อ่าน‘สัญญะ’ผู้นำโลก ‘มาครง’ร่วมเอเปค

อ่าน‘สัญญะ’ผู้นำโลก  ‘มาครง’ร่วมเอเปค

เดือน พ.ย.นี้ ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) จากที่เคยเป็นเจ้าภาพครั้งแรกเมื่อ 19 ปีก่อน

แต่ปีนี้โลกเกิดความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์เรื่องรัสเซีย-ยูเครน ส่วนมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐ-จีน ก็มึนตึงกันอย่างหนัก การที่ผู้นำมาร่วมประชุมเอเปคหรือไม่มาจึงกลายเป็นประเด็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ข่าว ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสยืนยันมาร่วมประชุมในฐานะแขกพิเศษของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามหลังข่าวประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐไม่มาถือเป็นเรื่อง “เซอร์ไพรส์” คนที่อธิบายเรื่องนี้ได้ดีหนีไม่พ้น สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว หรือ “ทูตอ้วน” อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ อดีตเอกอัครราชทูตประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และอดีตโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสมัยที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปคครั้งแรกเมื่อปี 2546 

อ่าน‘สัญญะ’ผู้นำโลก  ‘มาครง’ร่วมเอเปค

รู้จักเอเปค

ทูตอ้วนเริ่มต้นถอดสัญญะผู้นำโลกกับกรุงเทพธุรกิจ ด้วยการอธิบายว่า เอเปคเป็นเวทีหารือเรื่องการค้า การลงทุน สันติภาพความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ตอนนี้มีคำว่าอินโดแปซิฟิกเข้ามาแทน เพราะเห็นการก้าวขึ้นมาของอินเดีย และความเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับแปซิฟิก แต่เอเปคเป็นกรอบดั้งเดิมที่จะผลักดันความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

 

เท้าความ‘มาครง’ แขกพิเศษนายกฯ

อ่าน‘สัญญะ’ผู้นำโลก  ‘มาครง’ร่วมเอเปค

ไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปคสามารถเชิญแขกพิเศษได้ในจำนวนที่พอเหมาะ ไทยเชิญสามประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส ซาอุดีอาระเบีย และกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียน

 “คาดหวังว่าสองประเทศหลังจะตอบรับมาร่วมเอเปคด้วย” ทูตอ้วนกล่าวพร้อมเท้าความถึงการมาเยือนของประธานาธิบดีฝรั่งเศสว่า สมัยที่ตนเป็นเอกอัครราชทูตอยู่ที่ปารีส พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ไปเยือนฝรั่งเศสในปี 2561 ซึ่งไทยกำลังจะเป็นประธานอาเซียนในปีถัดไป จึงเชิญประธานาธิบดีฝรั่งเศสมาเยือนไทย ได้รับการตอบรับในหลักการแต่กำหนดการไม่อำนวย

" ที่เขารับจะมาเพราะเห็นความสำคัญของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และอยากมาแสดงวิสัยทัศน์ มาครงเน้นความสำคัญของระบบพหุภาคี ซึ่งที่ผ่านมาเป็นห่วงว่าระบบพหุภาคี ระเบียบโลกบนฐานกติการะหว่างประเทศถูกบั่นทอนหลังทรัมป์เป็นประธานาธิบดีใช้นโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” อียูก็เจอวิกฤติเบร็กซิท หลายประเทศในอียูมีแนวทางชาตินิยมสุดโต่ง"  อดีตทูตประจำกรุงปารีสกล่าวและว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้มาครงคิดว่า ควรมาใช้เวทีการประชุมอาเซียนเพื่อเน้นความสำคัญของระบบพหุภาคี แต่ตอนนั้นมาไม่ได้ ซึ่งความท้าทายเหล่านั้นยังมีอยู่ และมาครงยังให้ความสำคัญกับความท้าทายเรื่อง Climate Change การกอบกู้เศรษฐกิจยุคโพสต์โควิด รวมทั้งเรื่องสันติภาพ อย่างกรณียูเครน มาครงพยายามแสดงบทบาทอำนวยความสะดวกให้มีการหารือ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าฝรั่งเศสเข้าข้างรัสเซีย แต่เห็นความจำเป็นในการเข้าสู่กระบวนการหาทางแก้ไขความขัดแย้ง เปลี่ยนจากเส้นทางสงครามสู่เส้นทางสันติภาพ 

 กล่าวโดยสรุป มาครงไม่ได้เป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์สำหรับฝรั่งเศสอย่างเดียว แต่มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับสถานการณ์โลกด้วย และคิดว่าเวทีเอเปคเป็นเวทีสำคัญที่จะมาแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับสถานการณ์โลกขณะนี้ได้ 

แต่บังเอิญไบเดนไม่มา?

"ก็ไม่เป็นไร ยังมีผู้นำอีกหลายประเทศ  ฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกที่มียุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก สาเหตุเพราะมีดินแดนที่เป็นหมู่เกาะในภูมิภาคนี้ด้วย เช่น นิวแคลิโดเนีย, เฟรนช์โพลินิเชีย, หมู่เกาะเรอูนิยง จึงถือว่าตนมีผลประโยชน์โดยตรงต่อเสถียรภาพความมั่นคงในภูมิภาค และเห็นศักยภาพทางเศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิกที่ทั่วโลกมองว่าเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ นอกจากจีน อินเดีย จริงๆ แล้วเขาให้ความสำคัญกับอาเซียนด้วย คราวนี้เขาก็มาประเทศไทย เพราะตั้งใจมานานแล้ว" 

 

ประชาธิปไตยแบบไทยกับฝรั่งเศส

แม้รัฐบาลไทยมาจากการเลือกตั้งแต่ยังมีข้อครหาบางอย่างจากฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย เช่น กลไกการขึ้นมาเป็นนายก หรือล่าสุดเรื่องนายกฯ แปดปี   จึงชวนให้ตั้งคำถามว่าการมาของประธานาธิบดีมาครงจะถูกมองได้หรือไม่ว่าเป็นการรับรองรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  

"ตอนที่นายกฯเราไปฝรั่งเศสไปก่อนเลือกตั้ง เขาเชิญเราไปเพราะคิดว่าเรากำลังจะมีเลือกตั้ง ขณะเดียวกันเขาก็เห็นว่าเรามีบทบาทสำคัญเป็นประธานอาเซียน และที่สำคัญเขาเห็นผลประโยชน์ในเรื่องเศรษฐกิจที่มีในประเทศไทย ต้องมองในภาพทั้งหมด ปัญหาที่กล่าวมาเขาถือว่าเป็นเรื่องภายใน เพราะท่านนายกฯ ก็ผ่านการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ เรื่องนายกฯ แปดปีนั่นก็เป็นพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เขาให้ความสำคัญกับเวทีเอเปคที่จะได้มาแสดงวิสัยทัศน์ที่เขาคิดว่าเป็นเรื่องสอดคล้องกับสถานการณ์โลกในตอนนี้ และเขาก็อยากมาพูดเรื่องอาเซียนด้วยเพราะในบริบทอินโดแปซิฟิกเขาก็เห็นความสำคัญของอาเซียน เชื่อมั่นใน centrality ความเป็นแกนกลางของอาเซียน 

และที่สำคัญเขาจะได้มาพูดเรื่องความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศไทย เขาสนใจเรื่องนี้มาก ตอนผมเป็นทูตเคยมีสภาธุรกิจของเขามาเยือนไทยสองครั้ง เมื่อสองสามเดือนที่ผ่านมาก็เพิ่งมาเยือนตั้ง 30-40 บริษัท ฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะอีอีซี"

 

