รางวัล WEPs Awards เสริมสร้างศักยภาพผู้หญิง

รางวัล WEPs Awards เสริมสร้างศักยภาพผู้หญิง

สังคมไทยได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าด้านสิทธิสตรีและความหลากหลายทางเพศมากกว่าอีกหลายๆ สังคม แต่การทำงานด้านนี้ไม่สามารถหยุดนิ่งได้ การเสริมพลังผู้หญิงยังต้องทำต่อไป

การมอบรางวัล Thailand Women's Empowerment Principles (WEPs) Awards ประจำปี 2565 เพื่อเชิดชูเกียรติบริษัทที่มีแนวปฏิบัติและโครงการที่ดีตามหลักการเสริมสร้างศักยภาพผู้หญิงและส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศในภาคธุรกิจ ถือเป็นการให้กำลังใจคนที่ทำดีแล้วและช่วยส่งเสริมให้คนอื่นๆหันมาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ด้วยการถอดบทเรียนจากบริษัทเหล่านั้น

พล.ต.พัชร รัตตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) ผู้ได้รับรางวัลสาขาผู้นำองค์กรที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ (Leadership Commitment) เล่าถึงความมุ่งมั่นของหาดทิพย์ว่า เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของบริษัทที่อยากจะเห็นการเจริญเติบโตขององค์กรอย่างยั่งยืนและเท่าเทียม เห็นความสำคัญของคน (Human Worth) โดยไม่จำกัดเพศ ซึ่งในสังคมที่ยังมีอคติจำต้องมุ่งมั่นตั้งแต่ให้การศึกษากลุ่มผู้ชาย 

รางวัล WEPs Awards เสริมสร้างศักยภาพผู้หญิง

“เพราะผมไม่เชื่อว่า empower ผู้หญิงอย่างเดียวจะสำเร็จ ถ้าผู้ชายยัง ignorance คิดว่าเราเก่งกว่าผู้หญิง พร้อมกว่าผู้หญิง ก็ต้องให้การศึกษาว่าไม่ใช่”  ซีอีโอหาดทิพย์กล่าวและว่า การสร้างความเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มสนทนาในจุดที่ไม่มีเขา ไม่มีเรา ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์มากกว่าเพศ 

พล.ต.พัชร เล่าถึงความเป็นไปในบริษัทหาดทิพย์ ที่เจ้าตัวมองว่า เป็นแค่บริษัทเล็กๆ พนักงานประมาณ 2,500 คน งานส่วนใหญ่เป็นงานฟรอนท์ไลน์ที่ต้องใช้แรง เช่น แบกลังน้ำอัดลม ขับรถส่งของ เข็นของหนัก ตากแดดตากฝนที่ผู้ชายได้เปรียบ แต่บริษัทก็ต้องการผู้หญิงมากขึ้นถ้าพวกเธอพร้อม ซึ่งผู้หญิงทำงานแบบนี้ได้ถ้าได้รับการฝึกฝน   ตัวอย่างเช่นในยุโรปที่ทหารหญิงไปรบได้แล้ว แต่ทหารหญิงของไทยยังทำงานธุรการ 

“ผมเชื่อว่าผู้หญิงทำได้ค่ะ ถ้าเขาต้องการจะทำ” ซีอีโอหาดทิพย์ยืนยัน โดยบริษัทจะส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามาทำงานฟรอนท์ไลน์ ผู้จัดการระดับกลาง ผู้จัดการสาขาให้มากขึ้น เนื่องจากตำแหน่งเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ขณะที่ผู้บริหารระดับสูง 70% เป็นผู้หญิง อีกจุดหนึ่งที่หาดทิพย์ต้องแก้ไขคือคณะกรรมการบริหารบริษัทที่ 70% เป็นผู้ชาย อาจเป็นผลพวงจากประวัติศาสตร์บริษัทที่ชายเป็นใหญ่ ซึ่งต้องแก้ไขให้มีคณะกรรมการบริหารเป็นผู้หญิงมากขึ้น 

