ทำไมแนวคิด "กีดกันผู้หญิง" ยังฝังรากลึกใน "วงการแพทย์ญี่ปุ่น"

ทำไมแนวคิด "กีดกันผู้หญิง" ยังฝังรากลึกใน "วงการแพทย์ญี่ปุ่น"

ปมกีดกันผู้หญิงในวงการแพทย์ญี่ปุ่นอื้อฉาวอีกครั้ง หลังเมื่อไม่นานนี้ ศาลสั่งให้มหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวชดใช้เงินรวมกว่า 18 ล้านเยนให้แก่กลุ่มผู้เข้าสอบเพศหญิง ฐานแก้ผลคะแนนสอบเพื่อลดสัดส่วนนักศึกษาหญิงเมื่อปี 2561 แต่นี่...ไม่ใช่กรณีแรกและกรณีเดียวในญี่ปุ่น

ปิดฉากอีกหนึ่งคดีสุดอื้อฉาวในญี่ปุ่น หลังจากเมื่อวันศุกร์ (9 ก.ย.) ศาลแขวงโตเกียว มีคำสั่งให้ “มหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียว” จ่ายเงินชดเชยรวมประมาณ 18.26 ล้านเยน หรือกว่า 4.66 ล้านบาทให้แก่ผู้เข้าสอบเพศหญิง 27 คน โทษฐานกีดกันทางเพศด้วยการแก้ผลคะแนนสอบเพื่อลดสัดส่วนนักศึกษาหญิงที่สอบติด และไปเพิ่มสัดส่วนสอบติดให้นักศึกษาชายแทน ซึ่งเป็นเหตุการณ์เมื่อปี 2561

อย่างไรก็ตาม ค่าชดเชย ที่ศาลตัดสินล่าสุดยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับที่กลุ่มผู้เสียหายเรียกร้อง คำฟ้องที่ยื่นต่อศาลฯ ระบุว่า ฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นผู้หญิง 28 คน เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวจ่ายชดเชยรวม 152.33 ล้านเยน หรือเกือบ 39 ล้านบาท

สำหรับโจทก์อีก 1 คนที่ถูกปฏิเสธคำร้องเรียกค่าชดเชย ศาลฯระบุว่า ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเธอเข้าสอบจริงหรือไม่

ศาลแขวงโตเกียว ชี้ว่า การกระทำของมหาวิทยาลัยฯ “ไร้เหตุผลและเลือกปฏิบัติ” และยังละเมิดหลักการของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น มาตรา 14 ที่ห้ามการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานทางเพศด้วย

“มหาวิทยาลัยฯ บิดเบือนคะแนนสอบโดยเลือกปฏิบัติจากเพศของผู้สอบ ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงจากความพยายามหรือเจตจำนงของผู้นั้นได้ ถือเป็นวิธีที่ไม่ยุติธรรมและไม่เหมาะสม” เคียวโก ฮิรากิ หัวหน้าผู้พิพากษาศาลแขวงโตเกียวระบุในคำตัดสิน

นอกจากนี้ ผู้พิพากษาท่านนี้ยังเสริมว่า หากโจทก์ (ผู้เสียหาย) รู้ล่วงหน้าว่าจะมีการแก้ไขผลสอบ พวกเขาคงไม่สมัครเข้าสอบแต่แรก

ในปี 2561 มหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียว ยอมรับต่อสาธารณชนว่า มหาวิทยาลัยทำกดคะแนนผู้เข้าสอบเพศหญิงมาตั้งแต่ปี 2549 เป็นอย่างน้อย เพื่อรับมือกับกรณีสัดส่วนผู้หญิงสอบติดสูงกว่าผู้ชาย

  • อ้างเหตุหญิงทำงานไม่เต็มที่หลังแต่งงาน/มีลูก?

สื่อญี่ปุ่น ระบุว่า การกระทำที่ไม่เหมาะสมนี้ มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการขาดแคลนแพทย์ที่โรงพยาบาล ด้วยความเชื่อที่ว่าแพทย์ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะลาออกหรือลางานเป็นเวลานาน หลังจากแต่งงานหรือคลอดบุตรแล้ว และแพทย์ผู้ชายสนับสนุนงานของโรงพยาบาลมากกว่า ทำให้คดีของมหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวเป็นเพียง “ปลายยอดภูเขาน้ำแข็ง” ในสังคมญี่ปุ่น

“นอกจากนี้ โดยทั่วไป ผู้สมัครหญิงก็มักทำคะแนนได้ดีกว่า เราจึงไม่สามารถเลี่ยงผู้หญิงสอบเข้าได้มากกว่าผู้ชายหากดำเนินการตามระบบปกติ” แหล่งข่าวเผยกับโยมิอุริ ชิมบุน อ้างถึงกรณีอื้อฉาวของมหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวในปี 2561

รายงานระบุว่า ในปี 2553 ผู้สอบเข้าเป็นผู้หญิงราว 40% แต่เมื่อมหาวิทยาลัยหันไปใช้ระบบโกง สัดส่วนลดลงเหลือเพียง 30% และในปี 2561 ก็ลดลงอีก โดยผู้สมัครผู้หญิงที่เข้าสอบ มีสัดส่วน 39% และสอบเข้าได้เพียง 18% ในบรรดาผู้สอบเข้าได้ทั้งหมด 

  • ม.แพทย์โตเกียวไม่ใช่ที่แรกและที่เดียว

หลังเหตุอื้อฉาวที่มหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวถูกเปิดโปง รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำการสอบสวนมหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทย์ 81 แห่งทั่วประเทศ และพบว่า ยังมีอีก 9 แห่งที่ทำการแก้ไขคะแนนสอบด้วยวิธีคล้ายกัน นำไปสู่การฟ้องร้องทางกฎหมายอีกหลายคดีโดยอดีตผู้เข้าสอบในสถาบันศึกษาเหล่านี้

เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลแขวงโตเกียวมีคำสั่งให้ มหาวิทยาลัยจุนเทนโด จ่ายเงินชดเชยผู้สอบเข้าเพศหญิง 13 คน รวมเป็นเงินประมาณ 8.05 ล้านเยน หรือราว 2.06 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นคดีแรกในญี่ปุ่นที่ศาลสั่งให้จ่ายชดเชย

เรื่องอื้อฉาวดังกล่าวแดงขึ้นเมื่อปี 2561 ซึ่งขณะนั้น มหาวิทยาลัยจุนเทนโดชี้แจงว่า มีการตัดคะแนนสอบเข้าคณะแพทย์ของนักเรียนหญิง เพื่อทำให้ช่องว่างระหว่างเพศของนักเรียนแคบลง โดยอ้างว่า นักเรียนหญิงมีทักษะการสื่อสารที่ดีกว่านักเรียนชาย จึงทำให้ได้เปรียบในการสอบสัมภาษณ์

ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยบางแห่งในญี่ปุ่นได้ออกแถลงการณ์ขอโทษอย่างเป็นทางการแล้ว เช่น มหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียว มหาวิทยาลัยคิตะซาโตะ (Kitasato University) รวมถึงมหาวิทยาลัยจุนเทนโด

---------

อ้างอิง: Japan Times, Asahi, BBC