เปิดความสูญเสียรัสเซียหลังผนวก4ดินแดนในยูเครน

เปิดความสูญเสียรัสเซียหลังผนวก4ดินแดนในยูเครน

หลังจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย ประกาศผนวก 4 ดินแดนในยูเครนอย่างเป็นทางการ สิ่งที่ตามมาคือความสูญเสียที่รัสเซียได้รับ ถือเป็นความสูญเสียเพิ่มเติมจากมาตรการคว่ำบาตรก่อนหน้านี้ของชาติตะวันตกและสหรัฐ

รัสเซียไม่ได้รับคะแนนเสียงเพียงพอที่จะรักษาเก้าอี้ในสภาบริหารขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการบินขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในการลงคะแนนเสียงเมื่อวันเสาร์ (1 ต.ค.)

ทั้งนี้ ทุก ๆ สามปี ประเทศสมาชิกของ ICAO รวม 193 ประเทศ จะมารวมตัวกันในการประชุมสมัชชาองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ โดยการประชุมครั้งล่าสุดนี้จัดขึ้นที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ไปจนถึงวันที่ 7 ต.ค.

สภาบริหารของ ICAO ประกอบด้วย 36 ประเทศ ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการขนส่งทางอากาศ ซึ่งรวมถึงรัสเซีย จีน บราซิล ออสเตรเลีย และประเทศสมาชิก G7

“เราเสียใจกับผลการลงคะแนนในครั้งนี้ เรามองว่านี่เป็นเกมการเมืองล้วน ๆ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานะของรัสเซียในด้านการบินพลเรือนแต่อย่างใด” ผู้แทนจากรัสเซีย กล่าว
 

อย่างไรก็ตาม “ยูลิยา โควาลิฟ” เอกอัครราชทูตยูเครนประจำแคนาดา โต้แย้งว่า รัสเซียต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดน่านฟ้าของยูเครน ซึ่งขัดต่อข้อตกลงปี 2487 ที่กำหนดหลักการสำคัญสำหรับการบินทั่วโลก

ขณะที่ออสเตรเลีย ประกาศมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินและแบนการเดินทางชาวรัสเซีย 28 คน ซึ่งรวมถึงรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ระดับสูง และผู้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน หลังจากที่ประธานาธิบดีปูติน ประกาศผนวกดินแดน 4 แคว้นของยูเครนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย

“เพนนี หว่อง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย แถลงว่า “มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมเหล่านี้ตอกย้ำว่าออสเตรเลียคัดค้านอย่างรุนแรงต่อการกระทำของประธานาธิบดีปูตินและผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของเขา  ดินแดนของยูเครนที่รัสเซียเข้ายึดครองเป็นดินแดนภายใต้อำนาจอธิปไตยของยูเครน การลงประชามติปลอม ๆ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ได้”
 

ชาติตะวันตกมองว่าการลงประชามติในครั้งนี้เป็นการหาเหตุผลของรัสเซียเพื่อยึดครองดินแดนดังกล่าว และปธน.ปูตินจะอ้างว่าหากยูเครนโจมตีดินแดนดังกล่าวก็จะถือเสมือนการโจมตีรัสเซีย และรัสเซียประกาศว่าจะไม่ลังเลที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องดินแดนและอธิปไตยของประเทศ

ขณะที่ท่อส่งก๊าซธรรมชาตินอร์ดสตรีม 1 และ 2 ที่ได้รับความเสียหายนั้น รัสเซียตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าใช้ก๊าซธรรมชาติเล่นงานยุโรปที่ช่วยยูเครน จนกระทั่งเริ่มมีการฉุกคิดขึ้นมาว่ารัสเซียจะทำลายทรัพย์สินตัวเองเพื่ออะไร และใครคือผู้ที่จะได้รับประโยชน์มหาศาลถ้าปราศจากนอร์ดสตรีม

การที่ท่อส่งก๊าซธรรมชาตินอร์ดสตรีม 1 และ 2 ที่ลอดใต้ทะเลบอลติกเกิดรั่วไหลถึง 4 จุด คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 17,000 ล้านดอลลาร์ จุดประเด็นเรื่อง “การก่อวินาศกรรม” ที่ยังหาหลักฐานไม่ได้ว่าเป็นฝีมือใคร แต่เป็นไปได้ที่ผู้ลงมือจะใช้เรือดำน้ำไร้คนบังคับ และควบคุมระยะไกลเข้าไปวางระเบิดใกล้ท่อส่งก๊าซกับตามจุดเชื่อมต่อสำคัญตามแนวท่อ ที่ยาวหลายร้อยไมล์จากรัสเซียไปถึงเยอรมนี ความรุนแรงของระเบิดเหล่านี้เทียบเท่ากับระเบิดทีเอ็นทีน้ำหนักหลายร้อยปอนด์

ด้านโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นอีพี) ระบุว่า การรั่วไหลของท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม ทำให้เกิดการรั่วไหลของก๊าซมีเทนที่สร้างความเสียหายต่อสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ในเหตุการณ์เพียงคราวเดียว

ขณะที่นักวิจัยจาก GHGSat ซึ่งใช้ดาวเทียมเพื่อตรวจสอบการปล่อยก๊าซมีเทนประเมินว่า อัตราการรั่วไหลของก๊าซมีเทนเพียงจุดเดียวจากทั้งหมด 4 จุด อยู่ที่ 22,920 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ซึ่งเทียบเท่ากับการเผาไหม้ถ่านหินกว่า 2.8 แสนกิโลกรัมต่อชั่วโมง ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก โดยเฉพาะในช่วง 4 วันแรกหลังการพบรอยรั่ว