วิเคราะห์ "คณะกรรมการโปลิตบูโรชุดใหม่" ภายใต้การนำของ "สี จิ้นผิง"

วิเคราะห์ "คณะกรรมการโปลิตบูโรชุดใหม่" ภายใต้การนำของ "สี จิ้นผิง"

23 ตุลาคม 2565 เป็นวันสำคัญของการเมืองจีน โดยเป็นวันประชุมครั้งแรกของการประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 20 ชุดใหม่ ที่มีการเลือกในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 โดยมีการประกาศ คณะกรรมการโปลิตบูโรขึ้น

การประกาศ คณะกรรมการโปลิตบูโร หรือ 7 ผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ แน่นอนว่า "สี จิ้นผิง" ได้รับเลือกในลำดับที่หนึ่ง และเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนอีกหนึ่งสมัย และอีก 6 คน ที่จะมาเคียงข้างสี จิ้นผิง ในฐานะคณะกรรมการประจำโปลิตบูโรเป็นใครกันบ้าง? อ้ายจง จะขอเล่าให้ทุกคนได้รับทราบกัน โดยเรียงตามลำดับ ดังนี้

หลี่ เฉียง

หลี่ เฉียง ลำดับที่สองในการประกาศรายชื่อคณะกรรมการประจำกรมการเมือง (โปลิตบูโร) พรรคคอมมิวนิสต์จีน ต่อจาก สี จิ้นผิง

ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศรายชื่อออกมา สื่อต่างชาติโดยเฉพาะสื่อตะวันตกจำนวนมากมีการคาดการณ์ว่า หลี่ เฉียง จะเป็น 1 ใน 7 คณะกรรมการประจำกรมการเมือง และจะเป็นนายกรัฐมนตรีจีนคนต่อไป ต่อจาก หลี่ เค่อเฉียง ที่จะลงจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2566 

โดยการคาดการณ์ยิ่งเข้มข้นไปอีกเมื่อ วัง หยาง ประธานสภาที่ปรึกษาการเมืองและเป็นกลุ่มผู้นำระดับสูงของพรรค ในฐานะสมาชิกคณะกรรมการประจำกรมการเมืองชุดปัจจุบัน ไม่อยู่ในรายชื่อคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ชุดที่ 20 ที่เลือกในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2565 ทั้งที่มีกระแสออกมาจากสื่อต่างๆ ก่อนหน้านี้ว่า วัง หยาง น่าจะได้รับการสืบทอดตำแหน่งของ หลี่ เค่อเฉียง ต่อไป เนื่องจากทั้งสองมีความใกล้ชิดกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง

สำหรับ หลี่ เฉียง (คนละคนกับ หลี่ เค่อเฉียง) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมหานครเซี่ยงไฮ้ ผู้มีบทบาทสำคัญในการดูแลมหานครเซี่ยงไฮ้ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งแม้ว่าจะมีประเด็นเรื่องการรับมือโควิด-19 ซึ่งมีเสียงเชิงลบว่า จัดการช้า และมีการล็อกดาวน์ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจเป็นระยะเวลานาน แต่ทางการจีนยังให้การไว้วางใจและสนับสนุน โดยมองว่า ณ ขณะนั้น เป็นการระบาดของสายพันธุ์ Omicron ซึ่งใหม่มากสำหรับจีน 

หลี่ เฉียง มีประวัติการทำงานและผลงานที่ผ่านมาค่อนข้างเด่นชัดมากในสายพัฒนาเทคโนโลยีและเศรษฐกิจใหม่ ตัวอย่างเช่น การผลักดันการรวมกลุ่มเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เซี่ยงไฮ้ มณฑลเจ้อเจียง มณฑลเจียงซู และมณฑลอันฮุย ซึ่งเขารู้จักพื้นที่เขตเศรษฐกิจนี้ค่อนข้างดีทีเดียว เนื่องจากมีประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ที่เริ่มจากมณฑลเจ้อเจียง ทั้งเป็นคนเจ้อเจียงโดยตรง และในสมัยที่ทำงานที่นั่น เขาทำงานกับ สี จิ้นผิง เมื่อครั้งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลเจ้อเจียง โดย หลี่ เฉียง ยังเคยไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ ประจำมณฑลเจียงซูอีกด้วย 

และเมื่อเขาเป็นเลขาธิการพรรคฯ ประจำเซี่ยงไฮ้ หลี่ เฉียง ยังขยายเขตการค้าเสรีของมหานครเซี่ยงไฮ้ มุ่งเน้นการลงทุนจากต่างชาติ อย่างการตั้งโรงงานของ Tesla และบริษัทการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงบริษัทผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ 

สำนักข่าวรอยเตอร์ สื่อตะวันตก ยังมีรายงานถึง หลี่ เฉียง ในเชิงบวก แง่ของการเข้าถึงง่าย โดยมีผู้ประกอบการเอกชนในเซี่ยงไฮ้ระบุว่า ได้ส่งจดหมายขอความช่วยเหลือถึง หลี่ เฉียง ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ ประจำเซี่ยงไฮ้ ไม่คิดว่าหลี่ เฉียง จะตอบกลับ เพราะเป็นบริษัทเล็กๆ แต่หลี่ เฉียงได้ตอบกลับพร้อมให้ความช่วยเหลือ 

