"สหรัฐ" หนุน BCG คงความร่วมมือเอเปค บทบาทเอเชีย-แปซิฟิก

"สหรัฐ" หนุน BCG คงความร่วมมือเอเปค บทบาทเอเชีย-แปซิฟิก

“สหรัฐ” หนึ่งในสมาชิกเอเปค และยังเป็นมหาอำนาจให้ความสำคัญต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างต่อเนื่อง อย่างการมีแผนงานยุทธศาสตร์ อินโด-แปซิฟิก ท่ามกลางคำถามมากมายต่อแนวทางความร่วมมือที่สหรัฐจะคงอิทธิพลต่อภูมิภาคนี้

โลกเผชิญความวุ่นวายทั้งสถานการณ์ระดับภูมิภาค เงินเฟ้อ เศรษฐกิจผันผ่วน การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และปัญหาความมั่นคงทางพลังงาน

ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้มอบหมายให้รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริสเข้าร่วมการประชุม ซึ่งสหรัฐจะนำเสนอแนวทางความร่วมมือต่อเอเปคอย่างไร

“โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค” เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทยให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า เอเปคเป็นเวทีหลักสำหรับสหรัฐ ในการผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนที่เสรี เป็นธรรม และเปิดกว้าง ตลอดจนส่งเสริมการเติบโตที่ทั่วถึงและยั่งยืน

สหรัฐช่วยเชื่อมโยงเอเชีย-แปซิฟิก

“ประเทศไทยทำหน้าที่เจ้าภาพการประชุมเอเปค ปี 2565 ได้อย่างดีเยี่ยมภายใต้เงื่อนไขที่ท้าทาย และสหรัฐสนับสนุนหัวข้อหลัก “Open. Connect. Balance.” ของไทยในปีนี้” โกเดคกล่าว และระบุว่า การดำเนินงานของสหรัฐในเอเปคเพื่อภูมิภาคนี้จะ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์” (Open) อยู่เสมอ ประกอบไปด้วยการส่งเสริมประเด็น “การเดินทางข้ามพรมแดนอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ” (safe passage) ที่ไทยให้ความสำคัญ โดยเมื่อต้นปี สหรัฐได้จัดเวิร์กช็อปเกี่ยวกับเทคโนโลยีสุขภาพที่ช่วยให้การเดินทางข้ามพรมแดนปลอดภัยด้วย

สหรัฐยังช่วยให้ภูมิภาค “เชื่อมโยงกัน” (Connect) ยิ่งขึ้น โดยสนับสนุนประเด็นสำคัญเกี่ยวกับเศรษฐกิจและนวัตกรรมดิจิทัล เช่น การใช้ระบบ Open Radio Access Networks ในภูมิภาค และระบบ Cross-Border Privacy Rules เพื่อรับรองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลในเขตเศรษฐกิจต่างๆ 

เชื่อมั่นหลักการสร้างสมดุลธุรกิจสู่ยั่งยืน

เริ่มจากเอเปค และปัจจุบันกำลังขยายไปยังประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเอเปคด้วย สุดท้าย ในเรื่อง “สู่สมดุล” รวมถึงการแก้ปัญหาความไม่เสมอภาค และการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ยังคงเป็นประเด็นสำคัญในงานของเราทั้งหมด 

เรากำลังผลักดันประเด็นสำคัญเหล่านี้ผ่านการส่งเสริมศักยภาพด้านเศรษฐกิจของสตรีในเอเปค ซึ่งเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญเสมอมา รวมไปถึงโครงการต่างๆ เกี่ยวกับความสามารถในการฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่ง วัสดุที่รีไซเคิลได้ และมาตรฐานการลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศสำหรับเทคโนโลยีอุบัติใหม่และยานยนต์ไฟฟ้า

ชี้ FTAAP ยกมาตรฐานเอเปค 

สหรัฐมองว่าวาระ FTAAP ของเอเปคเป็นเวทีในการส่งเสริมมาตรฐานระดับสูง โดยการสร้างศักยภาพในภูมิภาคให้เขตเศรษฐกิจต่างๆ ได้ปรับปรุงกรอบการค้าและการลงทุนเพื่อเข้าร่วมในข้อตกลงการค้าในอนาคต สหรัฐเห็นว่าวาระ FTAAP และเอเปคโดยรวมจะต้องเป็นพื้นที่หารือว่า เราจะทำให้ข้อตกลงการค้าระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาคบูรณาการกลไกต่างๆ เพื่อรับมือความท้าทายใหม่ๆ ที่โลกของเราเผชิญอยู่ได้อย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความสำคัญของสิทธิแรงงาน การให้ความสำคัญกับรัฐวิสาหกิจ การสนับสนุนการมีส่วนร่วมและความเข้มแข็ง

โมเดลเศรษฐกิจ BCG จิตวิญญาณเอเปค 

“โมเดลเศรษฐกิจ BCG แสดงถึงจิตวิญญาณของเอเปคในฐานะแหล่งบ่มเพาะแนวคิดใหม่ๆ และแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน สหรัฐเองก็ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้และสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนในหลากหลายด้านทั้งในและต่างประเทศ” โกเดคกล่าวและเล่าว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพิ่งลงนามรัฐบัญญัติ Inflation Reduction Act เป็นการลงทุนด้านพลังงานยั่งยืนและโซลูชันอื่นๆ เป็นจำนวน 369,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในต่างประเทศ

หนุนภาคีเปลี่ยนผ่านพลังงาน 

สหรัฐสนับสนุนภาคีของเราให้เปลี่ยนผ่านในลักษณะเดียวกัน เช่น ในไทย เราทำงานร่วมกับบริษัทปูนซีเมนต์ไทย เพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ 24,000 คันของบริษัท และติดตั้งสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า 600 แห่ง โดยผ่านทางทุนสนับสนุนขององค์การการค้าและการพัฒนาของสหรัฐ (USTDA)

ระหว่างการเป็นเจ้าภาพเอเปคของสหรัฐในปี 2566 เราวางแผนที่จะต่อยอดประเด็นความยั่งยืนที่ไทยให้ความสำคัญ เช่น ในด้านการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร โดยจะมุ่งให้เอเปคเป็นผู้นำในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบอาหารและการเกษตรที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นต่อไป โดยยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลและหมุนเวียน รวมถึงการเกษตรเท่าทันภูมิอากาศ (climate-smart agriculture) การลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร ตลอดจนการยกระดับการเติบโตของผลิตภาพที่ยั่งยืน เพื่อให้มีความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปพร้อมๆ กัน 

อีกหนึ่งตัวอย่างคือ รางวัล ASPIRE Prize ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ในเอเปค โดยในปี 2566 มีหัวข้อหลักคือ “Inclusive Science, Technology and Innovation for a Resilient and Sustainable Environment” 

เอกอัครราชทูตสหรัฐ หวังว่า ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของหัวข้อหลักนั้น จะเป็นโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่เราต่างเผชิญอยู่ ได้รับการยกย่องจากผลงานของพวกเขา