้นกลับสู่สภาวะปกติที่เอเปคและโลกรอคอยอยู่
ในโอกาสที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค โลกก็จับตามองเวทีการประชุมอย่างใกล้ชิดว่าจะมีสามารถบรรลุความร่วมมือสำคัญอะไรใหม่หรือไม่ และเป็นจุดพลิกผันทางการเมืองและเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ได้อย่างไร 

หลายฝ่ายยังอาจคาดหวังว่า การประชุมในครั้งนี้จะสามารถกระตุ้นเร่งเร้าให้สมาชิกหันมาอยู่ในแนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาความร่วมมือเพื่อให้สามารถบรรลุความมุ่งหวังที่อยากเห็นประชาสังคมในภูมิภาคเซีย-แปซิฟิก “เปิดกว้าง กระชุ่มกระชวย ยืดหยุ่น และสงบสุข” ตาม “วิสัยทัศน์ปูตราจายา 2040” (Putrajaya Vision 2040) ที่ได้ตั้งไว้ เพราะนั่นจะเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่พลิกฟื้นให้กรอบความร่วมมือนี้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

นอกจากนี้ การนำเสนอหัวข้อหลัก “บีซีจี” (BCG) ของไทยก็นับว่าสอดคล้องกันกระแสโลกที่ต้องการเห็นการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มิใช่การพัฒนาเศรษฐกิจที่แฝงไว้ซึ่งปัญหาและต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมของลูกหลานของเราในระยะยาว

21 เขตเศรษฐกิจของเอเปคในปัจจุบันคงไม่อยากให้ใครตราหน้า “เอเปค” ว่าเป็น “นาโต้ 2” ที่เป็นเวทีที่เอาไว้พูดคุยกัน แต่ไม่ค่อยทำอะไรเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกัน การบรรลุวิสัยทัศน์และความร่วมมือใดๆ ที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ ยังจะทำให้ “กรุงเทพฯ” และ “ประเทศไทย” เป็นเวทีที่น่าจดจำที่ดี

และลบล้างภาพเก่าที่คนไทยบางส่วนปล่อยให้ “ความขัดแย้งภายใน” ทำลายภาพลักษณ์และชื่อเสียงของประเทศและประชาชนชาวไทยไปเมื่อหลายปีก่อน ผมเชื่อมั่นว่า คนไทยไม่อยากเห็น “ภาพเดิม” เกิดขึ้นอีกครั้ง

สิ่งหนึ่งที่คนไทยจำนวนมากจับตามองก็ได้แก่ ภาพการจับมือกันของผู้นำไทยและผู้นำและผู้แทนเขตเศรษฐกิจอื่น ในส่วนของจีน หลายคนมองไปถึง “ของขวัญชิ้นพิเศษ” ที่ผู้นำจีนจะมอบแก่ไทยในโอกาสที่ สี จิ้นผิง เดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกหลังจากการต่อวาระ 3 ของการดำรงตำแหน่งผู้นำจีน

ไทยจะเป็นประเทศนำร่องที่เปิดให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าจีนโดยได้รับการผ่อนคลายระยะเวลาการกักตัวหรือไม่? จีนจะนำเข้าสินค้าไทยมากขึ้นได้อย่างไร? จีนจะผลักดันให้ธุรกิจยุคใหม่เข้ามาลงทุนในไทยมากน้อยเพียงใด? 

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ผมเชื่อมั่นเหลือเกินว่า จีนจะแสดงบทบาทเป็น “พี่ใหญ่” ที่เสนอของขวัญชิ้นงามแก่เขตเศรษฐกิจ และแสดงจุดยืนที่จะจับมือร่วม “เดินทางไกล” กับเอเปคเพื่อทำให้ภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิคพัฒนาอย่างยั่งยืน