จับตาจีนเขย่าตำแหน่งผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์

จับตาจีนเขย่าตำแหน่งผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์

จีนเปิดประชุมสมัชชาประจำปี - จับตาเก้าอี้นายกฯแทน“หลี่ เค่อเฉียง” พร้อมจับตานโยบายต่างประเทศ ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ

“จีน” เตรียมเปลี่ยนแปลงเจ้าหน้าที่ระดับสูงพรรคคอมมิวนิสต์ที่รายล้อมประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” หนึ่งสัปดาห์หลังจากนี้เมื่อการประชุมใหญ่พรรคเสร็จสิ้นจะประกาศทีมบริหารใหม่ของพรรค การเปลี่ยนแปลงที่ถูกจับตามองใกล้ชิด คือ อนาคตของนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง จับตานโยบายต่างประเทศ ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ 

เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงาน ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจะได้อยู่ในตำแหน่งต่ออีกห้าปีในวาระที่ 3 สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะองค์ประกอบของทีมใหม่จะสะท้อนให้เห็นแนวโน้มทางการเมืองของสีและผู้ที่เกี่ยวข้อง และการสนับสนุนแนวคิดของประธานาธิบดี เช่น ความนิยมให้รัฐควบคุมเศรษฐกิจ

สี วัย 69 ปีถูกคาดหมายอย่างกว้างขวางว่าอยู่ในอำนาจต่อไป หลังจากเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มา 10 ปี แต่ยังมีการคาดเดากันมากว่าใครจะลงจากตำแหน่งหรือใครจะได้รับบทบาทใหม่ ซึ่งจะต้องพิจารณาจากโครงสร้างทางการเมืองและนโยบายเศรษฐกิจของจีน

ตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์ราว 2,300 คน ที่มาประชุมกัน ณ มหาศาลาประชาชนกลางกรุงปักกิ่ง เริ่มต้นเมื่อวันอาทิตย์ (16 ต.ค.) เพื่อเลือกคณะกรรมการกลางชุดใหม่ราว 200 คน คณะกรรมการชุดนี้จะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกแกนนำพรรค อันประกอบด้วย คณะกรมการเมือง (โปลิตบูโร) และคณะกรรมการถาวร

โปลิตบูโรชุดปัจจุบันมี 25 คน รวมถึง หลิวเหอ หัวหอกเจรจาการค้ากับสหรัฐในปี 2563 และ 2564 ในจีนเขาเป็นประธานคณะกรรมการเสถียรภาพทางการเงินของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม หลิวไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการถาวรของโปลิตบูโร ผู้มีอำนาจสูงสุดของพรรคที่ปัจจุบันมีสมาชิกเจ็ดคน รวมทั้งประธานาธิบดีสี และนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง

สีครองสามตำแหน่งสำคัญ ได้แก่ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประธานคณะกรรมการทหารกลาง และประธานาธิบดีจีน คาดว่าการประชุมรอบนี้สียังคงสองตำแหน่งแรกต่อไป

ส่วนตำแหน่งของรัฐ เช่น ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรียังยืนยันไม่ได้จนกว่าจะมีการประชุมรัฐบาลจีนประจำปีครั้งหน้า ปกติมีขึ้นในเดือน มี.ค.

จับตาผู้มาแทน“หลี่ เค่อเฉียง”

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ถูกจับตามองมากที่สุดตำแหน่งหนึ่งคืออนาคตของหลี่ เค่อเฉียงที่มีอายุ 67 ปีในปีนี้ แม้นโยบายเศรษฐกิจหลักของจีนส่วนใหญ่กำหนดโดยคณะกรรมการโปลิตบูโร แต่หลี่ก็เป็นผู้นำการปฏิบัติในฐานะนายกรัฐมนตรี ประธานสภาแห่งรัฐซึ่งเป็นองค์กรบริหารสูงสุดของจีน
 

หลี่เคยกล่าวในเดือน มี.ค.ว่า ปีนี้เป็นปีสุดท้ายในตำแหน่งนายกฯ ที่เขาครองมาตั้งแต่ปี 2556 แต่เขาอาจยังเป็นคณะกรรมการถาวร อย่างที่เคยเห็นในการประชุมใหญ่พรรคครั้งที่ 15