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ พล.ต.พัชรแนะนำว่า รัฐต้องสร้าง awareness ว่าต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง เช่น การไม่ใช้กำลัง ไม่ใช้ความรุนแรง รัฐต้องเป็นผู้นำในการให้ความรู้คน ปลูกฝังให้ผู้ชายรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง

"หรือการให้เกียรติผู้หญิงจนเกินไปก็ต้องระมัดระวังเพราะผู้หญิงบางคนก็ไม่ชอบ เธอมาเปิดประตูให้ฉันทำไม ผมค่อนข้างโอลด์สคูล เพราะผมเชื่อว่าผมยังแข็งแรงกว่า จะเป็นผู้หญิงหรือเป็นคนแก่ คนแก่ผู้ชายผมก็เปิดประตูให้ แต่บางทียุคนี้เราต้องระมัดระวัง" พล.ต.พัชรกล่าวทิ้งท้ายด้วยมุมมองส่วนตัว 

ส่วนอีกหนึ่งตัวแทนภาครัฐ รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ผู้ได้รับโล่เกียรติยศจาก UN Women ในฐานะมีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและศักยภาพของผู้หญิง กล่าวว่า นี่คืองานสำคัญงานหนึ่งของ ก.ล.ต.  เนื่องจากประเทศไทยตั้งโจทย์ต้องบรรลุเป้าหมาย SDGs (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ ก.ล.ต.จึงตั้งโจทย์ทำตลาดทุนไทยให้เป็นตลาดที่ยั่งยืน ด้วยการดำเนินงานด้านคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศที่สอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และพันธกิจที่ได้รับมอบหมายตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2565) หรือ แผน NAP จากคณะรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนและสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนให้แก่บริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนให้มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในสัดส่วนร้อยละ 30 ที่มีกรรมการหญิงอย่างน้อยร้อยละ 30 เพิ่มจากปี 2564 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 27

รางวัล WEPs Awards เสริมสร้างศักยภาพผู้หญิง

“โจทย์เรื่อง Gender เป็นโจทย์ร่วมไม่เฉพาะประเทศไทย เพราะทุกประเทศย่อมอยากเห็นกรรมการบริษัทที่ผสมผสานทางเพศ ไม่ใช่มีแค่ชายล้วน ซึ่งไทยก้าวหน้าด้านนี้มาก ผู้หญิงไทยดำรงตำแหน่งผู้บริหารเป็นจำนวนมากกว่าหลายประเทศในเอเชีย แต่ในบอร์ดมีไม่มาก เราก็รณรงค์ให้บริษัทให้ความสำคัญ” เลขาฯ ก.ล.ต.กล่าวพร้อมอธิบายถึงเกณฑ์ 30% ว่า  เป็นตัวเลขที่สร้างผลกระทบได้พอสมควร 

“การขับเคลื่อนความหลากหลายแบบนี้ทำแบบสมัครใจ ขณะที่หลายประเทศทำแบบบังคับ แต่เราคิดว่าของแบบนี้ต้องมาจากใจ เป็นคอมมิตเมนท์ที่มาจากการเห็นประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่เพราะกฎหมายกำหนด” เลขาฯ รื่นย้ำ

นั่นคือหนึ่งผู้บริหารหญิง หนึ่งผู้บริหารชาย จากภาครัฐและเอกชน ผู้เป็นส่วนหนึ่งบนเส้นทางสร้างความหลากหลายจากสังคมชายเป็นใหญ่ สู่การส่งเสริมศักยภาพผู้หญิง และความเสมภาคทางเพศ จนกว่าจะถึงจุดที่เพศไม่สำคัญเท่ากับคุณค่าความเป็นมนุษย์ ซึ่งหวังว่าประเทศไทยคงใช้เวลาไม่นาน