เบื้องหลังดีล MRO อู่ตะเภาล่ม

 "ถ้าจำได้ตอนที่ผมอยู่ แอร์บัสเขามาหาผมจากนั้นก็ไปหารองนายกฯ สมคิด มาเสนอโครงการทำศูนย์ MRO ที่ทันสมัยที่สุด ซึ่งท่านนายกฯ ได้ไปดูแบบจำลองที่ตูลูส จะเป็น Joint Venture ระหว่างการบินไทยกับแอร์บัส และจะเป็นฮับการซ่อมแซมและบำรุงรักษาเครื่องบินในภูมิภาค โดยเฉพาะเครื่องบิน A380 ที่เป็นเครื่องบินรุ่นใหม่ใหญ่ที่สุด แต่พอเกิดโควิดการเดินทางหยุดชะงักไป โครงการนี้ก็ระงับไป 

 

ระงับไปเพราะโควิดอย่างเดียวหรือมีปัจจัยอื่น 

"ก็คงมีกระบวนการเจรจาด้วย แอร์บัสเขามีมาตรฐานของเขา เมื่อเป็น Joint Venture  ก็อยากให้ระบบต่างๆ โปร่งใสได้มาตรฐานระหว่างประเทศจริงๆ ขณะเดียวกันผมคิดว่าทางการบินไทยก็มีหลายกลุ่ม หลายความคิด และเขาก็มี MRO ของเขาอยู่ที่ดอนเมือง MRO ใหม่อยู่ที่อู่ตะเภา และการบินไทยไม่ได้มีอำนาจผูกขาดในการบริหาร อาจต้องสลับกันเป็น CEO ต้องบริหารร่วมกันตกลงร่วมกัน ต้องใช้มาตรฐานระหว่างประเทศที่แอร์บัสคุ้นเคย รวมทั้งค่าจ้างค่าแรงอะไรต่างๆ เป็นรายละเอียดที่พูดตรงๆ ผมรู้สึกว่าเสียดาย เหมือนการบินไทยไม่ได้เจรจาโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ แต่เป็นผลประโยชน์ของการบินไทย ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นผลประโยชน์ของการบินไทยทั้งหมดหรือเปล่า" 

ในเมื่อโควิดหมดไปแล้วและมาครงมาเอง มีโอกาสที่โครงการนี้จะถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกหรือไม่

“จริงๆ อู่ตะเภาก็ยังอยากจะมี MRO แต่ไม่แน่ใจทางแอร์บัส คงต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ อีกที แต่โครงการ MRO แบบเดิมคงไม่กลับมาแล้ว” 

 

ถอดสัญญะผู้นำโลกใครมา-ไม่มา

เอเปคปีนี้จัดขึ้นในช่วงที่สถานการณ์โลกตึงเครียด ผู้นำใครมาไม่มาถูกจับตามองมาก เช่น ไบเดนไม่มา มาครงมา สี จิ้นผิงเหมือนจะมา ปูตินยังต้องลุ้น การมาไม่มาของเหล่าผู้นำครั้งนี้ ถอดสัญญะอะไรได้บ้างในมุมมองของนักการทูตมากประสบการณ์ 

"ถ้าเราจะอ่านให้ลึกก็ได้ หรือเราจะอ่านตามที่เขาชี้แจงว่าเขามีงานสำคัญ สำหรับผมมองว่า ถ้าเป็นผู้นำก็ควรจะต้องมา ถ้าปูตินมาก็ไม่เห็นจะต้องไปหลบ ก็จะได้พูดกัน ตรงไหนที่ไม่ชอบก็เดินออกไปเข้าห้องน้ำ อย่าลืมว่านี่คือโอกาสการแสดงความเป็นผู้นำของสหรัฐ การประชุมผู้นำเอเปคครั้งแรกเกิดขึ้นที่สหรัฐ สหรัฐขับเคลื่อนเอเปคมาตั้งเยอะ นี่เป็นโอกาสแสดงการเป็นผู้นำของโลกเสรีที่ทรัมป์เคยทำลายความเป็นผู้นำของสหรัฐ 

