จับตาทางโค้งการเมืองจีน | อาร์ม ตั้งนิรันดร 

จับตาทางโค้งการเมืองจีน | อาร์ม ตั้งนิรันดร 

พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้กำหนดช่วงประชุมใหญ่สมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่ของพรรคในรอบ 5 ปี เพื่อต่ออายุให้ “สีจิ้นผิง” เป็นผู้นำต่อไป โดยจะเริ่มต้นการประชุมในวันที่ 16 ต.ค.นี้

นับว่าวันประชุมเริ่มเร็วกว่าที่คาด เพราะแต่เดิมคาดหมายว่าการประชุมอาจเริ่มช่วงสิ้นเดือน ต.ค.หรือต้นเดือน พ.ย.หลายคนบอกยิ่งเร็วยิ่งดี เพราะตอนนี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและสัญญาณที่สับสนเกี่ยวกับการเมืองและนโยบายของจีน

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า นโยบาย Zero Covid ของจีนนั้นยังจำเป็นต้องดำเนินไปอย่างเคร่งครัดในตอนนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกอย่างจะสงบเรียบร้อย เพื่อปูทางให้สีจิ้นผิงต่ออำนาจได้อย่างราบรื่น

หลายคนมองว่าจีนน่าจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการได้ภายหลังการประชุม แต่ก็ไม่มีใครกล้าฟันธง ทุกคนจึงติดตามอย่างใกล้ชิดว่าในการประชุมจะประกาศทิศทางนโยบายในเรื่องโควิดนี้หรือไม่ อย่างไร

เช่นเดียวกับเรื่องเศรษฐกิจ แม้ว่าในปีนี้เราจะเห็นการถอยของรัฐบาลจีนในเรื่องการกำกับเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น การพูดเรื่อง “ความรุ่งเรืองร่วมกัน” (Common Prosperity) น้อยลง รวมทั้งการผ่อนคลายนโยบายจัดการภาคเทคโนโลยีและภาคอสังหาริมทรัพย์

ล่าสุดนายกฯ จีนก็ออกมาย้ำว่าจีนจะยังสนับสนุนเอกชนต่อไป แต่ก็ไม่มีใครมั่นใจ บางคนบอกว่าเป็นการพยายามแสดงความหวังสุดท้ายก่อนหมดวาระของนายกฯ “หลี่เค่อเฉียง” ทุกคนจึงจับตาว่าในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จะประกาศทิศทางเรื่องเศรษฐกิจอย่างไร

จับตาทางโค้งการเมืองจีน | อาร์ม ตั้งนิรันดร 

พูดง่ายๆ ก็คือ การเมืองจีนกำลังเข้าสู่ทางโค้ง แต่ไม่มีใครรู้จริงๆ ว่าจะโค้งไปทางไหน สีจิ้นผิงจะประกาศเดินหน้าเส้นทางของเขาแบบไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม ทั้งในเรื่อง Zero Covid และ Common Prosperity

หรือจะมีแรงเสียดทานหรือความไม่พอใจมากพอที่กดดันเขา จนต้องยอมกลับลำเปลี่ยนทิศทางมาผ่อนคลายมาตรการโควิดและหันกลับมาให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจและภาคเอกชน

“ช่ายเซี่ย” อดีตอาจารย์ประจำหน่วยฝึกอบรมของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ตอนนี้ลี้ภัยการเมืองอยู่ที่สหรัฐ เนื่องจากวิพากษ์วิจารณ์สีจิ้นผิงอย่างหนัก เพิ่งเขียนบทความลงนิตยสาร Foreign Affairs ของสหรัฐ ว่า แม้กระทั่งความแน่นอนว่าสีจิ้นผิงจะได้ไปต่อก็ไม่ได้แน่นอนร้อยเปอร์เซนต์ 

เพราะตอนนี้สีจิ้นผิงเองก็เจอแรงต้านจากทั้งสามทาง ฝ่ายอนุรักษ์นิยมคิดว่าสีจิ้นผิงยังอนุรักษ์นิยมไม่เข้มข้นพอ ฝ่ายกลางคิดว่าสีจิ้นผิงอนุรักษ์นิยมและรวบอำนาจมากเกินไปแล้ว ส่วนฝ่ายเสรีนิยมนั้นแน่นอนว่าไม่พอใจสีจิ้นผิงสูงมาก

แต่ช่ายเซี่ยเองก็ยังยอมรับในบทความว่า โอกาสที่สีจิ้นผิงจะได้ไปต่อนั้นยังสูงมาก เพราะทุกคนเกรงกลัวสีจิ้นผิงจากนโยบายการปราบคอร์รัปชันที่เคร่งครัด ส่งผลให้ทุกคนอยู่ในแถว

แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี คนไม่พอใจนโยบาย Zero Covid มากยิ่งขึ้น ก็เป็นแรงกดดันให้สีจิ้นผิงอาจต้องทบทวนทิศทางเหมือนกัน เพราะในเมืองจีนนั้น ผลงานก็ยังคงมีความสำคัญอยู่ ไม่ใช่เพียงอำนาจเท่านั้น

จับตาทางโค้งการเมืองจีน | อาร์ม ตั้งนิรันดร 

การประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์กลางเดือน ต.ค.จึงสำคัญยิ่ง เพราะเป็นการสะท้อนทิศทางนโยบายของจีนว่าจะไปต่อไม่เปลี่ยนไม่ปรับ จะเน้นความมั่นคงมาก่อนเศรษฐกิจต่อไป หรือจะเลี้ยวโค้งหันกลับมาสนับสนุนเศรษฐกิจ ภาคเอกชน และผ่อนคลายมาตรการโควิด หรืออาจจะออกกลางๆ ก็ได้