จากที่กล่าวมา จะเห็นว่า หลี่ เฉียง มีสิ่งที่ตรงกับนโยบายของ สี จิ้นผิง อย่างชัดเจน นั่นคือ การเข้าใจในระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงมีประสบการณ์การทำงานและพัฒนาพื้นที่ที่เป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของจีน และที่สำคัญ ถ้ามองในมุมของการรับมือโควิด-19 ตามนโยบายโควิดของจีน ตั้งแต่ "โควิดเป็นศูนย์" มาจนถึง "โควิดเป็นศูนย์แบบไดนามิก" หากไม่นับการระบาดรอบล่าสุดของเซี่ยงไฮ้ ด้วยสายพันธุ์ Omicron ก็มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมายอมรับเหมือนกันว่า หลี่ เฉียง นำพาเซี่ยงไฮ้ เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจจีน ฝ่าการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี ด้วยจำนวนเคสและเหตุการณ์รุนแรงค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ 

หนึ่งในจุดสำคัญที่ต้องจับตามองต่อไปในเส้นทางของ หลี่ เฉียง ก็คือ หากเขาก้าวสู่นายกรัฐมนตรีของจีน จะกลายเป็นว่าเขาก้าวสู่ตำแหน่งนี้ โดยไม่เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีจีนมาก่อนเลย ซึ่งถือว่าไม่ได้เป็นไปตามปกติของธรรมเนียมที่สืบต่อกันมาของพรรคฯ อย่างไรก็ตาม มีการเปิดช่องให้คณะกรรมการประจำสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) สามารถแต่งตั้งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีได้ ตามที่มีการแก้ไขในรัฐธรรมนูญพรรคคอมมิวนิสต์จีนและจากนั้นเขาก็จะถูกแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้เลยในเดือนมีนาคม ปี 2566 ซึ่งจะมีการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ

จ้าว เล่อจี้ 

ลำดับที่สาม จ้าว เล่อจี้ อดีตเลขาธิการพรรคฯ ประจำมณฑลชิงไห่ และมณฑลส่านซี ซึ่งมีผลงานที่เด่นชัดทั้งสองมณฑล ในการเพิ่ม GDP สามเท่าในมณฑลชิงไห่ ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งในช่วงปี 2550 และเมื่อย้ายกลับไปดำรงตำแหน่งที่มณฑลส่านซี บ้านเกิด ก็ทำให้ GDP เพิ่มขึ้น 15% ช่วงปี 2551 และในการดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการประจำโปลิตบูโรชุดก่อนหน้า ที่เพิ่งหมดวาระไปสดๆ ร้อนๆ เขาก็ได้รับความไว้วางใจจาก สี จิ้นผิง ให้กุมบังเหียนการปราบปรามคอรัปชัน ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการกลางเพื่อการตรวจสอบวินัย (CCDI) 

จากประสบการณ์ทั้งในแง่ของการพัฒนาพื้นที่ที่ถือว่าเป็นพื้นที่รอบนอกของจีน มี GDP ค่อนข้างต่ำ และทั้งในแง่ของการปราบคอรัปชัน เขาจึงเข้ามาสู่คณะกรรมการประจำโปลิตบูโรชุดใหม่อีกหนึ่งคำรบ คาดว่าจะไปดำรงตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่การกุมบังเหียนคอรัปชันแล้ว แต่จากประสบการณ์และผลงานที่ผ่านมา จัดว่าอยู่ในแนวทางที่สี จิ้นผิง ต้องการ ทั้งเรื่องของการมุ่งเน้นปราปคอรัปชันภายในพรรคฯ ที่ สี จิ้นผิง มองว่าเป็นดั่งมะเร็ง และการพัฒนาประเทศจีนให้เป็นสังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์แบบจีนอันทันสมัย 

หวัง ฮู่หนิง

ลำดับที่สี่ หวัง ฮู่หนิง บุคคลท่านนี้เป็นนักทฤษฎีการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์และเป็นกุนซือที่อยู่เคียงข้างผู้นำจีนมาหลายยุคหลายสมัย อย่างในยุคของ สี จิ้นผิง ก็ถือเป็นกุนซือทางด้านการเมืองที่สำคัญ โดยเฉพาะตามนโยบายของ สี จิ้นผิง ที่ต้องการสร้างความเป็นปึกแผ่นและมุ่งเน้นความเป็นหนึ่งเดียวของพรรคอมมิวนิสต์และความเป็นสังคมนิยมแบบจีน ดังนั้น หวัง ฮู่หนิง จึงยังได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการประจำโปลิตบูโรอีกหนึ่งสมัย