ตลอดสิบปีที่ผ่านมา หลี่พบกับภาคธุรกิจต่างประเทศอยู่เสมอเพื่อส่งเสริมการลงทุนในจีน นับตั้งแต่โควิด-19 ระบาด เขาสนับสนุนการลดภาษีและค่าธรรมเนียมของภาคธุรกิจแทนการเสนอบัตรกำนัลเพื่อการบริโภค หลี่จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง

ในบรรดานายกรัฐมนตรียุคใหม่ของจีน ยกเว้นคนแรกเคยเป็นรองนายกฯ มาก่อน ปัจจุบันรองนายกฯ จีน ได้แก่ ฮั่นเจิ้ง, หูจุนหัว, หลิวเหอ และซุน จุนหล่าน ผู้หญิงคนเดียวในโปลิตบูโร

“ใครก็ตามที่ขึ้นมาเป็นนายกฯ แท้จริงแล้วเป็นการส่งสัญญาณความต้องการเบื้องต้นของสี จิ้นผิง หรือการพิจารณาทางการเมืองและนโยบายของเขา” เจิ้ง หลี่ นักวิชาการอาวุโสจากกลุ่มคลังสมองสถาบันบรุกกิงส์ให้ความเห็น

นักวิชาการรายนี้เสนอชื่อสี่บุคคลในโปลิตบูโร ที่อาจเข้าร่วมหรืออยู่ต่อในคณะกรรมการถาวร และมีโอกาสเป็นนายกฯ แทนหลี่เค่อเฉียงได้แก่ ฮั่นเจิ้ง สมาชิกคณะกรรมการถาวร หากได้เป็นนายกฯ จะสะท้อนถึงความต่อเนื่องของนโยบาย

หู จุนหัว มีสายสัมพันธ์กับประธานาธิบดีหู จิ่นเทาคนก่อนหน้าสี การสนับสนุนเขาส่งสัญญาณ “เอกภาพในหมู่ผู้นำ” เมื่อสี แต่งตั้งคนนอกกลุ่มของตนเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญ

หลิว เหอ จบการศึกษาจากวิทยาลัยเคนเนดี ฮาร์วาร์ด ในทศวรรษ 1990 ล่าสุดเขานำคณะตัวแทนจีนไปเจรจาการค้ากับสหรัฐเคยหารือกับเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐหลายครั้ง ถ้าหลิวเป็นนายกฯ ก็เพราะความเป็นที่นิยมระดับนานาชาติ

หวัง หยาง เป็นสมาชิกคณะกรรมการถาวร และเป็นรองนายกฯ ระหว่างปี 2556-2561 เป็นที่รู้จักกันดีว่ามีแนวคิดมุ่งเน้นตลาด การเลือกหวังเป็นนายกจะสะท้อนถึง “การเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างมาก”

เผยเหล่าผู้ภักดี“สี จิ้นผิง”

นักวิเคราะห์จากศูนย์จีนของสถาบันนโยบายสังคมเอเชียมองต่างออกไปว่า หลี่ เฉียง เลขาธิการพรรคสาขาเซี่ยงไฮ้และสมาชิกโปลิตบูโร เด็กในคาถาของสีจะได้เป็นนายกฯ ส่วนผู้ภักดีต่อสีคนอื่นๆ ที่ถูกจับตา ได้แก่ติง ซูเซียง สมาชิกโปลิตบูโร และหัวหน้าคณะทำงานคนสำคัญของสี ทั้งยังรับหน้าที่ดูแลความปลอดภัยส่วนตัวให้เขา เท่ากับว่า ติงเป็นหนึ่งในคนวงในที่สีไว้ใจที่สุด

เฉิน หมิ่นเอ๋อ สมาชิกโปลิตบูโร เลขาธิการพรรคเขตเทศบาลนครฉงชิ่ง ที่ได้ตำแหน่งมาเพราะสีขับเลขาฯ คนเก่าออกกะทันหัน

