เทรนด์เปลี่ยน! ผู้บริโภคจีนนิยม'ไอศกรีม-คราฟต์เบียร์'แทนสินค้าแบรนด์เนม

เทรนด์เปลี่ยน! ผู้บริโภคจีนนิยม'ไอศกรีม-คราฟต์เบียร์'แทนสินค้าแบรนด์เนม

ผู้บริโภคชาวจีนที่ขึ้นชื่อเรื่องซื้อกระเป๋า เสื้อผ้าและแอคเซสซอรีหรูเลิศ หนุนแบรนด์เนมตะวันตกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปีนี้เศรษฐกิจไม่ดีเลยหันมาปรนเปรอตนเองด้วยการกินดื่มอย่างประณีตและข้าวของเครื่องใช้อัจฉริยะแทน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ตอนนี้แบรนด์ทั้งหลายกำลังจับเทรนด์นี้อย่างรวดเร็ว เช่น กุ้ยโจวเหมาไถ ที่ขายเหมาไถหรือไป๋จิ่ว สุราจีนยอดนิยมขวดละ 300 ดอลลาร์ (11,400 บาท) เปิดตัวไอศกรีมไป๋จิ่ว สกู๊ปละ 10 ดอลลาร์เมื่อเดือน พ.ค.วันแรกขายได้ถึง 2.5 ล้านหยวน (350,000 ดอลลาร์)

ด้านบัดไวเซอร์ บรูว์อิง เอเชียแปซิฟิกบริษัทในเครือแอนไฮเซอร์-บุช อินเบฟ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง เผยว่า คราฟต์เบียร์และเบียร์พรีเมียม รวมถึงเบียร์แพ็กเกจพิเศษในรูปกิฟต์บ็อกซ์ราคาหลายร้อยดอลลาร์ขายดีอย่างไม่น่าเชื่อ

นอกจากนี้ข้อมูลจากยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซเจดี เผยว่า ยอดขายเครื่องเล่นเกมและเครื่องใช้ภายในบ้านตั้งแต่ฝักบัวประหยัดน้ำ แปรงสีฟันอัจฉริยะ ไปจนถึงพรินท์เตอร์พุ่งขึ้นถึงสี่เท่าจากปีก่อน ในช่วงเทศกาลลดราคากลางปี 618 ของเจดี

มาร์ค แทนเนอร์ ผู้ก่อตั้งบริษัทการตลาดไชนาสกินนี กล่าวว่า ผู้บริโภคชาวจีนกำลัง “ปรนเปรอตนเองกับข้าวของเล็กๆ น้อยๆ และพวกเขาชอบอะไรใหม่ๆ”

การเปลี่ยนเทรนด์ของผู้บริโภค ซึ่งเห็นได้จากบางเซกเมนต์ผู้คนประหยัดมากขึ้น เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจอึมครึม นโยบายโควิดเป็นศูนย์และผลจากการล็อกดาวน์บ่อยๆ ทำให้กิจกรรมทางธุรกิจและการท่องเที่ยวสะดุด ภาคอสังหาริมทรัพย์เจอวิกฤติเช่นกัน

ภาคเทคโนโลยีและติวเตอร์เอกชนถูกควบคุมการจ้างงานอย่างหนัก ส่งผลให้การว่างงานของคนหนุ่มสาวพุ่งสูง

เศรษฐกิจจีนหลุดพ้นภาวะหดตัวมาได้อย่างฉิวเฉียดในไตรมาสสอง ยอดค้าปลีกเดือน ม.ค.ถึงส.ค.โตน้อยมาก 0.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ห่างไกลกันมากจากที่เคยโตราว 8-9% ในช่วงหลัง

ที่เจ็บหนักคือสินค้าแบรนด์เนมตะวันตก เบอร์เบอร์รีกรุ๊ปและเคอร์ริง ยักษ์ใหญ่จากฝรั่งเศส ที่มีแบรนด์ดังอย่างกุชชี่และอีฟแซงต์โลรองต์ ทั้งสองแบรนด์รายงานยอดขายในจีนไตรมาส เม.ย.-มิ.ย. ลดลง 35% จากปีก่อน

ลูซี หลู่ ชาวเมืองเซี่ยงไฮ้ วัย 31 ปี ผู้ทำงานให้กับแบรนด์แฟชั่นจีน กล่าวว่า เธอเป็นหนึ่งในหลายๆ คนที่ต้องปรับการใช้ชีวิต

“เมื่อก่อน ถ้าพูดถึงกระเป๋าหรือเครื่องสำอาง ฉันซื้อโดยไม่ลังเลยเลย ตอนนี้ต้องถามตัวเองก่อนว่าจำเป็นมั้ยก่อนจะซื้ออะไร ตอนนี้ฉันเลยตามใจตัวเองด้วยการออกไปทานอาหารนอกบ้าน”

ผู้ค้าอาหารและเครื่องดื่มเลิศหรูบางรายมองว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นช่วงเวลาอันเยี่ยมยอดสำหรับการขยายธุรกิจ

เจอราร์ด โลว์ ผู้ก่อตั้ง Dal Cuore แบรนด์ไอศกรีมในเซี่ยงไฮ้ที่ขายกันสกู๊ปละราว 40 หยวน วางแผนเปิดสาขาที่ 5 ในเซี่ยงไฮ้ ได้แรงหนุนจากการกลับมาใช้ชีวิตปกติอย่างรวดเร็วหลังจากยกเลิกล็อกดาวน์โหดนานสองเดือน

เขาสังเกตด้วยว่า คนที่มาผ่อนคลายที่ร้านของเขามากันเป็นครอบครัวมากขึ้น แทนที่จะมีแค่คนหนุ่มสาวเป็นส่วนใหญ่

“เมื่อเกิดช่วงเวลาไม่ดี ผู้คนก็อยากรู้สึกดีขึ้น ความสุขอย่างไอศกรีมแม้รู้สึกผิดก็สามารถช่วยได้” โลว์กล่าว