ถ้าวิเคราะห์ในประสบการณ์การทำงานจะเห็นได้ว่า หวัง ฮู่หนิง ไม่ได้มีประสบการณ์การดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำมณฑลมาก่อน แต่อยู่ในสายวิชาการของพรรค ถือเป็นกำลังสำคัญในการเป็นเบื้องหลังนโยบายสำคัญของผู้นำจีน อย่างนโยบายสังคมนิยมอันมีเอกลักษณ์เฉพาะแบบจีน และในการรับมือโควิด-19 เขาก็อยู่ในคณะทำงานควบคุมการแพร่ระบาดในฐานะรองหัวหน้าคณะด้วย โดยมี หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนเป็นหัวหน้า 

ไช่ ฉี

ลำดับที่ห้า ไช่ ฉี เป็นหนึ่งในคนที่ทำงานร่วมกับ สี จิ้นผิง มาเป็นระยะเวลานับสิบปี ที่มณฑลเจ้อเจียง ดังนั้นจึงมีความใกล้ชิดเป็นอย่างดี โดยเขามีผลงานสำคัญในฐานะเลขาธิการพรรคฯ ประจำกรุงปักกิ่ง ซึ่งในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด ก็มีผลงานในการรับมือเรื่องโควิด-19 จนสามารถจัดงานใหญ่ที่จีนหมายมั่นปั้นมือให้เป็นผลงานระดับโลก อย่างโอลิมปิกดูหนาวปักกิ่ง 2022 โดยเขาเป็นประธานคณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูหนาวปี 2022 ที่กรุงปักกิ่ง

โดยอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจของ ไช่ ฉี ก็คือ มีการเปิดเผยว่า เขาเป็นคนที่มีการใช้งานสังคมออนไลน์ Weibo สังคมออนไลน์ชื่อดังของจีน โดยมีผู้ติดตามจำนวนมากนับสิบล้านคน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า การสื่อสารของทางการจีนในยุคสี จิ้นผิง ก็มุ่งเน้นการสื่อสารบนโลกสังคมออนไลน์เช่นกัน

ติง เซวียเสียง

ลำดับที่หก ติง เซวียเสียง หนึ่งในผู้ที่ถูกมองว่าใกล้ชิดกับ สี จิ้นผิง มากที่สุด ได้รับการไว้เนื้อเชื่อใจของ สี จิ้นผิง ไม่เคยมีประสบการณ์ในฐานะเลขาธิการพรรคประจำมณฑลหรือผู้ว่าการ เฉกเช่นเดียวกับกรณีของ หวัง ฮู่หนิง แต่ทว่า ติง ไม่ได้มาสายวิชาการ แต่มาในสายของผู้ที่จบทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ และทำงานทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาโดยตลอด และภายหลังได้เข้ามาทำงานในฐานะเลขาของ สี จิ้นผิง และเป็นผู้ที่ใกล้ชิดที่มักจะติดตาม สี จิ้นผิง ไปทำงานในที่ต่างๆ ทั้งในจีนและต่างประเทศ

โดยถ้าพิจารณานโยบายของ สี จิ้นผิง ทั้งก่อนหน้า และที่ได้เน้นย้ำในการรายงานการทำงาน เมื่อ 16 ตุลาคม 2565 จะเห็นได้ว่า "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ สี จิ้นผิง ให้ความสำคัญมาก" และคาดว่า ติง จะมามีบทบาทในส่วนนี้

หลี่ ซี

ลำดับสุดท้ายใน 7 คน ของ คณะกรรมการโปลิตบูโร ได้แก่ หลี่ ซี โดยเขามีประสบการณ์ในการทำงานของพรรคฯ ประจำเซี่ยงไฮ้ และจากเซี่ยงไฮ้ไปพัฒนาพื้นที่ยากจนในพื้นที่มณฑลกานซู่ แต่ที่ถือว่าเป็นผลงานสำคัญของเขาก็คือ การปฏิรูปเศรษฐกิจและผลักดันอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ในฐานะเลขาธิการพรรคฯ ประจำมณฑลกว่างตง 

โดยการเข้ามาสู่คณะกรรมการประจำโปลิตบูโร ลำดับที่ 7 ในครั้งนี้ หลี่ ซี ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางเพื่อการตรวจสอบวินัย แทน จ้าว เล่อจี้ ซึ่งสื่อต่างๆ มีการคาดการณ์กันว่า จ้าว เล่อจี้ จะไปรับตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแทน วัง หยาง ซึ่งจะเกษียณ และไม่อยู่ในรายชื่อคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ชุดที่ 20

จากทั้งหมดที่กล่าวมา มีเพียง จ้าว เล่อจี้ และหวัง ฮู่หนิง ที่อยู่ในคณะกรรมการประจำโปลิตบูโรชุดเดิม ขณะที่ หลี่ เฉียง, ไช่ ฉี, ติง เซวียเสียง และหลี่ ซี เป็นสมาชิกใหม่ แต่ถ้าหากดูที่เล่ามาทั้งหมดก็จะพบว่า ทั้งหมดล้วนทำงานใกล้ชิดกับ สี จิ้นผิง และมีผลงานเด่นชัดในการปฏิรูปเศรษฐกิจ ประกอบกับมีผลงานและความรู้ความสามารถเฉพาะในนโยบายต่างๆ ที่ สี จิ้นผิง ต้องการ 

ผู้เขียน: ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่