หวง คุนหมิง สมาชิกโปลิตบูโร ผู้อำนวยการแผนกโฆษณาชวนเชื่อของจีน ผู้ทำงานใกล้ชิดกับสีในมณฑลฝูเจี้ยนและเจ้อเจียง

จับตาความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ

อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ถูกจับตาอย่างกว้างขวางคือ ผู้นำระดับสูงคนใหม่ด้านกิจการต่างประเทศ

หยาง เจียฉี วัย 72 ปี สมาชิกโปลิตบูโรและผู้อำนวยการสำนักงานกิจการต่างประเทศ คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ ถูกคาดหมายว่าจะเกษียณ

หยางเป็นนักการทูตมานาน ตำแหน่งช่วงแรกๆ เช่น ทำงานที่สถานทูตจีนในสหรัฐเมื่อทศวรรษ 1980 หยางเข้าร่วมการประชุมระหว่างสหรัฐกับจีนเมื่อเร็วๆ นี้หลายครั้ง รวมทั้งครั้งแรกในสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่แองเคอเรจด้วย

นีล โทมัส นักวิเคราะห์อาวุโสด้านจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือจากยูเรเชียกรุ๊ปรายงานว่า หลิว เจียอี้ มีโอกาสสืบทอดตำแหน่งของหยางด้านกำกับดูแลการต่างประเทศมากที่สุด

หลิวเป็นผู้อำนวยการสำนักงานกิจการไต้หวันสภาแห่งรัฐ ก่อนหน้านี้เคยเป็นตัวแทนจีนในสหประชาชาติ ด้วยประสบการณ์เหล่านี้ชี้ว่า “ปักกิ่งจะยกระดับการมุ่งเน้นทางการทูตในการปฏิรูปธรรมาภิบาลระดับโลกและขัดขวางอิสรภาพของไต้หวัน”

ด้วยวัย 64 หลิวเป็นนักการทูตอาวุโสสุดที่ยังไม่ถึงเวลาเกษียณ ขณะเดียวกันมีข่าวลือว่า รัฐมนตรีต่างประเทศหวัง อี้ อาจสืบทอดตำแหน่งของหยางแทน

หวังเป็นสมาชิกคณะกรรมการกลางของพรรค 200 คน และเคยเป็นผู้อำนวยการสำนักงานกิจการไต้หวันของสภาแห่งรัฐ เขาจะมีอายุ 69 ปีในเดือน ต.ค.จีนกำหนดอายุเกษียณไว้ที่ 68 ปี

"ถ้าหวัง อี้ขึ้นมาแทนหยาง เจียฉี ในโปลิตบูโร ในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโสสุดผู้ดูแลนโยบายต่างประเทศ คาดได้เลยว่านโยบายต่างประเทศแบบเข้มงวดจะดำเนินต่อไป

ทุกสายตาจับจ้องทายาทสี

สำหรับคนที่ติดตามจีน คำถามใหญ่กว่าตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่ สี วัย 69 ปีจะกระชับอำนาจอย่างไร แต่อยู่ที่ว่าใครจะได้เป็นผู้สืบทอดของเขา และสีจะเตรียมตัวคนผู้นั้นอย่างไรในไม่กี่ปีนี้

เหยิน เหยิน อัง นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน เขียนลงวารสารประชาธิปไตยในเดือน ก.ค.ว่า ระบบราชการจีนภายใต้สีมีอิสระน้อยลง ผูกติดกับตัวเขามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากการตรวจสอบการใช้อำนาจมีน้อย

ภัยคุกคามต่อการครองอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ “จะอยู่ที่การต่อสู้เพื่อสืบทอดอำนาจจากการปกครองยึดตัวบุคคลของสี” ภายใต้ฉากทัศน์ที่ดีที่สุดจีนจะสามารถคงเสถียรภาพภายใต้การปกครองของสีไปได้จนถึงปี 2568

ส่วนฉากทัศน์เลวร้ายที่สุด “เกิดสุญญากาศขึ้นกะทันหันที่อาจเปิดช่องให้เกิดการยึดอำนาจอย่างรุนแรง”