เมื่อจีนยิงขีปนาวุธ ล้อมเกาะไต้หวัน! (3/3) | วิกรม กรมดิษฐ์

เมื่อจีนยิงขีปนาวุธ ล้อมเกาะไต้หวัน! (3/3) | วิกรม กรมดิษฐ์

หากเราลองมองไปข้างหน้า โอกาสที่จะเกิดสงครามขึ้นระหว่างจีนกับไต้หวัน ถือได้ว่าสถานการณ์ตอนนี้มีความเสี่ยงขั้นสูงสุด

เนื่องจากได้ถูกยกระดับขึ้นมาตั้งแต่ตอนที่นางแนนซี เพโลซี เดินทางมาเยือนไต้หวัน ซึ่งเป็นการยกระดับการเผชิญหน้า และเมื่อจีนปิดล้อมเกาะไต้หวันก็เปรียบเสมือนเป็นการซ้อมยึดไต้หวันไปในตัว ประกอบกับการซ้อมรบโดยใช้กระสุนจริงมีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดได้มากกว่าปกติ

ที่ผ่านมาเคยมีนักวิเคราะห์กล่าวไว้ว่า ไช่ อิงเหวิน อาจจะเดินซ้ำรอยเหมือนนางเซเลนสกี ในขณะที่นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ตึงเครียดที่ทวีความรุนแรง หลังจีนมีการซ้อมรบครั้งใหญ่รอบเกาะไต้หวัน เนื่องจากหวั่นสถานการณ์จะบานปลายเพราะเห็นถึงสัญญาณที่ไม่ดี

หากสงครามครั้งนี้เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมากมาย เนื่องจากโลกเพิ่งฟื้นจากวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้ระบบการคมนาคมทั่วโลกต้องหยุดชะงัก

รวมถึงสถานการณ์สงครามยูเครน-รัสเซียที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากเกิดสงครามจีน-ไต้หวันขึ้นมาอีก จึงไม่น่าจะเป็นผลดี

จากสถานการณ์ขณะนี้ จะเห็นได้ว่าจีนมีความเคลื่อนไหวอยู่ 3 ด้านหลัก คือ

1. จีนทำการซ้อมรบเสมือนจริงปิดล้อมเกาะไต้หวันไว้

2. จีนส่งนักบินบินข่มขวัญไต้หวันอย่างต่อเนื่อง โชว์ความได้เปรียบเรื่องกองกำลังที่มีมากกว่า

3. จีนส่งกองกำลังทหารบกตรึงบริเวณแนวชายแดนจีน-ไต้หวัน ทำให้มีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจอย่างชัดเจนเนื่องจากเรือบรรทุกสินค้า เครื่องบินโดยสาร ไม่กล้าที่จะเดินทางเข้ามาหรือผ่านเส้นทางดังกล่าว โดยไต้หวันเป็นแหล่งศูนย์รวมของท่าเรือจำนวนมาก

เมื่อจีนยิงขีปนาวุธ ล้อมเกาะไต้หวัน! (3/3) | วิกรม กรมดิษฐ์

นอกจากนี้ จีนยังใช้มาตรการทางด้านเศรษฐกิจคว่ำบาตรการค้า โดยสั่งงดนำเข้าสินค้าหลายชนิดจากไต้หวันรวมจำนวนมากกว่า 2,000 รายการ จากทั้งหมด 3,200 รายการ

ทั้งยังสั่งห้ามส่งออกทรายธรรมชาติไปยังไต้หวัน ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำแผ่นซิลิคอนสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ รวมทั้งแร่แรเอิร์ธหายากที่ใช้สำหรับผลิตแบตเตอรีของรถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย

เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น แน่นอนว่าส่งผลให้เศรษฐกิจมีปัญหาและอีกหนึ่งเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ เรื่องของการส่งเครื่องบินรบไปอยู่บนน่านฟ้าระหว่างไต้หวันกับจีน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดการสูญเสียหากเกิดเหตุการณ์พลาดพลั้ง ไต้หวันยิงเครื่องบินของจีน หรือหากมีเครื่องบินของอเมริกาบินผ่านและจีนเกิดการยิงเครื่องบินของอเมริกาขึ้น 

ถือว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามได้และมีโอกาสที่จะบานปลาย จนกระทั่งล่าสุดการที่เลขาธิการของสหประชาชาติ (UN) ต้องออกมาเตือนเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา

หากเราประเมินถึงสถานการณ์ในเรื่องของความมั่นคงทางด้านการเงิน อเมริกามีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 2 แสนกว่าล้านดอลลาร์ ในขณะที่จีนมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศรวมของฮ่องกง ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ประมาณเกือบ 4 ล้านล้านดอลลาร์

เมื่อจีนยิงขีปนาวุธ ล้อมเกาะไต้หวัน! (3/3) | วิกรม กรมดิษฐ์

หากเกิดการทำสงครามขึ้น ความมั่นคงทางด้านการเงินนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความเสียเปรียบและได้เปรียบกัน เพราะประเทศที่มีเงินทุนสำรองอยู่น้อยจะเสียเปรียบในการทำสงคราม

ส่วนที่ 2 เรื่องของหนี้สินที่อเมริกามีมากกว่าจีดีพีของตนเองมหาศาล คืออยู่ที่ประมาณ 30 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่อเมริกามีจีดีพี อยู่ที่ประมาณ 22-23 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อเปรียบเทียบกับจีนที่มีเงินสำรองอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้จีนมีความเข้มแข็งทางด้านการเงินประกอบกับหนี้สินของจีนมีอยู่ไม่ถึง 60% ของจีดีพี 

ที่สำคัญจีนยังทำเรื่อง One Belt One Road ทำให้มีธุรกิจการลงทุนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าจากการเปรียบเทียบความมั่นคงทางด้านการเงินแล้ว อเมริกายังคงมีความเสียเปรียบ หากจะมีการทำสงครามทั้งกับจีนและรัสเซีย

แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าคือไม่ใช่เพียงเฉพาะแค่ไต้หวันรบกับจีน หากสหรัฐอเมริกาเข้ายุ่งเกี่ยว ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตเรีย นิวซีเเลนด์ ก็จะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และจะกลายเป็นสงครามเอเชียในทะเลจีนใต้

ตรงนี้จะกลายเป็นสมรภูมิรบที่น่ากลัว อาเซียนรวมถึงไทยของเราก็จะหนีไม่พ้นผลกระทบจากสถานการณ์นี้เพราะอยู่ใกล้มาก

วันนี้ทั่วโลกกำลังเกิดความกังวลเรื่องของสงคราม และกำลังพยายามหาทางที่จะไม่ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น แน่นอนว่าสหประชาชาติทำอะไรมากไม่ได้ ซึ่งอาจจะต้องใช้วิธีการรับมือเช่นเดียวกับสถานการณ์ตอนปี 1961 ที่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต ที่เผชิญหน้ากันจนเกือบเกิดสงคราม 

13 วันที่มีการเผชิญหน้ากัน ต่างคนก็ไม่ยอมถอย จนกระทั่งมีการเปิดโต๊ะเจรจากันและท้ายที่สุดต่างคนต่างถอยคนละ 1 ก้าว กรณีนี้ก็เช่นเดียวกันอาจจะต้องมีการเจรจาทางการทูตระหว่างไต้หวันกับจีน

โดยการมีส่วนร่วมของหลายผู้นำประเทศทั้งจีน รัสเซีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตเรีย และ ตัวแทนจากสหภาพยุโรป เป็นต้น ที่ต้องมาเจรจากันบนโต๊ะเพื่อหาข้อยุติความขัดแย้ง ซึ่งมองว่าอาจจะยังไม่สายเกินไป 

ล่าสุดยังทราบว่าในประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่กรุงพนมเปญได้มีแถลงการณ์ออกมาว่า มีความเคารพในนโยบายจีนเดียว ขอให้ทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจ และหากเป็นไปได้อาเซียนพร้อมเป็นผู้ประสานในการเจรจา ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ทุกฝ่ายยื่นมือมาช่วยเหลือกัน

ทั้งนี้ การวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ เรื่องของสงครามในครั้งนี้ เพื่อให้ทุกคนได้เตรียมตัวที่ดี ได้ประหยัดการใช้จ่าย เตรียมความพร้อมจัดหาเรื่องของอาหาร พลังงานและสิ่งของจำเป็นที่ต้องใช้กับตัวเรา หรือธุรกิจของเราเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น หรือรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินในอนาคตได้.