ปฏิทินสำคัญของจีนปี ค.ศ. 2022 | อาร์ม ตั้งนิรันดร

ปฏิทินสำคัญของจีนปี ค.ศ. 2022 | อาร์ม ตั้งนิรันดร

ในปีใหม่นี้ จีนมีปฏิทินสำคัญสองเรื่องคือ เดือนกุมภาพันธ์ จีนจะจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่ง และการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ในเดือนพฤศจิกายน จะมีการเลือกผู้นำสูงสุดชุดใหม่ของจีน

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว จะมีพิธีเปิดในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ช่วงของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ยังจะเป็นช่วงที่จีนเริ่มใช้หยวนดิจิทัลด้วย โดยนักกีฬาต่างชาติสามารถแลกสกุลเงินต่างประเทศเป็นหยวนดิจิทัล และใช้จับจ่ายใช้สอยในหมู่บ้านนักกีฬาและสนามแข่งขันต่างๆ
    การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเป็นเรื่องที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญสูงมาก เพราะโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงปักกิ่งเมื่อปี ค.ศ. 2008 ซึ่งจัดในสมัยของผู้นำรุ่นที่แล้ว เคยได้ชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของการผงาดขึ้นมาของจีนและการได้รับการยอมรับจากนานาชาติ โอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้จึงถือเป็นงานใหญ่และเป็นโอกาสแสดงความยิ่งใหญ่ของประเทศในยุคสีจิ้นผิง

แม้ว่าบรรยากาศการเมืองโลกและทัศนะต่อจีนตอนนี้จะเปลี่ยนไปมาก เริ่มตั้งแต่มีหลายประเทศประกาศบอยคอตทางการทูตพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย อังกฤษ นิวซีแลนด์ แคนาดา ด้วยเหตุผลการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียงของรัฐบาลจีน
    เวลาฟังข่าวว่ารัฐบาลต่างชาติบอยคอตโอลิมปิก ต้องเข้าใจครับว่าเป็นเพียงการบอยคอตทางการทูตในเชิงสัญลักษณ์ กล่าวคือจะไม่ส่งผู้แทนของรัฐบาลเข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขัน แต่ยังคงส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันอยู่ 
    มีหลายคนวิเคราะห์ว่าการแข่งขันโอลิมปิกเป็นสาเหตุสำคัญหนึ่งที่จีนยังยืนหยัดนโยบาย Zero Covid เพราะต้องการให้มหกรรมกีฬาจัดขึ้นอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่เกิดการระบาดทั้งในหมู่นักกีฬาและไม่เกิดการระบาดออกมายังกลุ่มประชาชน มาตรการการตรวจและควบคุมเรื่องโควิดของทางการจีนในการแข่งขันกีฬาครั้งนี้เข้มงวดยิ่งกว่ามาตรการที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่โตเกียวเมื่อปีที่แล้วเสียอีก
     จีนเพิ่งล็อคดาวน์เมืองซีอานและบางส่วนของเทียนจินเมื่อพบผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะเทียนจิน ซึ่งอยู่ใกล้ปักกิ่งมาก น่าจะสร้างความกังวลให้ทางการจีนพอสมควร

เนื่องจากเป็นเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนที่มีโอกาสลุกลามอย่างรวดเร็ว แถมการระบาดเกิดขึ้นช่วงใกล้พิธีเปิดการแข่งขันและใกล้ตรุษจีนที่จะมีการเคลื่อนย้ายผู้คนมหาศาล รัฐบาลจีนจึงใช้มาตรการเด็ดขาดในทั้งสองเมืองเพื่อตัดไฟแต่ต้นลม

มีหลายคนบอกว่า โอไมครอนที่หลบภูมิวัคซีนได้เป็นเหมือนบูสเตอร์ให้กับฝั่งหมอที่ยืนยันนโยบาย Zero Covid ของจีน จากเดิมที่ช่วงปลายปีที่แล้วเริ่มมีดีเบตในจีนว่าจีนควรจะเริ่มผ่อนคลายและเปิดประเทศหรือไม่ภายหลังจากฉีดวัคซีนได้อย่างแพร่หลายในหมู่ประชากรจีน
    ตอนนี้ บางคนถึงกับประเมินว่า โอกาสที่จีนจะเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวหรือยอมส่งนักท่องเที่ยวออกมาในปีนี้ อาจต้องรอถึงหลังเดือนพฤศจิกายน ภายหลังการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เลยทีเดียว บางคนบอกว่าจีนอาจไม่ยอมผ่อนคลายตลอดปีเลยด้วยซ้ำครับ    
    จึงมาถึงปฏิทินที่สองที่สำคัญ นั่นก็คือ การประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเชื่อกันว่าจะเป็นการต่ออายุการเป็นผู้นำสูงสุดของสีจิ้นผิงไปอีก 5 ปี และยังจะมีการเลือกกรรมการสูงสุด 7 คน ชุดใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์
หลายคนมองว่า การประชุมสมัชชาที่จะถึงนี้ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าสีจิ้นผิงจะได้ไปต่อ จึงไม่น่ามีอะไรตื่นเต้นที่จะต้องติดตาม แต่จริงๆ แล้ว สำหรับผู้สนใจการเมืองและพัฒนาการของจีน มีสัญญาณหลายอย่างที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดครับ
    1. ใครจะเป็นว่าที่นายกฯ คนใหม่ของจีนแทนหลี่เค่อเฉียง (เพราะนายกฯ จีนยังคงมีวาระการดำรงตำแหน่งเต็มที่เพียง 10 ปี ซึ่งหลี่เค่อเฉียงกำลังจะครบวาระ) ในขณะเดียวกัน ในบรรดาผู้นำสูงสุด 7 คน ของพรรคคอมมิวนิสต์ ยังจะมีหลี่เค่อเฉียงอยู่ต่อหรือไม่ และถ้ามี หลี่เค่อเฉียงมีแนวโน้มจะเปลี่ยนจากนายกฯ ไปดำรงตำแหน่งอะไรแทน 
    2. ในบรรดาผู้นำพรรคสูงสุดทั้ง 7 คน จะเป็นพวกสีจิ้นผิงทั้งหมดหรือไม่ โดยดูจากว่าเป็นผู้นำที่ใกล้ชิดหรือเคยร่วมงานกับสีจิ้นผิงมาในอดีต ซึ่งจะสะท้อนว่าสีจิ้นผิงรวบอำนาจภายในพรรคได้อย่างเบ็ดเสร็จ หรือจะยังคงมีการรักษาสมดุลระหว่างขั้วการเมืองภายในพรรค ซึ่งจะสะท้อนว่ายังคงมีการแบ่งและคานอำนาจอยู่บ้างในการเมืองจีน
    3. มีคำถามว่า จะมีการวางทายาททางการเมืองรุ่นต่อไปที่ชัดเจนหรือไม่ ซึ่งจะดูได้จากการที่มีกรรมการที่อายุน้อยกว่าเพื่อนลงไป 5-10 ปี ในคณะกรรมการสูงสุด เท่ากับเป็นการวางตัวผู้นำสูงสุดรุ่นต่อไป ซึ่งถ้าไม่มี อาจสะท้อนว่าสีจิ้นผิงต้องการอยู่ยาวหรือต้องการอยู่ในตำแหน่งตลอดชีวิตเลยครับ.
คอลัมน์ : มองจีน มองไทย
ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร 
อาจารย์ด้านกฎหมายกับการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
อดีตผู้อำานวยการ ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน