สงครามความคิดในสหรัฐอเมริกา | ไสว บุญมา

สงครามความคิดในสหรัฐอเมริกา | ไสว บุญมา

สหรัฐทำสงครามความคิดมาเป็นเวลากว่า 240 ปี สหรัฐเป็นประเทศเกิดใหม่ในบริบทของวิวัฒนาการด้านการอยู่ร่วมกันของมนุษย์

ในพื้นที่อันเป็นขอบเขตของประเทศนี้ มีสงครามความคิดมาตั้งแต่ตอนก่อนประเทศจะถือกำเนิดเมื่อปี 2319 โดยเฉพาะในด้านการบริหารจัดการประเทศในแนวประชาธิปไตยโดยไม่มีกษัตริย์ และด้านการแยกกิจของรัฐกับการปฏิบัติของฝ่ายศาสนาออกจากกันแบบเด็ดขาด

สหรัฐสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วจนก้าวหน้ากว่าประเทศส่วนใหญ่ ทั้งที่มีสงครามความคิดทั้งเล็กและใหญ่แบบไม่ขาด สงครามขนาดใหญ่และสร้างความเสียหายร้ายแรงที่สุด

ได้แก่ เรื่องเกี่ยวเนื่องกับทาส ซึ่งแสดงออกมาในรูปของการรบกันระหว่างกองทัพของรัฐในแถบเหนือกับรัฐในแถบใต้ในช่วงปี 2404-2408

ในปัจจุบัน สหรัฐอยู่ท่ามกลางสงครามความคิดทั้งชนิดที่ประจักษ์อย่างแจ้งชัดและชนิดที่มองเห็นยาก บางชนิดกำลังสร้างความเสียหายหลายด้าน

ตัวอย่างของชนิดแรกที่แสดงออกมาอย่างแจ้งชัด ได้แก่ ระหว่างขั้วหัวตกขอบของผู้ที่อยู่ในพรรคแนวอนุรักษนิยมริพับลิกัน กับ ขั้วหัวตกขอบของผู้ที่อยู่ในพรรคแนวสังคมนิยมเดโมแครต

สงครามความคิดในสหรัฐอเมริกา | ไสว บุญมา

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อสองปีที่แล้ว ตัวแทนของพรรคริพับลิกันพ่ายแพ่ แต่จนกระทั่งวันนี้ พวกหัวตกขอบของพรรคนั้นนำโดยอดีตประธานาธิบดีที่พ่ายแพ้เองยังไม่ยอมรับผลของการเลือกตั้ง

จึงสร้างปัญหาถึงขั้นก่อจลาจลยังผลให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิต หากผลของการเลือกตั้งครั้งต่อไปไม่สมใจพวกเขา เป็นไปได้สูงว่าปัญหาจะร้ายแรงกว่าการก่อจลาจลเฉพาะภายในกรุงวอชิงตัน

ในทำนองเดียวกัน หากพรรคเดโมแครตพ่ายแพ้ พวกหัวตกขอบของพรรคนี้อาจก่อปัญหาเช่นเดียวกันก็ได้

ตัวอย่างของสงครามความคิด ซึ่งไม่แสดงออกมาให้เห็นเป็นที่ประจักษ์อย่างแจ้งชัด ได้แก่ การทำสนามหญ้ารอบบ้าน

หลังสงครามความคิดเรื่องทาสยุติเมื่อปี 2408 สหรัฐสามารถพัฒนาด้านการอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วได้ จากการใช้เทคโนโลยีที่เป็นฐานของการสร้างเครื่องจักรกล

ส่งผลให้ชาวอเมริกันโดยทั่วไปมีรายได้เหลือจากการใช้จ่ายเพื่อดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน พวกเขาเริ่มเคลื่อนย้ายเข้าไปอยู่ในหมู่บ้านแถบชานเมืองตามความฝันที่เรียกกันว่า American Dream ในหมู่บ้านเหล่านั้น บริเวณรอบบ้านแต่ละหลังมีพื้นที่ว่าง ซึ่งใช้สร้างสนามหญ้าอันราบเรียบและเขียวขจีขึ้นแทนที่ลานบ้านธรรมชาติที่อาจมีสวนครัวและเล้าไก่

การมีสนามหญ้ารอบบ้านแพร่ขยายออกไปแบบไฟลามทุ่งและไม่ถูกต่อต้าน จนเวลาผ่านไปราว 100 ปีเมื่อถึงยุคที่เยาวชนอเมริกันออกมาเคลื่อนไหว เพราะไม่เห็นด้วยกับความสูญเปล่าต่างๆ ในสังคม

เยาวชนเหล่านั้นมักเรียกกันว่า “ฮิปปี้” มาถึงตอนนี้ การต่อต้านเข้มขึ้นมาก

เนื่องจากตามข้อมูลของ นสพ.วอชิงตันโพสต์ สนามหญ้าทั้งหมดใช้พื้นที่รวมกันถึงราว 100 ล้านไร่ ซึ่งมากกว่าพื้นที่สำหรับใช้ปลูกพืชอาหารสำคัญๆ ในเขตชลประทานของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ข้าวข้าวโพด หรือถั่วเหลือง

ใช้น้ำถึงวันละประมาณ 3.4 หมื่นล้านลิตร ท่ามกลางภาวะขาดแคลนน้ำแสนสาหัสในหลายพื้นที่ ใช้สารเคมีจำนวนมากทั้งในรูปของปุ๋ยและยาฆ่าวัชพืชและแมลง พร้อมกับใช้ทรัพยากรแบบแทบสูญเปล่าอีกหลายอย่าง รวมทั้งแรงงานของเจ้าของบ้านและแรงงานรับจ้าง

สงครามความคิดในสหรัฐอเมริกา | ไสว บุญมา

ท่ามกลางภาวะดังกล่าว ชาวอเมริกันจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องการเปลี่ยนสนามหญ้าให้กลับไปสู่แบบอยู่กับธรรมชาติดังในสมัยก่อน แต่การเปลี่ยนทำได้ยากมาก

เนื่องจากโดยทั่วไปหมู่บ้านมีกฎระเบียบซึ่งผู้อยู่อาศัยต้องปฏิบัติตาม และชาวอเมริกันส่วนใหญ่ยังมองว่าสนามหญ้าเป็นองค์ประกอบสำคัญของการดำเนินชีวิตตามความฝันของตน

ยกเว้นในพื้นที่ซึ่งภาครัฐเริ่มมีมาตรการจูงใจให้ประชาชนยุติการทำสนามหญ้าเพื่อลดการใช้น้ำ มาตรการอาจเป็นจำพวกการห้ามใช้น้ำประปารดหญ้าเด็ดขาด พร้อมกับมีมาตรการลงโทษผู้ละเมิดอย่างหนัก หรือจำพวกสนับสนุนด้วยเงินทุนให้เปลี่ยนสนามหญ้าเป็นสนามตามธรรมชาติ

สงครามความคิดเรื่องสนามหญ้าน่าจะดำเนินต่อไปอีกนาน อย่างไรก็ดี สงครามนี้ต่างกับสงครามโดยทั่วไปในแง่ที่ไม่มีผลเสียหายร้ายแรงแฝงอยู่ หากฝ่ายต่อต้านการมีสนามหญ้าชนะ สหรัฐและชาวโลกจะลดการใช้น้ำและทรัพยากรลงได้อย่างมีนัยสำคัญ.