แต่สิ่งที่เขาชี้แจงก็อาจสำคัญ เพราะเขาให้ความสำคัญกับครอบครัว สหรัฐนี่ควรจะมาแต่เราก็เข้าใจเหตุผลของเขา จีนก็ต้องมาเพราะต้องการแสดงความเป็นผู้นำตามแนวคิดของเขา Win Win ทุกคนต้องมาร่วมมือกัน สำหรับปูติน เวทีนี้ไม่ ได้เหมือนกับจี7 แต่เป็ฯเวทีที่หลายประเทศก็อยากฟังความเห็นของรัสเซีย และหลายประเทศไม่ได้มีท่าทีชัดเจนเหมือนสหรัฐ"

 แล้วตอนนี้ท่านแว่วข่าวอะไรมาบ้าง ปูตินจะมาหรือไม่

“ด้วยสถานการณ์ตอนนี้เขาอาจจำเป็นต้องอยู่บ้านเขาหน่อย” 

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ไบเดนต้องไปเจอกับคู่อริที่จี20 อยู่แล้วก็เลยไม่จำเป็นต้องมาเอเปคที่กรุงเทพฯ ก็ได้ 

 "ก็อาจเป็นไปได้ แต่สำหรับผมมองว่า ตอนทรัมป์เป็นประธานาธิบดีหลายประเทศผิดหวัง เพราะสมัยโอบามานี่มาเกือบทุกครั้งเลย นี่เป็นปีแรกของไบเดนที่จะมีการประชุมแบบนี้ ผมคิดว่าควรต้องมาเป็นพิเศษทั้งอาเซียน จี20 และเอเปค นี่ยังไม่รู้เลยอาเซียนจะว่ายังไง แม้เขาจะจัดอาเซียนซัมมิตแยกไปแล้วก็ตาม จริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่ดีที่สหรัฐจะเดินทางมาในภูมิภาคนี้ แล้วใช้สไตล์ความเป็นผู้นำของสหรัฐที่ไม่ใช่แบบทรัมป์ มาหารือกันแบบเปิดกว้าง ไม่ใช่ America First เหมือนสมัยทรัมป์ ในเมื่อเขาพูดเสมอว่าอาเซียนเป็นเสาหลักของอินโดแปซิฟิก เราก็สงสัยว่าเป็นจริงหรือเปล่าถ้าเขาไม่มา เพราะเขาก็มีกลุ่ม Quad กลุ่มอะไรต่างๆ แม้สหรัฐจะจัดประชุมผู้นำอาเซียนไปแล้ว แต่นั่นคือการไปหาเขา ซึ่งเขาก็ควรจะมาในภูมิภาคของเรา

 

อนาคตผู้เห็นต่างทางการเมืองชาวไทยในฝรั่งเศส

อย่างที่ทราบกันว่า มีผู้เห็นต่างทางการเมืองชาวไทยที่โดนคดี 112 หลายคนพำนักอยู่ในฝรั่งเศส การที่มาครงมาเยือนไทยพวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเสรีหรือไม่หรืออาจมีเรื่องให้ต้องคิด

"ผมคิดว่าเราคงต้องแยก ฝรั่งเศสเองเขาก็แยก สำหรับเขา เขาห้ามไม่ได้ในการแสดงเสรีภาพ และเราก็คงต้องทำใจเหมือนกันว่าทำไมบางประเทศเขาปล่อยให้เป็นอย่างนี้ เพราะสังคมเขาเป็นอย่างนั้น รัฐธรรมนูญเขาเป็นอย่างนั้น กฎหมายเขาเป็นอย่างนั้น ถ้าเราจะบอกว่าการที่เขาไม่ปราบปรามแสดงว่าเขาไม่เป็นมิตรกับเรานี่ผมว่าไม่ใช่ ต้องแยก เพราะเขาไม่ได้เป็นประเทศที่รัฐควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง"