ปัญหาก๊าซในยุโรป & ฤดูหนาวที่กำลังมาถึง | กันต์ เอี่ยมอินทรา

ปัญหาก๊าซในยุโรป & ฤดูหนาวที่กำลังมาถึง | กันต์ เอี่ยมอินทรา

ขณะที่ไทยเรากำลังหวั่นวิตกกับมวลฝนและคาดการณ์ถึงน้ำท่วมจากพายุโนรู แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่ามากและทำให้คนยุโรปทุกคนอกสั่นขวัญแขวนคือหน้าหนาวที่กำลังจะมาถึง

ขณะนี้ยุโรปเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงที่อุณหภูมิเริ่มลดต่ำลงเข้าสู่หน้าหนาวที่แสนจะเยือกเย็น คนยุโรปทุกคนทราบดีว่าความเยือกเย็นของยุโรปนั้น ไม่เพียงแต่จะผลาญเงินในกระเป๋าอย่างมากจากค่าไฟค่าก๊าซเพื่อทำให้บ้านอุ่น ผู้รักประวัติศาสตร์ยุโรปทุกคนต่างก็ทราบดีกว่า ความเยือกเย็นของยุโรปนั้นไม่เพียงแต่เอาชนะฮิตเลอร์ เอาชนะสงครามโลกได้ แต่ยังสามารถล้มรัฐบาลหรือลัทธิระบอบการเมืองได้เช่นกัน

คนยุโรปต่างจากคนเอเชียตรงที่การประท้วงการโวยวายว่ากล่าวกดดันรัฐบาลนั้น จะรุนแรงมากกว่าการประท้วงทั่วไป ถ้ามีเรื่องปากท้องมาเกี่ยวข้อง อาทิ การขึ้นค่าสาธารณูปโภค การขึ้นค่าโดยสารรถสาธารณะ และหากไม่มองอย่างไร้เดียงสาทางการเมืองจนมากเกินไปนักก็สามารถพูดได้ว่า การสู้รบในยูเครนนั้นส่งผลโดยตรง ทำให้ราคาค่าพลังงานนั้นพุ่งสูงแตะระดับเป็นประวัติการณ์

ราคาก๊าซในยุโรปที่ผันผวนอย่างหนักเคลื่อนตัวอยู่ระหว่าง 100-200 ยูโรต่อเมกะวัตต์ตั้งแต่ก่อนเริ่มการสู้รบ และถึงจุดสูงสุดที่ 233 ยูโรต่อเมกะวัตต์ทันที ไม่กี่วันหลังจากรัสเซียเปิดการโจมตียูเครน จนกระทั่งปัจจุบันที่วิ่งอยู่ในระดับ 180-200 ยูโรและเคยไปแตะจุดสูงสุดที่เกือบ 360 ยูโรต่อเมกะวัตต์ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

เหตุผลทั้งหมดทั้งมวลที่ทำให้ราคาก๊าซผันผวนอย่างหนัก เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้านี้ก็เพราะยุโรปนั้น พึ่งพาก๊าซจากรัสเซียอย่างหนัก โดยรัสเซียนั้นส่งก๊าซขายให้ยุโรปถึง 40% ของก๊าซทั้งหมดที่รัสเซียทำการค้าขายและได้ลดอุปทาน (supply) ลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็มองว่า เพื่อเป็นการตอบโต้การคว่ำบาตรทางการค้าต่อรัสเซียอันเนื่องมาจากการสู้รบในยูเครน

ถูกต้องที่รัฐบาลหลายประเทศในยุโรปนั้นมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เยอรมนี ฝรั่งเศส แต่การช่วยเหลือเหล่านั้นก็เทียบไม่ได้เลยกับพายุปัญหาที่กำลังจะเพิ่มขึ้นเมื่อฤดูหนาวมาถึง เพราะก๊าซที่ส่งผ่านท่อจากรัสเซียนั้นมีราคาถูกเมื่อเทียบกับก๊าซจากแหล่งอื่นๆ หรือจากพลังงานทดแทนอื่นๆ ดังนั้น การลดอุปทานการส่งก๊าซจากรัสเซียจึงทำให้ราคาก๊าซนั้นผันผวนอย่างหนัก

เยอรมนีเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักที่สุดเพราะไม่เพียงเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป แต่ยังพึ่งพิงก๊าซจากรัสเซียอย่างหนัก โดยประมาณ 56 ล้านลูกบาศก์เมตรในปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับอิตาลีที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของภาคพื้นยุโรป (รองจากเยอรมนีและฝรั่งเศส) ก็พึ่งพาก๊าซจากรัสเซียถึง 29 ล้านลูกบาศก์เมตร

เยอรมนีและอิตาลีถือเป็นประเทศที่นำเข้าก๊าซจากรัสเซียมากที่สุด ขณะที่ฝรั่งเศสซึ่งถือเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจอันดับ 2 ของยุโรป กลับพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียที่ 11 ล้านลูกบาศก์เมตร ในระดับที่ใกล้เคียงกันกับอีกหลายประเทศ อาทิ เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ฮังการี การพึ่งพิงก๊าซจากรัสเซียจากประเทศเหล่านี้ถึงแม้จะดูไม่มากเท่าเยอรมนี แต่ก็มากพอที่จะถูกสั่นคลอนด้วยตามกลไกของตลาดเสรี

รัฐบาลเยอรมนีจำต้องทุ่มเงินมหาศาลกว่า 8,500 ล้านยูโรเพื่ออุ้มบริษัท Uniper บริษัทจัดการพลังงานในยุโรปซึ่งทำหน้าที่กระจายก๊าซที่รับต่อมาจาก Fortum บริษัทแม่ซึ่งเป็นบริษัทที่นำเข้าก๊าซรัสเซียอันดับ 1 ของเยอรมนี โดยเงิน 8,500 ล้านยูโรนี้แบ่งออกเป็นสองส่วน 500 ล้านเพื่อซื้อบริษัทมาเป็นของรัฐ ขณะที่อีก 8,000 ล้านยูโรถูกอัดฉีดเพื่อเพิ่มสภาพคล่องหลังจากที่บริษัทขาดทุนอย่างหนักหลายพันล้านยูโรจากวิกฤติที่ผ่านมา

อนาคตคือความไม่แน่นอน เช่นเดียวกับการสู้รบในยูเครนและราคาก๊าซที่ผันผวนอย่างหนัก แต่สิ่งที่แน่นอน คือ หน้าหนาวที่กำลังจะมาถึงยุโรปในไม่อีกกี่สัปดาห์นี้