สงครามยูเครนกระทบแผนหนุนพลังงานสะอาดเอเชีย

สงครามยูเครนกระทบแผนหนุนพลังงานสะอาดเอเชีย

สงครามยูเครนกระทบแผนหนุนพลังงานสะอาดเอเชีย ขณะที่ความต้องการก๊าซในยุโรป ทำให้หลายประเทศในภูมิภาคนี้ต้องแข่งกับประเทศในเอเชีย ยิ่งผลักดันให้ราคาพลังงานจากฟอสซิลเพิ่มขึ้น

การทำสงครามที่ยืดเยื้อในยูเครนของรัสเซียนอกจากส่งผลกระทบต่อตลาดพลังงานในยุโรปแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปของประเทศต่างๆในเอเชียด้วย 

ยกตัวอย่างกรณีของ “อาสัญกา แซมพาธ” เสมียนวัย 43 ปีของโรงงานแห่งหนึ่งที่ต้องคอยเช็คข้อความทางมือถือตลอดเวลา และติดตามข่าวสารทางสื่อสังคมออนไลน์ตลอดเวลาเพื่อดูว่าน้ำมันมาหรือยัง เพราะหากมาล่าช้า ก็อาจทำให้มีการเข้าคิวซื้อน้ำมันแถวยาวเหยียดกินเวลานานหลายวัน  

“ผมจำเป็นต้องเช็คข้อมูลและติดตามความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ด้วยความระมัดระวัง”แซมพาธ กล่าว

สถานการณ์ที่เกิดกับเสมียนวัย 43 ปีชาวศรีลังกาสะท้อนถึงปัญหาที่ชาวศรีลังกาทั้งเกาะจำนวน 22 ล้านคนกำลังเผชิญในขณะนี้ได้อย่างดีท่ามกลางภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดเนื่องจากการแบกรับภาระหนี้สินจำนวนมหาศาล การสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 และต้นทุนด้านต่างๆที่เพิ่มมากขึึ้น 

ขณะที่ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองเพราะผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจจนนำมาสู่การตั้งรัฐบาลชุดใหม่ก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวังเพราะมีปัญหาการทำสงครามในยูเครนของรัสเซียเข้ามาสร้างแรงกดดันเพิ่ม และล่าสุด การทำสงครามนี้กำลังสร้างความปั่นป่วนแก่ตลาดพลังงานทั่วโลก
 

ความต้องการก๊าซของภูมิภาคยุโรป ทำให้บรรดาประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้ต้องแข่งขันกับประเทศในเอเชีย ยิ่งผลักดันให้ราคาพลังงานจากฟอสซิลเพิ่มขึ้นในมุมมองของ“ทิม บัคเลย์”ผู้อำนวยการกลุ่มนักคิดไคลเมท อีเนอร์ยี  ไฟแนนซ์ 

อย่างกรณีของญี่ปุ่นและเกาหลีที่ถือเป็นประเทศพัฒนามากที่สุดในทวีปเอเชีย กำลังผลักดันการใช้พลังงานจากนิวเคลียร์อย่างจริงจังหลังจากรัสเซียเปิดฉากทำสงครามกับยูเครนเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา และมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่ห้ามไม่ให้นำเข้าถ่านหินและก๊าซจากรัสเซีย ก็ทำให้ญี่ปุ่นต้องหันไปหาแหล่งพลังงานทางเลือก ถึงแม้ว่ายังมีกระแสต่อต้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ หลังจากเกิดภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะรั่วไหล เมื่อ 11 ปีก่อน

แต่การที่ฤดูร้อนของญี่ปุ่นมาถึงก่อนกำหนด ทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าไม่พอใช้ และทำให้รัฐบาลกรุงโตเกียว จำเป็นต้องเร่งตรวจสอบความปลอดภัยเพื่อทำให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์กลับมาใช้ได้อีกครั้ง
 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าว่าจะใช้พลังงานนิวเคลียร์ไม่เกิน 1 ใน 4 ของพลังงานโดยรวมที่ใช้ในประเทศ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า เป็นเป้าหมายที่มองโลกในแง่ดีเกินไป เมื่อพิจารณาจากการใช้พลังงานในปัจจุบันของญี่ปุ่นที่บ่งชี้ว่าพลังงานนิวเคลียร์จะมีบทบาทอย่างมากต่อการใช้พลังงานของประเทศ

ส่วนเกาหลีใต้ ประเทศเพื่อนบ้านแม้ยังไม่ได้รับผลกระทบในระยะสั้นจากสงครามในยูเครน เพราะเกาหลีใต้นำเข้าก๊าซธรรมชาติจากกาตาร์และออสเตรเลีย และนำเข้าน้ำมันจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลางแต่เกาหลีใต้อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการที่กลุ่มประเทศยุโรปที่พยายามเสาะแสวงหาพลังงานจากแหล่งประเทศผู้ผลิตเดียวกัน อาจทำให้ราคาพลังงานแพงขึ้น

รัฐบาลเกาหลีใต้ สนับสนุนการใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เหมือนกับญี่ปุ่น และมีท่าทีลังเลที่จะลดการพึ่งพาพลังงานจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ เพราะเห็นว่ายังมีความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ​

เมื่อหันมามองจีนและอินเดียจะเห็นว่าสองประเทศนี้กำลังเร่งสร้างพลังงานในประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ โดยในระยะสั้น จีนและอินเดีย กำลังพึ่งพาพลังงานจากการเผาไหม้ของถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงราคาถูกที่สุดและสกปรกที่สุด แถมยังเป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ

ตอนนี้  จีน เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก แม้รัฐบาลกรุงปักกิ่งตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2603 แต่ตั้งแต่เกิดสงครามในยูเครน จีนไม่ได้ทำแค่หันไปนำเข้าพลังงานฟอสซิลจากรัสเซียมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังผลิตถ่านหินภายในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย 

นอกจากนี้ สงครามในยูเครน วิกฤติภัยแล้ง และวิกฤติพลังงานภายในประเทศ ยังเพิ่มแรงกดดันให้จีนหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตกระแสไฟฟ้าให้ประชาชาน มากกว่าจะลดการใช้พลังงานถ่านหินที่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ขณะที่อินเดีย วางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ช้ากว่าจีนประมาณ 10 ปี  โดยอินเดียเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นอันดับสามของโลก 

ที่ผ่านมา อินเดียต้องการใช้พลังงานน้อยมาก แต่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คาดว่าความต้องการพลังงานของอินเดียจะเพิ่มขึ้นแซงหน้าประเทศอื่น ๆ และยังคาดว่าอินเดียจะต้องใช้งบประมาณ 233 พันล้านดอลลาร์ เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานสะอาดได้ภายในปี 2573

ด้วยความต้องการพลังงานที่มากมายมหาศาลนี้เอง อินเดียจึงมองหาทางที่จะเร่งผลิตถ่านหินเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศที่มีราคาสูง ด้วยเหตุนี้เองอินเดียจึงสวนทางกับบรรดาชาติตะวันตก ด้วยการยังคงเป็นลูกค้าซื้อน้ำมันจากรัสเซียต่อไป

ส่วนประเทศในอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันแพงที่ชัดเจนมากกว่าใครคืออินโดนีเซีย ล่าสุด สำนักสถิติอินโดนีเซียเปิดเผยวานนี้ (3 ต.ค.) ว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนก.ย.ของอินโดนีเซียพุ่งขึ้นแตะระดับ 5.95% เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 4.69% ในเดือนส.ค. เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขั้น