"APEC 2022" เวทีมหาอำนาจประลองกำลัง

"APEC 2022" เวทีมหาอำนาจประลองกำลัง

ประเทศไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. 2565 ซึ่งจะเป็นการเผชิญหน้าของประเทศมหาอำนาจของโลก อาจส่งผลต่อการประชุมที่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เหมือนกับการประชุมในครั้งก่อน ๆ เพราะความเห็นไม่ตรงกันเรื่องความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน

ประเทศไทย กำลังจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. 2565 ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งที่ 3 ของประเทศไทย หลังจากเคยเป็น เจ้าภาพเอเปค มาเมื่อปี 2535 และปี 2546 โดยการประชุมครั้งนี้ประเทศไทยได้ชูประเด็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเอเปค ผ่านข้อเสนอเอกสาร Bangkok Goals on BCG Economy ที่จะให้ผู้นำรับรอง

การประชุมผู้นำเอเปก2022 ที่จะถึงนี้ เป็นอีกครั้งที่จะเป็นการเผชิญหน้าของประเทศมหาอำนาจของโลก ซึ่งอาจส่งผลต่อการประชุมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลังจากที่ปี 2561 ที่ปาปัวนิวกีนี เป็นเจ้าภาพ ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุม (Joint Statement) ได้ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจทั้งสหรัฐและจีน ที่อยู่ในช่วงการทำสงครามการค้า โดยทั้งจีนและสหรัฐต่างแข่งแสดงวิสัยทัศน์ในที่ประชุมดังกล่าว ซึ่งปาปัวนิวกีนีทำได้เพียงการแถลงการณ์ของประธาน (Chairman Statement)

ปัจจุบัน ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์มีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการทำสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ดำเนินมาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2565 ที่ส่งผลให้เกิดวิกฤติพลังงานและวิกฤติเงินเฟ้อทั่วโลก ซึ่งสหรัฐได้รับผลกระทบรุนแรงและทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคแล้ว รวมถึงสถานการณ์บนเกาะไต้หวันที่สร้างความไม่พอใจให้กับจีน จากการที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐเดินทางเยือนไต้หวัน ซึ่งการประกาศล่าสุดของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน พร้อมที่จะดำเนินการกับไต้หวัน

ความขัดแย้งดังกล่าวที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปคมาตั้งแต่กลางปี 2565 โดยในการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 21-22 พ.ค.2565 ได้มีการวอล์กเอาต์จากที่ประชุมของผู้แทน 5 ประเทศ คือ สหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น เป็นการวอล์กเอาต์ระหว่างผู้แทนรัสเซียกำลังกล่าวถ้อยแถลง ตามมาด้วยการออกแถลงการณ์ของผู้แทน 7 ประเทศ เพื่อประณามการทำสงครามของรัสเซีย

การประชุมระดับรัฐมนตรีที่ออกแถลงการณ์ร่วมไม่ได้เกิดขึ้นอีกครั้งในการประชุมรัฐมนตรีคลังเอเปค ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2565 เพราะที่ประชุมมีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเลี่ยงไม่ได้ที่การประชุมผู้นำเอเปคในเดือน พ.ย.นี้ อาจจะไม่สามารถสรุปจนออกแถลงการณ์ร่วมได้ ถึงแม้ว่าไม่ได้สร้างความเสียหาย แต่สะท้อนถึงความไม่เป็นเอกภาพของเอเปคที่จะมีผลต่อการขับเคลื่อนประเด็นเศรษฐกิจของเอเปค เช่น การจัดทำเขตการค้าเสรีเอเปค