พระราชปณิธานรักษ์โลก 'ควีนเอลิซาเบธที่2' กับภารกิจ COP26 คาร์บอนศูนย์

พระราชปณิธานรักษ์โลก 'ควีนเอลิซาเบธที่2' กับภารกิจ COP26 คาร์บอนศูนย์

พระราชปณิธานรักษ์โลก 'ควีนเอลิซาเบธที่2' กับภารกิจ COP26 คาร์บอนศูนย์เปอร์เซนต์ ขณะที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 1 องศาเซลเซียส

ในช่วงชีวิตและรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ทรงครองราชย์ในสหราชอาณาจักรยาวนานที่สุด ได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลายด้าน โดยได้มีการบันทึกไว้ว่า นับตั้งแต่พระองค์ประสูติในปี 1926 พบความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศอยู่ที่ 306 ppm กระทั่งพระองค์เสด็จสวรรคต ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 418 ppm สะท้อนนัยสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมของสหราชอาณาจักร

ขณะที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 1 องศาเซลเซียสเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังรัชกาลของพระองค์ทรงครองราชย์เป็นเวลา 70 ปี ซึ่งทางวิทยาศาสตร์เห็นพ้องเกี่ยวกับสาเหตุการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ

แม้ว่า ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ  ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ควีนเอลิซาเบธที่2 ไม่ได้เดินทางเข้าร่วมด้วยพระองค์เอง แต่พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับแนวทางจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และให้ความสำคัญกับการรักษาสภาพแวดล้อมให้ยั่งยืน มาตลอดรัชสมัย

หนึ่งในตัวอย่างที่สำคัญ นับตั้งแต่ปี 1994 สมเด็จพระราชินีฯ ทรงใช้ระบบความร้อนและพลังงานร่วมในพระราชวัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของราชวงศ์อังกฤษ ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่สิ้นเปลือง และหันไปพึ่งพาการใช้พลังงานสมาร์ตกริดของประเทศ นี่เป็นเพียงสิ่งเล็กๆที่ทรงเริ่มลงมือทำจนเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน หวังเป็นส่วนหนึ่งของการรักษ์โลก
 

ขณะที่ในช่วงเวลาที่สหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพจัดประชุม COP26 เมื่อปีที่แล้วได้ยกให้เรื่องนี้เป็นวาระสำคัญของประเทศ ซึ่งรัฐบาลสหราชอาณาจักรได้มอบหมายให้ "เคน  โอฟลาเฮอร์ตี" ทูตพิเศษด้านการประชุม COP26 ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและเอเชียใต้ สร้างการมีส่วนร่วมกับรัฐบาล ธุรกิจ ชุมชนในประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตลอดจนมองหาแนวทางลดคาร์ศูนย์อย่างต่อเนื่อง ไม่เฉพาะในปีที่เป็นเจ้าภาพ COP เท่านั้น

ทูตเคน รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้พูดคุยและร่วมมือในประเด็นเกี่ยวข้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับรัฐบาลไทย และมองหาวิธีที่สามารถร่วมมือเพื่อช่วยจัดการกับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นความท้าทายใหญ่ที่สุดที่ทุกๆประเทศกำลังเผชิญในปัจจุบัน เพราะหากเราไม่ดำเนินมาตรการเพียงพอเพื่อจะจำกัดภาวะโลกร้อนไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ก็จะเกิดหายนะตามมากับระบบเศรษฐกิจ สังคม ธุรกิจทั่วโลก

"เอเชียเปรียบเหมือนบ้านที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ทั้งมีส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลก และตัดสินใจเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานที่มุ่งลดมลพิษ ซึ่งเป็นหมุดหมายใหม่ของทั่วโลก ถ้าเศรษฐกิจในเอเชียยังคงใช้พลังงานส่วนใหญ่จากถ่านหินจำนวนมาก ก็คงไม่มีทางที่จะจำกัดภาวะโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส แต่หากทำได้ จะเห็นเศรษฐกิจเติบโตยิ่งกว่าเดิม เพราะลดต้นทุนจากการใช้พลังงานได้มากขึ้นและอย่างยั่งยืน" ทูตเคน กล่าว 

ขณะนี้ ทั่วโลกเผชิญกับโรคระบาดใหญ่ และเหตุการณ์รัสเซียรุกรานยูเครนเป็นสิ่งชี้ชัดแล้วว่า รัฐบาลทั่วโลกกำลังรับมือกับสถานการณ์หลายด้านพร้อมๆกัน และประเด็นใหญ่อันดันต้นๆ ก็คือพลังงาน เพราะวันนี้ราคาน้ำมันและก๊าซสูงขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา 

สิ่งสำคัญเราต้องไม่มองข้ามวิกฤติสภาพภูมิอากาศไปพร้อม ๆ กับจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ และแน่นอน ในการรับมือกับวิกฤติด้านพลังงาน การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนเป็นวิธีหนึ่งในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานสำหรับอนาคตที่ยั่งยืน

ข่าวดีก็คือพลังงานหมุนเวียนมีราคาถูกลงและใช้แทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นสหราชอาณาจักรจึงมีความกระตือรือร้นอย่างยิ่งที่จะช่วยเหลือพันธมิตร เช่น ประเทศไทยเปลี่ยนไปสู่พลังงานสะอาด ราคาถูก และพลังงานหมุนเวียน

ในระหว่างการเยือนประเทศไทย "ผมดีใจที่ได้ยินเกี่ยวกับแผนขยายการใช้พลังงานทดแทนในประเทศไทยให้มากขึ้น สหราชอาณาจักรต้องการทำงานร่วมกับพันธมิตรระหว่างประเทศ ในการระดมการลงทุนในภาคพลังงาน และสหราชอาณาจักรอยากช่วยไทยจัดการผลที่ตามมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอดีต เช่น โครงการปลูกข้าวที่มองหาวิธีลดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งได้เริ่มต้นทำได้ระยะหนึ่งแล้ว ขณะเดียวกันยังเพิ่มผลกำไรให้กับเกษตรกรด้วยการใช้การเกษตรที่ทันสมัยมากขึ้น"

นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรยังทำงานร่วมกับธุรกิจภาคการเงินของไทย ในการมองหาวิธีที่ธนาคารและบริษัทอื่นๆ สามารถช่วยบริษัทไทยในการปรับตัวเข้ากับเศรษฐกิจยุคใหม่ได้

สิ่งที่จะได้เห็นในทศวรรษหน้าคือ เทคโนโลยีและธุรกิจสีเขียวจะเติบโตอย่างมาก บริษัทต่างๆ จะลงทุนในภาคพลังงานหมุนเวียนและอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อสร้างกรีนอีโคโนมีให้ขยายครอบคลุมยิ่งขึ้น ดังนั้นสหราชอาณาจักรจึงอยากให้ประเทศไทยคว้าโอกาสนี้ เช่นเดียวกับที่ผมเห็นภาคส่วนต่างๆ เติบโตอย่างมาก ในประเทศต่างๆ ทั่วอาเซียน