คือเน้นทั้งเรื่องความมั่นคง แต่ก็ยอมรับว่าจะต้องให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจและการปรับตามสถานการณ์ด้วย สามทางนี้จะออกทางไหน ย่อมสำคัญไม่เฉพาะต่อจีน แต่ต่อโลกด้วย

ทิศทางจะออกมาอย่างไร ส่วนหนึ่งสะท้อนว่าสีจิ้นผิงเปลี่ยนความคิดไหม และส่วนหนึ่งก็อาจสะท้อนพลังอำนาจหรือสมดุลอำนาจในพรรคด้วย ดังนั้น ถึงแม้ว่าสีจิ้นผิงจะได้ไปต่อ หลายคนก็ยังคงจับตาเรื่องการแต่งตั้งกลุ่มผู้นำพรรคอย่างน้อย 3 เรื่องด้วยกัน

1.ใครจะมาแทนที่นายกฯ หลี่เค่อเฉียง เพราะเมื่อ 5 ปี ที่แล้วที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่ออายุให้สีจิ้นผิงในฐานะเบอร์ 1 คือประธานาธิบดี แต่เบอร์ 2 คือนายกฯ ยังคงมีวาระการดำรงตำแหน่งที่ 10 ปี เช่นเดิม ซึ่งหลี่เค่อเฉียงครบกำหนดต้องเกษียณอายุแล้ว

นายกฯ จะเป็นลูกหม้อและพรรคพวกเดียวกับสีจิ้นผิงหรือไม่ หรือจะมาจากกลุ่มการเมืองอื่นภายในพรรค และนายกฯ จะมีประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจและการบริหารมากน้อยเพียงใด

จับตาทางโค้งการเมืองจีน | อาร์ม ตั้งนิรันดร 

ตัวเต็งนายกฯ ตอนนี้คือ “หูชุนหัว” ซึ่งเคยบริหารมณฑลเศรษฐกิจสำคัญอย่างกว่างต่งและมาจากอีกกลุ่มการเมืองหนึ่งภายในพรรค แต่ก็เพราะเขามาจากอีกกลุ่มการเมืองในพรรค ทำให้นักวิเคราะห์บางคนก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะไปถึงฝั่งฝันหรือไม่ หรือสีจิ้นผิงจะสามารถตั้งคนสนิทของตัวเองเข้าไปในตำแหน่งเบอร์ 2 ได้ ซึ่งก็จะสะท้อนว่าสีจิ้นผิงรวบอำนาจได้สูงมาก

2.ในบรรดาคณะกรรมการสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จำนวน 7 คน จะมีคนเดิมเกษียณอายุกี่คน (สีจิ้นผิงไม่ยอมเกษียณ แล้วคนอื่นต้องเกษียณด้วยไหม) และคนที่จะตั้งเข้ามาใหม่จะเป็นพรรคพวกสีจิ้นผิงทั้งหมดหรือไม่ (เช่นเคยทำงานใกล้ชิดกับสีจิ้นผิงมาในอดีต

ดังที่ตอนนี้มีคำเรียกกลุ่มเจ้อเจียง ซึ่งหมายถึงคนที่เคยทำงานกับสีจิ้นผิง ตอนที่เขาบริหารมณฑลเจ้อเจียงและฝูเจี้ยน) หรือจะมีคนจากกลุ่มการเมืองอื่นขึ้นมาด้วย ซึ่งก็จะสะท้อนว่ายังคงมีสมดุลอำนาจภายในพรรคคอมมิวนิสต์อยู่ระดับหนึ่ง

3.จะมีการตั้งทายาททางการเมืองที่ชัดเจนหรือไม่ ในยุคอดีต การเมืองจีนจะมีการตั้งทายาททางการเมืองที่ชัดเจน คือคนที่อายุน้อยกว่าเพื่อนไปรุ่นหนึ่งที่เข้ามาเป็นกรรมการสูงสุดในพรรค

แต่เมื่อ 5 ปี ที่แล้ว สีจิ้นผิงไม่ได้ตั้งทายาททางการเมือง ซึ่งสะท้อนชัดเจนว่าเขาต้องการดำรงตำแหน่งต่อ แต่ตอนนี้ก็มีคำถามว่าเขาเพียงต้องการดำรงตำแหน่งต่อในวาระที่ 3 เท่านั้น หรือเขาต้องการจะครองตำแหน่งนี้ไปตลอดชีวิต

การเมืองจีนนั้นเป็นเหมือน “กล่องดำ” ก่อนที่ทีมผู้นำสูงสุดของจีนจะเดินเรียงแถวออกมาเปิดตัวต่อโลก เราแทบไม่รู้เลยว่าการแข่งขันภายในเป็นอย่างไร มีความแตกแยกหรือกดดันต่อสีจิ้นผิงมากน้อยเพียงใด

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทุกสายตาจะจับจ้องไปที่การประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์กลางเดือน ต.ค.และผลลัพธ์ของการประชุมว่าจะออกมาเช่นไร.

คอลัมน์ มองจีนมองไทย
ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา (Chinese Studies Center)
สถาบันเอเชียศึกษา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย