นายกฯใหม่อังกฤษเรียกร้องสร้าง'เสถียรภาพ-เอกภาพ'ประเทศ

นายกฯใหม่อังกฤษเรียกร้องสร้าง'เสถียรภาพ-เอกภาพ'ประเทศ

'ริชี ซูนัก' แถลงครั้งแรกหลังคว้าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษแบบไร้คู่แข่ง เตือนประเทศจะเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจครั้งรุนแรง และเรียกร้องให้เกิดเสถียรภาพและเอกภาพ

คณะกรรมการบริหารของพรรคอนุรักษนิยม ประกาศในบ่ายวันจันทร์(24ต.ค.)ตามเวลาท้องถิ่นว่า เนื่องจากมีผู้เสนอตัวชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพียงคนเดียว ทำให้ริชี ซูนัก ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมคนใหม่ และจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยมีเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเกือบ 200 คน หลังจากเพนนี มอร์ดอนท์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ตัดสินใจถอนตัวในนาทีสุดท้าย และ บอริส จอห์นสัน อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศเมื่อวันอาทิตย์(23ต.ค.)ว่าจะไม่ลงสมัครชิงตำแหน่ง   

ซูนัก จะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนลิซ ทรัสส์ ที่ประกาศลาออกเมื่อวันที่ 20 ต.ค. หลังดำรงตำแหน่งได้เพียงไม่ถึง 2 เดือน แต่โฆษกของทรัสส์ บอกว่า การถ่ายโอนอำนาจจะยังไม่เกิดขึ้นในวันนี้ (24 ต.ค.)

 ซูนัก แถลงในฐานะหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมครั้งแรกที่สำนักงานของพรรคในกรุงลอนดอน โดยกล่าวยกย่องทรัสส์สำหรับความความเป็นผู้นำภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบากทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังระบุว่า สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ แต่จะเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจครั้งรุนแรง พร้อมกับเรียกร้องให้เกิดเสถียรภาพและเอกภาพภายในประเทศ และให้คำมั่นว่าจะรับใช้ประชาชนด้วยความซื่อสัตย์และความนอบน้อม รวมทั้งจะทำงานอย่างไม่หยุดหย่อนเพื่อรับใช้ประชาชนชาวอังกฤษแต่ปฏิเสธที่จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ก่อนกำหนด แม้มีกระแสกดดันจากบรรดาพรรคฝ่ายค้าน

ซูนัก วัย 42 ปี จะเป็นนายกรัฐมนตรีเชื้อสายอินเดียหรือเอเชียคนแรกของอังกฤษ และเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในรอบ  210 ปี รวมทั้งเป็นนักการเมืองที่ก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวดเร็วที่สุดในยุคสมัยใหม่โดยใช้เวลาเพียง 7 ปีนับจากได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  นอกจากนี้ ซูนักยังจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3  

เมื่อซูนักดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 57 จะต้องเผชิญความท้าทายในการสร้างเสถียรภาพ หลังจากอังกฤษประสบกับความยุ่งเหยิงทางการเมือง และความผันผวนของตลาดเงินครั้งประวัติศาสตร์ ทั้งยังต้องบริหารเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากภาวะถดถอย

ก่อนหน้านี้ ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. ซูนักหาเสียงโดยชูนโยบายช่วยเหลือครัวเรือนต่อสู้กับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น และสัญญาว่าจะลดภาษีเมื่อเงินเฟ้อลดลง  

แต่แผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมาตรการลดภาษีของทรัสส์ สร้างความกังวลให้นักลงทุนจนเกิดความผันผวนในตลาดเงิน ทำให้ต้องยกเลิกเกือบทั้งหมด และจุดประเด็นกดดันให้ทรัสส์ต้องลาออกเนื่องจากความผิดพลาดดังกล่าว

ขณะนี้นักลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์ คาดหวังว่า การปรับแก้ไขแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เสนอโดยเจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีคลัง ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากทรัสส์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยยกเลิกแผนลดภาษีเกือบทั้งหมด จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ และกำลังมีการจับตาว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่จะเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีคลังหรือไม่